ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป


ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

 ที่มา:www.shwebizonline.com,http://cjicl.org.uk/2014/01/27/echr-reducing-genoc...

ปัญหาข้อพิพาททั่วๆไปที่เกิดขึ้นในสังคม การระงับข้อพิพาทก็มักจะเกิดขึ้นในศาลต่างๆเช่น ศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลปกครอง และศาลพิเศษ เป็นต้น แต่ถ้าหากปัญหานั้นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกละเมิดโดยรัฐหรือรัฐใดที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐเอง จึงมีความจำเป็นต้องระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีนั้นเพื่อให้เกิดสงบเรียบร้อย ซึ่งขั้นตอนในการระงับข้อพิพาทนั้นอาจจะตกลงยอมความกันเองได้ หากว่าตกลงกันไม่ได้จึงมีความเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นที่ยุติปัญหานั้น แต่เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายและเพื่อความสมัครใจในการยอมรับคำตัดสินของศาลโดยไม่รู้สึกว่ามีการเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด เหล่าประเทศในยุโรปจึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปขึ้น(European Court of Human Rights-ECHR)

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European of Human Rights-ECHR) ตั้งอยู่ที่เมืองสตราส์บูร์ก(Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นเมืองที่มีที่ตั้งอยู่ใจกลางยุโรป ก่อตั้งขึ้นตามหลักการในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ปี 1950 (The European Convention on Human Rights) เพื่อดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาของประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสภายุโรป ทั้ง 47 ประเทศที่ได้เข้าเป็นภาคีและรับหลักการของอนุสัญญาฯ ซึ่งจะมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รัฐสมาชิกไปทำละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ผู้พิพากษาและองค์คณะ
ผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนประกอบไปด้วยผู้พิพากษาจากแต่ละภาคีจำนวนเท่ากันกับจำนวนรัฐภาคีอนุสัญญาฯ มีทั้งสิ้น47 คน โดยมาจากการเลือกตั้งโดยคณะรัฐมนตรียุโรป มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 9 ปี สำหรับองค์คณะในการนั่งพิจารณานั้น ประกอบด้วยผู้พิพากษา 7 คน ส่วนที่ประชุมใหญ่ประกอบด้วยผู้พิพากษา 17 คน นอกจากนี้รัฐภาคีอาจจะเสนอรายนาม ผู้พิพากษาที่มีสัญชาติอื่นในนามของตนก็ได้

คู่ความในคดี สำหรับคู่ความในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้น ฝ่ายโจทก์คือ ปัจเจกชนที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคล หรือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติของรัฐสมาชิก เพียงแต่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในรัฐสมาชิกแห่งอนุสัญญาหากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถฟ้องรัฐสมาชิกนั้นๆเป็นจำเลยต่อศาลสิทธิมนุษยชนได้ นอกจากนี้ รัฐสมาชิกก็สามารถฟ้องรัฐสมาชิกได้เช่นกัน

หน้าที่เมื่อตกเป็นจำเลย

ในการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นรัฐสมาชิกที่ตกเป็นจำเลยในคดีมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือกับศาลในการให้ข้อมูลตลอดจนเอกสารต่างๆที่ศาลจำเป็นต้องใช้ประกอบการพิจารณาคดีหากรัฐสมาชิกไม่ให้ความร่วมมือก็จะถูกลงโทษ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ละเมิดพันธกรณีตามมาตรา 38 แห่งอนุสัญญา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐสมาชิกในอันที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ ECHR ตามที่จำเป็นในการพิจารณาคดี

การตัดสิน

การตัดสินของศาลจะใช้เกณฑ์ของการลงคะแนนเสียงข้างมากของจำนวนผู้พิพากษาที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีและจะมีเอกสิทธิในการเพิ่มเติมความคิดเห็นของตนลงไปต่างหากจากคำพิพากษาหรือรวมกันก็ได้

ถึงแม้ว่าคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปจะ “ไม่มีผลเหนือศาลภายใน” หรือ “ไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายใน” ก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันต่อรัฐคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล และแนวทางการพิจารณาคดียึดถือตามคำพิพากษาที่ได้พิพากษาไปแล้วเป็นหลัก(Case law) กล่าวคือ ทำให้รัฐคู่กรณีและประเทศสมาชิกได้ปรับกฎหมายภายในของตนให้สอดคล้องกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ซึ่งคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนั้น ได้เป็นที่ยอมรับว่ามีความชัดเจนแน่นอน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามได้ไม่เฉพาะเพียงแต่ในประเทศในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN Human Rights Committee) ก็ได้นำแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปไปปรับใช้ในการพิจารณาถึงพันธกรณีของรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติ ในกรณีที่มีการร้องเรียนโดยรัฐหรือเอกชนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

คดีที่น่าสนใจ คือ คดี SW v United Kingdom; CR v United Kingdom (ค.ศ. 1995)

ที่ผู้ร้องทั้งสองต้องคำพิพากษาในคดีข่มขืนกระทำชำเราและพยายามข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเองก่อนที่การสมรสจะสิ้นสุดลงตามกฎหมาย ผู้ร้องคัดค้านคำพิพากษาโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ข้อ 7 ที่กำหนดว่า “ห้ามมิให้พิพากษาลงโทษบุคคลใดในทางอาญาสำหรับการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดที่มิได้มีกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ” ขึ้นอ้างว่า ขณะที่ผู้ร้องได้กระทำความผิด กฎหมายยังไม่ได้บัญญัติให้การข่มขืนกระทำชำเราภรรยาตนเองเป็นความผิดอาญา

ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิด แต่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเห็นว่าบทบัญญัติตาม ข้อ 7 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงควรตีความและนำไปใช้ในลักษณะเป็นมาตรการป้องกัน ซึ่งการกระทำของผู้ร้องเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ร้องไม่สามารถอ้างความไม่มีอยู่ของความผิดตามข้อ 7 เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพื่อไม่ต้องรับการลงโทษ กรณีนี้จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องตามอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ข้อ 7

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนับว่าเป็นความสำเร็จแห่งกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคแม้ว่าในประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกจากการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศในอาเซียน ยังไม่ได้มีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนเช่นสหภาพยุโรป แต่อาเซียนนั้นก็มีหน่วยงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ซึ่งก็คือ องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า AICHR และอาจจะมีการพัฒนาเพื่อเป็นศาลสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนขึ้นในอนาคตต่อไป

อ้างอิง

1.ณัชชมล แสงเรือง,ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป VS เคท มิดเดิลตัน,:http://www.l3nr.org/posts/466240

2.รัชนีกร ลาภวณิชชา,เอกสารประกอบการบรรยายวิชา น.396 สิทธิมนุษยชน,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สืบค้นเมื่อ18 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568679เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท