การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ


         สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในส่วนบุคคลและสิทธิในการอยู่ร่วมกันในสังคม สิทธิในความเป็นมนุษย์นั้น มีทั้งสิทธิตามกฎหมายและสิทธิที่มีอยู่โดยไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฎหมาย แต่เป็นสิทธิที่เกิดจากมาตรฐานเพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม

          กรณีศึกษา

                  -โรฮิงญา เป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่าที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงยา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงยาจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหา ชีวิตที่ดีกว่า

ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นต้นมา ประเทศพม่ามองว่าพวกโรฮิงญาไม่มีความจงรักภักดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวโรฮิงญาบางคนต้องการสร้างรัฐอิสระขึ้นทางอะรากันตอน เหนือ และผนวกเข้ากับปากีสถาน

พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมือง และในปี พ.ศ. 2491 กองทหารพม่าออกปฏิบัติการกวาดล้างพวกนี้ หมู่บ้านหลายร้อยแห่ง “ถูกเผาและคนหลายพันคนถูกฆ่า ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลอพยพหนีไปยังบริเวณที่เป็นปากีสถานในขณะนั้น” (Yunus 1995:3) และ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้าหน้าที่ทางการพม่าพยายามจะข่มขวัญและขับไล่ พวกโรฮิงญาในครั้งต่อ ๆ มาอีก ทำให้ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานและต่อด้วยบังคลาเทศระลอกแล้วระลอกเล่า

ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า

สาเหตุที่โรฮิงญาไม่สามารถอยู่ในประเทศของตนเองได้ และส่งกลับไปก็จะหนีออกมาอีก

ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่ยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในสัญชาติภายใต้กฎหมายพลเมืองพม่าปี 2525 พวกเขาอาศัยอยู่ในรัฐระไข่ห์ ตอนเหนือ ซึ่งยังคงต้องขออนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมเพื่อออกจากหมู่บ้าน เรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการค้าขายและแสวงหางานทำ นอกจากนั้นพวกเขามักจะถูกบังคับให้เป็นแรงงานอีกด้วย

ชาวมุสลิมโรฮิงยายังถูกจำกัดสิทธิพลเมืองอีกหลายประการ ได้แก่ ไม่มีอิสระในการเดินทาง การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดินและบังคับย้ายถิ่น การขัดขวางการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัยและอาหารไม่เพียงพอ การบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งมีข้อจำกัดในการสมรส ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาหลายพันคนอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคซับซ้อน

                   -น้องผักกาด หรือ ด.ญ.ผักกาด เกิดที่โรงพยาบาลเเม่สอดในปี พ.ศ. 2549 มีบุพการีเป็นคนเมียนม่าร์ น้องผักกาดมีความพิการมาตั้งเเต่กำเนิด คือ ศีรษะของน้องบวมเเละใหญ่มากซึ่งจากอาการดังกล่าวส่งผลให้น้องไม่สามารถพูดและเดินได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ซึ่งจากอาการป่วยดังกล่าวของน้องบุพการีจึงทอดทิ้งน้องไว้ที่โรงพยาบาลพบพระตั้งเเต่เกิดโดยไม่ได้มีการเเจ้งเกิดแต่อย่างใด และเนื่องจากไม่มีใครคิดว่าน้องจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ทางโรงพยาบาลจึงไม่มีการออกหนังสือรับรองการเกิด [1]ซึ่งตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 23 กำหนดให้สถานพยาบาลเป็นผู้ออกเพื่อเอาไว้เป็นหนังสือรับรองการเกิด

มาตรา 23 เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๑

ด้วยเหตุที่ได้กล่าวมาเเล้วข้างต้นจึงทำให้น้องผักกาดยังมิได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ทำให้น้องประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไร้ทั้งรัฐและไร้สัญชาติ ตลอดจนถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายเข้าเมืองของทุกรัฐบนโลก ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือ ปัจจุบันน้องยังคงมีชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาลพบพระ มีอายุประมาณ 8 ปีเเล้ว แต่น้องไร้สิทธิต่างๆที่น้องควรจะได้รับ ไร้สิทธิในหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 ทั้งที่น้องมีปัญหาสถานะบุคคล ดังนั้นการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของน้องอย่างชัดเจน

เมื่อพิจารณาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 6 ซึ่งมีหลักว่า ทุกๆคนมีสิทธิที่จะได้รับ การยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมาย ไม่ว่า ณ ที่ใดๆ จะเห็นได้ว่าน้องผัดกาดนั้นเกิดมาเเละอยู่รอดเป็นบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องของการพิสูจน์สถานะบุคคลของเด็กถูกทอดทิ้งนั้นจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

มาตรา 19 ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

ดังนั้นโดยหลักเเล้วผู้ที่มีหน้าที่จะต้องนำตัวน้องผักกาดไปส่งและเเจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามที่ระบุไว้ตามมาตรา 19 ก็คือ โรงพยาบาลพบพระ แต่เนื่องจากน้องผัดกาดมีความพิการเเต่กำเนิด ไม่ได้มีบุพการีเป็นคนสัญชาติไทยเเต่เกิดในประเทศไทยจึงต้องพิจารณาให้น้องผักกาดมีทะเบียนประวัติตามมาตรา 38 วรรค 2

มาตรา 38 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว [2]

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

นอกจากนี้ในกรณีของน้องผักกาดมีบุพการีเป็นชาวเมียนมาร์ ดังนั้นน้องจึงมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักสืบสายโลหิตอีกด้วย ทางรัฐไทยจึงควรประสานงานกับทางประเทศเมียนมาร์เพื่อช่วยแก้ปัญหาสถานะบุคคลที่เกิดขึ้นกับน้องผักกาด เพื่อที่น้องจะสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆตามสมควรที่น้องพึงจะได้รับต่อไป

ที่มา

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=390479

http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=com

หมายเลขบันทึก: 568516เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท