มนุษย์ข้ามชาติ


          มนุษย์ข้ามชาติ

          ที่มา:www.gotoknow.org


มนุษย์ที่ข้ามชาติ หมายถึง บุคคลที่มีการกระทำในลักษณะที่ข้ามชาติคือมีถิ่นที่อยู่หรือเคยอยู่อาศัยในประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่แล้วแต่ได้มีการข้ามหรือเคลื่อนย้ายมายังอีกประเทศหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม บุคคลเหล่านี้ได้แก่ นักท่องเที่ยว แรงงานข้ามชาติ นักลงทุนข้ามชาติ นักศึกษา และผู้หนีภัยความตาย เป็นต้น

โดยในบทบทความนี้จะกล่าวถึงในเรื่องของ "เด็กที่ข้ามชาติ" ซึ่งเด็กข้ามชาติเหล่านี้มีหลากหลายประเภท เพราะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน และเด็กเหล่านี้ก็พบกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในหลายๆเรื่อง

ประเภทของเด็กข้ามชาติในประเทศไทยมี 3 ประเภท คือ ประเภทแรกเป็นเด็กข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่ซึ่งเป็นคนข้ามชาติที่หลบหนีเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือตัวเด็กเองหลบหนีเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกลักพาตัวเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายประเภทที่สอง เป็นเด็กข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่เป็นคนข้ามชาติ ซึ่งเด็กเหล่านี้สมควรจะได้รับการขึ้นทะเบียนจากรัฐ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น โดยอาจเกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่ หรือการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้ไม่อาจเข้าถึงสิทธิได้ และถูกถือเป็นเด็กข้ามชาติ และประเภทสุดท้ายเป็นเด็กที่ข้ามชาติมาอย่างถูกกฎหมาย ตามหลักกฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศไทย

กรณีศึกษาน้องดนัย ยื่อบ๊อ เป็นบุคคลที่มีปัญหาไร้สัญชาติ โดยน้องดนัยเกิดเมื่อปีพ.ศ.2542 ที่โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมารดาของน้องดนัยคือนางหมี่ยึ่มเป็นชาวอาข่าดั้งเดิมซึ่งได้รับสัญชาติไทยปีพ.ศ.2552 ภายหลังที่น้องดนัยได้เกิดแล้วเพราะขณะนั้นนางหมี่ยึ่มยังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ขอสัญชาติไทย ส่วนบิดาของน้องดนัยคือนายอาบูนั้นมาจากประเทศเมียนมาร์โดยเป็นบุคคลที่มีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจึงทำให้ครอบครัวของน้องดนัยกลายเป็นครอบครัวที่ข้ามชาติ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่าน้องดนัยเป็นเด็กข้ามชาติประเภทที่สอง คือเป็นเด็กข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย จากพ่อแม่ที่เป็นคนข้ามชาติในขณะนั้นเพราะแม่ของน้องดนัยได้รับการพิสูจน์สัญชาติไทยภายหลังการเกิดของน้องดนัยทำให้น้องดนัยประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 ว่า ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง“รัฐต้องให้สัญชาติแก่บุคคลที่เกิดในดินแดนของตนโดยใช้หลักดินแดน โดยจะให้ตอนเกิดหรือให้ภายหลังการเกิดก็ได้ หากอยู่ภายในประเทศของตนหรือมีถิ่นที่อยู่สำคัญในรัฐนั้นๆ กล่าวคือ ถือเอาจุดเกาะเกี่ยวในเรื่องการพำนักหรือถิ่นที่อยู่เป็นจุดเกาะเกี่ยวสำคัญ”

หากรัฐมิได้มีการบันทึกข้อมูลของน้องดนัยในทะเบียนราษฎรว่าเป็นบุคคลที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย และมิได้รับการยอมรับโดยระบุในสูติบัตรว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย อาจทำให้น้องดนัยได้รับผลกระทบโดยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการเช่น สิทธิในการได้รับการศึกษาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล สิทธิในความเป็นพลเมือง หรือสิทธิทางการเมือง เป็นต้น

หลักพิจารณากรณีน้องดนัยนั้นเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยตามหลักการได้สัญชาติดังต่อไปนี้

1.หลักสืบสายโลหิตพิจารณาตามมาตรา๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งวางหลักว่า “บุคคลที่เกิดจากมารดาสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา” กล่าวคือ เมื่อมารดาของน้องดนัยได้รับการพิสูจน์จนสำเร็จในภายหลังว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดแล้ว ย่อมทำให้น้องดนัยได้รับสัญชาติไทยตามมารดาของตน

2. หลักดินแดน

พิจารณาตามมาตรา๗ (๒)แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งวางหลักว่า “บุคคลผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ยกเว้นบุคคลตาม มาตรา 7ทวิ วรรคหนึ่ง” กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจะพบว่าน้องดนัยนั้นเป็นบุคคลผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยทั้งยังมิได้เป็นบุคคลตามความแห่งมาตรา๗ทวิ วรรคหนึ่งที่วางหลักว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็น คนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย” ซึ่งจากการพิจารณาในหลักกฎหมาย ข้างต้นพบว่าน้องดนัยมิได้เกิดจากบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว เพราะมีเพียงบิดาเท่านั้นที่เป็นคนต่างด้าว ดังนั้นน้องดนัยจึงมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติไทย ไม่เช่นนั้นแล้วน้องจะต้องตกเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ คือไม่ได้รับการรับรองจากรัฐเจ้าของบุคคลใดๆเลย จึงตกเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมายในทุกประเทศบนโลกรวมถึงการไม่มีสิทธิได้สัญชาติ ก็ทำให้ ไม่มีสิทธิได้รับการดูแลจากรัฐนั้น ๆ ตามไปด้วย เช่น การรักษาพยาบาล การมีงานทำ หรือการประกันทางสังคมต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไร้รัฐ ถูกทอดทิ้งจากสังคม และถูกปล่อยให้อยู่อย่างตามมีตามเกิด

อ้างอิง

1.นางสาววรรณนิศา สกุลณี 53242421.ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ:http://sd-group1.blogspot.com/2013/01/53242421.htm...

2.ความหมายของมนุษย์ข้ามชาติและประเภทของเด็กข้ามชาติ:http://www.l3nr.org/posts/535656

3.พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ( ฉบับที่2 )พ.ศ.2535 : http://www.thaigeneralkonsulat.de/th/consular/nationality1.pdf

4.ปฎิญญาสากลวาด้วยสิทธิมนุษยชน

สืบค้นเมื่อ : 15 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568450เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท