คนต่างด้าวในประเทศไทย


คนต่างด้าวในประเทศไทย

การประกอบอาชีพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่บุคคลทุกคนได้รับการรับรองจากทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 23ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน หรือในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 43 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษา ความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน การผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนต่างด้าว[1]เข้ามาทำงานในประเทศไทย รัฐได้มีการจำกัดอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่างที่มีลักษณะที่อาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่ของรัฐ โดยชอบที่จะตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิไม่ให้คนต่างด้าวประกอบอาชีพบางอย่างได้แบ่งได้ดังนี้

1.กฎหมายที่มีบทบัญญัติกำหนดว่าอาชีพนั้นๆคนต่างด้าวไม่มีโอกาสทำได้ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการประกอบการประมงในเขตการประมงไทย

2.กฎหมายที่บัญญัติสงวนอาชีพบางอย่างไว้สำหรับคนไทย ได้แก่ การทำหรือการหล่อพระพุทธรูป การทำเครื่องเขิน การทำเครื่องถม การขับขี่จักรยานสามล้อรับจ้าง การขับขี่จักรยานยนต์สามล้อรับจ้าง การขับรถยนต์สาธารณะ การทำนา (เว้นแต่การปลูกข้าวในร่องสวน) การทำนาเกลือ การตัดผม การเรียงพิมพ์อักษรไทย การตัดผมสตรี การแต่งผมสตรี และการตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสตรี

3.กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ว่าอาชีพใดที่คนต่างด้าวทำไม่ได้ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

น้องดวงตา น้องดวงตาได้รับการบันทึกลงในทะเบียนราษฎรไทยประเภทนักเรียนนักศึกษาไร้สัญชาติในทะเบียนประวัติประเภท ทร. 38 ก ซึ่งตอนนี้น้องเป็นนักศึกษาในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่น้องดวงตายังคงไร้สัญชาติอยู่ แม้ว่าจะมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักดินแดน คือเกิดในประเทศเมียนมาร์ และตามหลักสืบสายโลหิต คือบุพการีของน้องเป็นคนเมียนมาร์ แต่ทางการเมียนมาร์ยังไม่ได้รับรองสิทธิในสัญชาติของน้องดวงตาแต่อย่างใด

น้องดวงตาเป็นคนเรียนดี แต่ไม่มีสัญชาติไทย ทำให้น้องอาจขาดโอกาสในการประกอบอาชีพบางอาชีพได้ ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดอาชีพต้องห้ามของคนต่างด้าวไว้ดังนี้7

“(๑) งานกรรมกร ยกเว้นงานกรรมกรในเรือประมงตาม (๒)งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตาม (๑) ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่น และคนต่างด้าวที่ได้รับการกำหนดสถานะให้เป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(๒) งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา งานควบคุมดูแลฟาร์ม หรืองานกรรมกรในเรือประมงทางทะเล

(๓) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น

(๔) งานแกะสลักไม้

(๕) งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ

(๖) งานขายของหน้าร้าน

(๗) งานขายทอดตลาด

(๘) งานควบคุม ตรวจสอบ หรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นงานตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว

(๙) งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย

(๑๐) งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

(๑๑) งานทอผ้าด้วยมือ

(๑๒) งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่

(๑๓) งานทำกระดาษสาด้วยมือ

(๑๔) งานทำเครื่องเขิน

(๑๕) งานทำเครื่องดนตรีไทย

(๑๖) งานทำเครื่องถม

(๑๗) งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก

(๑๘) งานทำเครื่องลงหิน

(๑๙) งานทำตุ๊กตาไทย

(๒๐) งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม

(๒๑) งานทำบาตร

(๒๒) งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ

(๒๓) งานทำพระพุทธรูป

(๒๔) งานทำมีด

(๒๕) งานทำร่มกระดาษหรือผ้า

(๒๖) งานทำรองเท้า

(๒๗) งานทำหมวก

(๒๘) งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

(๒๙) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ ไม่รวมงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ

(๓๐) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ

(๓๑) งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

(๓๒) งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

(๓๓) งานมวนบุหรี่ด้วยมือ

(๓๔) งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว

(๓๕) งานเร่ขายสินค้า

(๓๖) งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ

(๓๗) งานสาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ

(๓๘) งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ

(๓๙) งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้น

(ก) งานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการ

(ข) งานว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ ถ้ากฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย หรือเป็นกรณีที่ไม่ต้องขอบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นในราชอาณาจักรไทย”[2]

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีความรู้ความสามารถขนาดไหน ถ้าไม่ใช่คนสัญชาติไทย ก็จะไม่สามารถทำงานที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้เลย น้องดวงตาเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถทางภาษา เนื่องจากเรียนในคณะศิลปศาสตร์ น้องอาจได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นมัคคุเทศก์หรือเป็นผู้นำเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่น้องไม่สามารถเข้าไปประกอบอาชีพนี้ได้ เนื่องจากน้องเป็นคนต่างด้าว งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยวเป็นอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวอย่างน้องดวงตา ทำให้น้องดวงตาขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้น ประเทศไทยอาจต้องทบทวนอาชีพต้องห้ามที่สงวนไว้ให้เฉพาะคนไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คนต่างด้วได้มีโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้นมาบ้าง ไม่ได้จำกัดโอกาสการประกอบอาชีพให้เหลือเพียงไม่กี่อาชีพเท่านั้น


[1] http://www.l3nr.org/posts/465919

[2] http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/02/26/entry-2

หมายเลขบันทึก: 568613เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท