ศาลสิทธิมนุษยชน


     จากการศึกษาวิชาสิทธิมนุษยชนมาตลอดภาคฤดูร้อนที่ผ่านมา สิ่งที่ได้รับจากในชั้นเรียนนอกจากจะได้ความรู้ทั้งทางด้านข้อกฎหมาย การนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แนวความคิดต่างๆต่อสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆที่เป็นต้นกำเนิดของปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนนั่นเอง แต่เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นเเล้ว สิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามมาเพื่่อที่จะแก้ไขหรือเรียกร้องสิทธิของตนหรือของบุคลอื่่นที่ถูกละเมิดให้ได้รับความเป็นธรรม การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการศึกษากฎหมายทุกประเภท

     เมื่อกล่าวถึงกระบวนการในคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว มีลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1.กระบวนคุ้มครองหรือกระบวนการยุติธรรมภายในศาล

2. กระบวนคุ้มครองหรือกระบวนการยุติธรรมภายนอกศาล

     ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงศาลที่มีความสำคัญและมีความโดดเด่นมากทางด้านสิทธิมนุษยชน คือ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

     ในอดีตที่ผ่านมาอย่างที่เข้าใจกันดีว่ามนุษย์เรายังไม่คำนึงและเห็นความสำคัญของเรื่องสิทธิเ สรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เห็นอยู่ทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะด้วยเหตุการณ์นองเลือดจากสงครามโลกหรือเหตุการณ์อื่นๆในประวัติศาสตร์อีกมากมาย ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนอาจะเรียกได้ว่า ไร้มนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากเราสังเกตและศึกษาประวัติศาสตร์ทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างละเอียดเเล้วนั้น จะพบว่าทั้งการเริ่มต้น การพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิทธิมนุษยชนล้วนเกิดขึ้นในทวีปยุโรปเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรและหน่วยงานต่างๆเข้ามาดูแลและปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนของด้านกระบวนการยุติธรรม ก็ได้มีหน่วยงานต่างๆขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ICJ หรือศาลโลก ทั้งนี้รวมถึง "ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป" ด้วย [1]

     ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European of Human Rights - ECHR) ตั้งอยู่ที่เมือง Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส ถูกจัดตั้งขึ้นโดย สภายุโรป (The Council of Europe) ซึ่่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสภายุโรป ทั้ง 47 ประเทศ ศาลสิทธิมนุษยฃนยุโรปก่อตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป 1950 (European Convention on Human Rights 1950) ข้อที่ 19 ซึ่งมีเนื้อความดังนี้

     ARTICLE 19 Establishment of the Court

To ensure the observance of the engagements undertaken by the High Contracting Parties in the Convention and the Protocols thereto, there shall be set up a European Court of Human Rights, hereinafter referred to as "the Court". It shall function on a permanent basis.

และประเทศสมาชิกทั้ง 47 ประเทศยอมรับเเละลงนามในอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด คือ อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms) [2]


ที่มา : http://www.l3nr.org/posts/535929

     ในการดำเนินกระบวนการทางยุติธรรมและการดำเนินการพิจารณาคดีในศาลสิทธิมนุยชนยุโรปนั้น รัฐภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญาหรือปัจเจกชนใดที่ได้มีการร้องเรียนว่าตนเป็นผู้เสียหายจากการละเมิดอนุสัญญาอาจจะเสนอคดีขึ้นสู่ศาลได้โดยตรง โดยร้องเรียนว่ามีการฝ่าฝืนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐภาคี ในสิทธิใดสิทธิหนึ่งที่ได้รับการรับรองเเละประกันในอนุสัญญา

     คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ในอนุสัญญาหรือพิธีสารมักจะใช้ถ้อยคำอย่างกว้างๆ และเป็นภาษากฎหมายที่มีความหมายเฉพาะ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเจรจาที่มีเหตุผลทางการเมืองนั่นเอง ดังนั้น การเข้าใจถึงความหมายและขอบเขตของสิทธิต่างๆ ที่ได้รับการประกันตามอนุสัญญาฯ เหล่านั้นจึงไม่เหมือนกัน และอาจทำให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแตกต่างกันได้ รัฐเองก็มักตีความให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในความหมายอย่างแคบและให้น้อยที่สุด ในทางกลับกันเอกชนหรือประชาคมกลับต้องการให้มีการตีความการคุ้มครองสิทธิให้มีความหมายอย่างกว้างให้มากที่สุด

     ดังนั้นศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป จึงมีความสำคัญอย่างมากในการพิจารณาบรรทัดฐานและเกณฑ์ทางกฎหมายร่วมกันระหว่างรัฐภาคีของรัฐสภาแห่งยุโรป คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนจึงอาจถือเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดขอบเขตการคุ้มครองสิทธิต่างๆให้มีความชัดเจนแน่นอนได้ ทั้งนี้แม้คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปจะ “ไม่มีผลเหนือศาลภายใน” หรือ “ไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายใน” ก็ตาม แต่ผลกระทบของคำพิพากษาที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้ประเทศสมาชิกได้ปรับกฎหมายภายในของตนให้สอดคล้องกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

     คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนั้น ได้เป็นที่ยอมรับว่ามีความชัดเจนแน่นอน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามได้ไม่เฉพาะเพียงแต่ในประเทศในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ก็ได้นำแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปไปปรับใช้ในการพิจารณาถึงพันธกรณีของรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติด้วยเช่นกัน

     เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จแห่งกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนก็ทำงานได้ผลในการบังคับใช้สิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน คำพิพากษาของศาลได้ซึมแทรกเข้าสู่ระบบกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก ก่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ อันยังประโยชน์แก่คนหรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบในสังคม รวมทั้งเป็นตัวอย่างบรรทัดฐานในการใช้ตีความสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ขององค์การต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติหรือองค์การในระดับภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

ที่มา : http://aichr.org/press-release/press-release-of-the-special-meeting-of-the-asean-intergovernmental-commission-on-human-rights-aichr-2013/attachment/aichr-special-meeting-1-resized/

     ซึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้เห็นตัวอย่างของระบบที่ดีจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมา เเละมีความพยายามในการจัดตั้งองค์กรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ทางด้านสิทธิมนุษยชนเช่นกัน นั่นก็คือ องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ AICHR) ในกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือกฎบัตรอาเซียน ข้อ 14 กำหนดว่า

“องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
1. โดยสอดคล้องกับความมุ่งประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ให้อาเซียนจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น
2. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนนี้ต้องดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ซึ่งจะกําหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน”
[3]

ซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นก็คือ AICHR นั่นเอง แต่เนื่องจาก AICHR เป็นองค์กรที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นจึงยังมีอำนาจต่างๆไม่ชัดเจนนัก ไม่สามารถบังคับให้ทำตาม หรือนั่งพิจารณาคดีได้เหมือนศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ส่วนหน้าที่หลักของ AICHR จะเน้นไปทางด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียนมากกว่าการทำหน้าที่เป็นศาล หรือผู้ดำเนินกระบวนการยุติธรรมดังเช่นศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป รวมทั้งไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนต่างๆเพื่อไปตัดสินแต่จะเป็นการรับไปเพื่อส่งต่อหรือประสานงานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากที่ได้กล่าวมาจะเห็นถึงความแตกต่างของ AICHR ซึ่งเป็นองค์กรที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่โดยมีเเรงบันดาลใจจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินงานต่างๆได้ดังเช่นศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศสมาชิกและรัฐบาลของประเทศสมาชิกต่างๆ ต้องมีการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาองค์กรดังกล่าวให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่สามารถทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเยี่ยวยาปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของสังคมอาเซียนไปสู่สังคมโลกต่อไป


นางสาวชนากานต์ เฉยทุม

เขียนเมื่อ : วันที่ 18 พฤษภาคม 2557


อ้างอิง

[1] รู้จักมั้ยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป. แหล่งที่มา : http://www.l3nr.org/posts/465646 18 พฤษภาคม 2557.

[2] ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป. แหล่งที่มา : http://www.l3nr.org/posts/535865?locale=en 18 พฤษภาคม 2557.

[3] กฎบัตรสมาคมแห่ง ประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.แหล่งที่มา : http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/asean/files/Charter_TH+EN.pdf 18 พฤษภาคม 2557.

หมายเลขบันทึก: 568409เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 03:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 03:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท