ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฏหมาย


   ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากความหมายในสารานุกรม 'ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์'หรือ Human dignity หมายถึงคุณค่าเฉพาะบางอย่างที่มนุษย์ทุกคนต่างเป็นเจ้าของ ซึ่งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ปี 1984 ก็พูดถึงคำคำนี้ โดยให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ที่จะต้องมีเหมือนเหมือนกัน เท่าเท่ากัน ไม่ใช่ใครมีมากกว่าใคร นั่นคือ หากเกิดมาร่วมเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้ว ย่อมต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยปริยาย เพราะเป็นคุณสมบัติพิเศษหรือสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดดังนั้น มนุษย์ทุกทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่แห่งหนตำบลใด ร่ำรวยหรือยากจน เป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือคนแก่ สมประกอบหรือพิการ ผิวจะสีขาว สีเหลือง น้ำตาล ดำ สวยหรือขี้เหร่ ฯลฯ ก็ต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งนั้น ในความหมายนี้ จึงเป็นความหมายในมิติของสิทธิและความเท่าเทียมที่มนุษย์ทุกคน ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี และให้ความสำคัญต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อมนุษย์ทุกคนต่างมีศักดิ์ศรี ก็ควรได้รับเกียรติ ได้รับการเคารพนับถือ ไม่ควรมีมนุษย์คนใดถูกกระทำอย่างต่ำต้อยด้อยคุณค่า หรือโดนดูถูกเหยียดหยาม หรือปฏิบัติเสมือนไม่ใช่มนุษย์ (เช่น ล่ามโซ่) เพราะเราต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน 

   ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550

  • มาตรา 4 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”
  • มาตรา 26 “การใช้อำนาจ โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
  • มาตรา 28 “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” 

ดังนั้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นคำที่อธิบายความหมายของสิทธิมนุษยชน ในแง่ของการให้คุณค่าแก่ความเป็นคนว่า คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่กำหนดสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ใครจะละเมิดไม่ได้ และไม่สามารถ่ายโอนให้แก่กันได้ สิทธินี้คือสิทธิในการมีชีวิตและมีความมั่นคงในการมีชีวิตอยู่ คนทุกคนที่เกิดมาบนโลกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมจึงต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ทรมานอย่างโหดร้าย หรือกระทำการใดๆ ที่ถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์

   กรณีศึกษาน้องนิค

   น้องนิค หรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2538 ที่ประเทศเมียนมาร์ โดยน้องนิคไม่มีหนังสือรับรองการเกิด หรือมีชื่อในทะเบียนประวัติใดๆ น้องนิคจึงเป็นบุคคลผู้ไร้รัฐโดยสิ้นเชิง น้องนิคเข้ามาในประเทศไทยเมื่ออายุประมาณ3-4ขวบซึ่งมาอาศัยอยู่กับป้าที่จังหวัดตรัง โดยมารดาของน้องนิคเป็นคนไทยลื้อไร้รัฐไร้สัญชาติ ในเวลาที่เดินทางเข้าประเทศไทย บิดามารดาและน้องนิคไม่มีหนังสือเดินทางหรือได้รับการตรวจลงตราใดๆทั้งสิ้น ทั้งสามคนจึงเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมา แต่อย่างไรก็ดีต้องถือว่าน้องนิคไม่มีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะในขณะที่เข้าเมืองมานั้น น้องนิคมีอายุเพียง 3-4 ขวบ จึงขาดเจตนาที่จะเข้าเมืองผิดกฎหมาย

น้องนิคได้อาศัยอยู่กับคุณป้า เมื่อถึงวัยที่ต้องได้รับการศึกษา น้องนิคก็ยังไม่มีเอกสารรับรองสถานะบุคคลใดๆ คุณป้าของน้องนิคเกรงว่า น้องจะไม่ได้รับการศึกษา จึงได้ใช้เอกสารของบุตรชายตนเพื่อให้น้องนิคเข้าเรียนในชื่อของบุตรชายตน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิทธิในการศึกษา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้มีบทบัญญัติที่รับรองถึงสิทธิในการศึกษา ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมี ดังที่ปรากฏใน ข้อ 26 ที่บัญญัติว่าทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสําหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม

นอกจากนั้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ก็มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิในการศึกษาเช่นเดียวกัน ดังที่ปรากฏในมาตรา 10 วรรค 1 ที่บัญญัติว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

จากบทบัญญัติทั้งสองแสดงให้เห็นว่า สิทธิในการศึกษานั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี โดยรัฐมีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องการศึกษาให้แก่บุคคลทุกคน รวมถึงน้องนิค ที่แม้จะไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคล ถือเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อน้องนิคเกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม น้องนิคควรที่จะได้รับสิทธิที่จะได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ ดังนั้นรัฐไทยจึงความเข้ามาจัดการให้น้องนิคสามรถเข้าถึงสิทธิในการศึกษา ตลอดจนเข้ามาจัดการขจัดปัญหาความไร้รัฐให้น้องนิคโดยเร็ว

   ที่มา เอกสารประกอบการสอนวิชา น.396 กฎหมายสิทธิมนุษยชน, กรณีศึกษาเด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำ, นางสาวพวงรัฐน์ ปฐมสิริรักษ์, วันที่5 พฤษภาคม 2557 หน้า 27

นิติ วณิชย์วรนันต์

5501681133 

หมายเลขบันทึก: 568523เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท