คิดนอกกรอบ


      ผมเคยฟังวิทยากรซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่ท่านหนึ่ง  เล่านิทานก่อนการบรรยาย  เรื่อง  การเรียนการสอน  ดังนี้ครับ
      อาจารย์ฟิสิกส์ท่านหนึ่ง  สอนเรื่องการใช้บารอมิเตอร์ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความกดดันของบรรยากาศ  และเพราะความกดดันของบรรยากาศแต่ละระดับความสูงแตกต่างกัน  เราจึงสามารถใช้ความกดดันของบรรยากาศมาคำนวณหาความสูงของตัวอาคารได้

      สอนจบ  อาจารย์ก็ทดสอบโดยตั้งคำถามว่า เราจะใช้บารอมิเตอร์วัดความสูงของอาคารเรียนได้อย่างไร ?
      นักเรียนเกือบทั้งชั้นตอบข้อสอบเหมือนกันหมด  เหมือนที่อาจารย์สอน  มีนักเรียนเพียงคนเดียวที่ตอบแตกต่าง  เขาตอบว่า ผมจะถือบารอมิเตอร์ขึ้นไปที่ระเบียงด้านบนอาคาร  ปล่อยบารอมิเตอร์ลงสู่พื้น  พร้อมกับกดนาฬิกาจับเวลา  เมื่อบารอมิเตอร์ตกถึงพื้นผมจะหยุดนาฬิกาจับเวลา  แล้วนำระยะเวลา  มาคำนวณหาค่าความสูงของอาคารเรียน
      อาจารย์โกรธมาก  สั่งให้ไปหาคำตอบมาใหม่  สองสัปดาห์ผ่านไป  นักเรียนกลับมาหาอาจารย์แล้วบอกว่าผมคิดวิธีหาคำตอบได้แล้วครับ  อาจารย์จึงให้นักเรียนอธิบาย  เขาอธิบายว่า ผมจะถือบารอมิเตอร์ไปที่สนามหน้าตึก  ปักบารอมิเตอร์ลงที่พื้นสนามหญ้า  นอนคว่ำลงที่พื้นแล้วเล็งยอดของปลายบารอมิเตอร์ให้สัมผัสกับยอดตึก  ผมจะคำนวณหาค่าความสูงได้จากสามเหลี่ยมที่เกิดขึ้น
      อาจารย์โกรธมากที่สุด  สั่งให้ไปหาคำตอบมาใหม่เป็นครั้งสุดท้าย  สามสัปดาห์ผ่านไป  นักเรียนกลับไปหาอาจารย์บอกว่ามีคำตอบใหม่แล้ว  อาจารย์ดีใจมาก  นักเรียนจึงอธิบายว่า ผมจะถือบารอมิเตอร์ขึ้นไปที่ระเบียงด้านบนอาคาร  ใช้เชือกมัดบารอมิเตอร์  ปล่อยบารอมิเตอร์ลงไปจนสัมผัสกับพื้นแล้วดึงเชือกกลับ  นำเชือกมาวัดความยาว  ผมก็จะได้ความสูงของตัวตึกครับ
      วิทยากรบอกว่า  นิทานเรื่องนี้ไม่มีข้อสรุปว่านักเรียนผู้นั้นสอบได้  หรือสอบตก
      ผมฟังนิทานเรื่องนี้แล้วชอบมาก  ผมไม่คิดว่านักเรียนคนนั้นจะตอบข้อสอบตามที่อาจารย์สอนไม่ได้  แต่เขาคิดคำตอบนอกกรอบครับ  นอกกรอบความรู้ที่อาจารย์สอนโดยใช้ความรู้ที่หลากหลายมาตอบ  ทั้งความรู้ด้านฟิสิกส์ (ที่แตกต่าง) เรขาคณิต  และคณิตศาสตร์     
      เหตุผลเพราะ อาจารย์ไม่ได้บอกให้ตอบวิธีวัดความสูงโดยใช้คุณสมบัติของบารอมิเตอร์  นักเรียนตอบผิด  หรือคำถามอาจารย์ไม่ถูกครับ ?
      ท่านอาจารย์ล่ะครับ  ท่านจะให้นักเรียนคนนั้นสอบได้  หรือสอบตกครับ  ท่านอาจารย์อยากได้ลูกศิษย์แบบนี้ไหมครับ  ผมอยากได้ครับ
      การคิดนอกกรอบเป็นหัวใจนักคิด (Systems Thinking) เป็นคุณสมบัติของผู้บริหาร  แต่ผู้บริหารที่ดีต้องคิดทั้งในกรอบและนอกกรอบ  คิด 360 องศา ครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5684เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2005 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมให้นักเรียนนั้นสอบได้ครับ

เคยมีคนเคยถามผมว่า คำตอบในข้อสอบของนักเรียนสองคนแตกต่างกัน ทำไมคะแนนใกล้เคียงกัน (ข้อสอบแบบอัตนัย) ผมตอบว่าผมไม่ได้เฉลยข้อสอบเอาไว้ ดังนั้นเมื่อตรวจข้อสอบแล้วหาที่ผิดไม่ได้ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย คือนักเรียนคนที่ตอบไม่จำเป็นต้องตอบเหมือนที่อาจารย์สอนครับ

ถ้าผมพบนักเรียนในนิทานของอาจารย์ผมจะถามว่า จะใช้ผึ้งวัดความสูงของอาคารเรียนได้อย่างไร ใครตอบได้ช่วยตอบที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท