คนต่างด้าวในประเทศไทย


        จากกรณีศึกษาครอบครัวหม่องภา ครอบครัวหม่องภาประกอบด้วยสมาชิก 4 คน คือ พ่อหม่อง แม่ภา น้องดวงตาและน้องจุลจักร บุคคลทั้งหมดเกิดในประเทศเมียนมาร์ ต่อมามีความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์ จึงอพยพเข้ามาในประเทศไทยและทำงานในประเทศไทย โดยไม่มีเอกสารแสดงตน บุคคลทั้งสี่จึงเป็นครอบครัวข้ามชาติโดยแท้เมื่อเข้ามาในประเทศไทยจึงเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

        เมื่อไม่มีเอกสารแสดงตนจึงเป็นบุคคลไร้รัฐและไร้สัญชาติ เมื่อมาปรากฏตัวในประเทศไทย ประเทศไทยต้องรับรองสถานะบุคคลให้ตามข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย[1] ต่อมาครอบครัวหม่องภาได้ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทย แสดงว่าประเทศไทยได้ขจัดความไร้รัฐให้กับครอบครัวหม่องภาแล้ว

       ในส่วนของสัญชาติ ปรากฏว่าบุคคลทั้งสี่เกิดในประเทศเมียนมาร์ จึงไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องให้สัญชาติกับกับครอบครัวนี้ แต่ควรผลักดันให้พิสูจน์สัญชาติเพื่อที่จะได้มีสัญชาติหนึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 (1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง[2] ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าพ่อหม่องและแม่ภาได้รับการรับรองสัญชาติเมียนมาร์ ปัญหาความไร้สัญชาติของพ่อหม่องและแม่ภาจึงสิ้นสุดลง

       แต่ทางราชการเมียนมาร์ยังมิได้รับรองสัญชาติเมียนมาร์ให้กับน้องดวงตาและน้องจุลจักร เพราะกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานเมียนมาร์ยังไม่ครอบถึงผู้ติดตามแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามน้องดวงตาและน้องจุลจักรมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักดินแดนเพราะเกิดในประเทศเมียนมาร์และมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักสายโลหิตเพราะบิดามารดาเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ น้องดวงตาได้รับการบันทึกใน ท.ร.38 ก.จึงไม่เป็นคนไร้รัฐแต่ปัญหาความไร้สัญชาติของน้องดวงตาและน้องจุลจักรยังคงมีอยู่

       เมื่อครั้งครอบครัวหม่องภาเข้ามาในประเทศไทย บุคคลทั้งสี่เข้ามาโดยไม่มีเอกสารแสดงตนและมิได้มีสัญชาติไทย จึงเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต่อมาพ่อหม่องและแม่ภาไปขอรับใบอนุญาตทำงานทำงานตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว บุคคลทั้งสองจึงมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยมีสิทธิย้ายชื่อจาก ท.ร.38/1 ไปยังทะเบียนบ้านประเภทคนมีสิทธิอาศัยชั่วคราว ท.ร.13 ได้

        เมื่อบิดามารดามีสิทธิอาศัยบุตรทั้ง 2 คนก็มีสิทธิอาศัยตามบิดามารดาด้วย อีกทั้งเมื่อบิดามารดาพิสูจน์สัญชาติแล้วบุตรก็มีสิทธิเข้าเมืองตามบิดามารดา[3]

       การที่น้องดวงตายังเป็นคนไร้สัญชาติ แต่น้องดวงตากำลังจะจบการศึกษาและทำงานในประเทศไทย จึงพิจารณาประเด็นสิทธิในการทำงานของคนต่างด้าว

       ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 23 (1) ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและ เอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน[4]

       แม้ครอบครัวหม่องภาจะเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารแสดงตน คือเป็นคนไร้รัฐและไร้สัญชาติ อีกทั้งยังเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่บุคคลในครอบครัวหม่องภาก็มีสิทธิที่จะทำงานในประเทศไทยประเทศไทยจะปิดกั้นไม่ให้บุคคลเหล่านี้ทำงานไม่ได้ ตามความในข้อ 23 แห่งปฏิญญาฯ

       กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ข้อ 6 รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิในการทำงาน ซึ่งรวมถึงสิทธิของทุกคนในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยการซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี และจะดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมในการปกป้องสิทธินี้ [5]

       เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของกติกาดังกล่าวนี้ ประเทศไทยจึงต้องปฏิบัติตามกติกากับมนุษย์ทุกคน แม้ตอนแรกพ่อหม่อง แม่ภาไร้รัฐไร้สัญชาติแต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งก็ยังมีสิทธิที่จะทำงานได้ หรือเมื่อพ่อหม่องแม่ภาเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ มิได้มีสัญชาติไทยก็มีสิทธิในการทำงาน เมื่อน้องดวงตาเรียนจบและจะทำงานในประเทศไทยก็มีสิทธิแม้จะเป็นคนไร้สัญชาติ แสดงถึงประเทศไทยก็ต้องรับรองสิทธิในการทำงานให้กับบุคคลต่างด้าว

       พิจารณากฎหมายภายใน พระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 7 งานใดที่คนต่างด้าวอาจทำได้ในท้องที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทยและความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ จะกำหนดให้แตกต่างกันระหว่างคนต่างด้าวทั่วไปกับคนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ ก็ได้[6]

       พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 โดยมีกำหนดบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา เช่น งานกรรมกร งานกสิกรรม งานขายของหน้าร้าน งานทอผ้าด้วยมือ[7]

       แม้จะมีปฏิญญาฯและกติการะหว่างประเทศกำหนดให้สิทธิในการทำงานแก่มนุษย์ทุกคนแต่ก็มีกฎหมายภายในเป็นการจำกัดสิทธิในการทำงานของคนต่างด้าว แต่การจำกัดสิทธิดังกล่าวเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองคนสัญชาติไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศให้มีงานทำ ส่วนมากจะเป็นการที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของไทยจึงสงวนไว้ให้คนสัญชาติไทยทำโดยเฉพาะ เมื่อการจำกัดสิทธิมีเหตุผลดังกล่าวนี้ การจำกัดสิทธิในการทำงานของคนต่างด้าวสำหรับงานบางประเภทก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว


[1] กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

[2] กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

[3] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร.กรณีศึกษาครอบครัวหม่องภา(เอกสารประกอบการสอนวิชา น.396 กฎหมายสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา2556).เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2557

[4] กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

[5]กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/icescrt.pdf.วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

[6] ศูนย์ทนายความทั่วไทย.พระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551. [ออนไลน์]. http://www.thailandlawyercenter.com/?lay=show&ac=article&Id=538973742&Ntype=19.วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

[7] ศูนย์กลางพนักงานสอบสวนกฎหมาย.พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522. [ออนไลน์].http://www.sobsuan.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&p=5500&sid=5639cede4b6b66a0b6b4cee9d7b4d1f6.วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568526เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท