HR-LLB-TU-2556-TPC-​​ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ศักดิ์ศรี คือ การยอมรับของบุคคลในสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ที่ได้รับการยอมรับของสังคมมนุษย์และเรื่องดังกล่าวต้องเป็นเรื่องดีงามเท่านั้นเรื่องไม่ดี ไม่ให้รวมเรื่องศักดิ์ศรี แม้ว่าพฤติกรรมที่บุคคลกระทำนั้น หรือต้องการกระทำนั้นๆ อาจจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ได้ถือว่าเป็นเรื่องดีงาม สมควรยกย่องและต้องถือปฏิบัติเพื่อเป็นมติขององค์การ การยอมรับขององค์กรต่างๆ นั้นด้วยก็ได้ สิทธิเสรีภาพหรืออำนาจและหน้าที่ก็ถือเป็นศักดิ์ศรีด้วยเช่นกัน

มนุษย์ คือ บุคคลทั่วไป ไม่เลือกว่าจะเป็นชนชาติใด เผ่า ศาสนา ผิวสี ภาษา และอื่นๆ ที่มีสภาพเป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนของสังคมตลอดจนองค์กร / องค์การ ที่อาศัยมติเป็นข้อปฏิบัติไปตามประสงค์ขององค์การ  องค์การก็ให้ถือเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นคำว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในรัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน [1]

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นแท้จริงแล้วเป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งคือสิทธิในชีวิตร่างกาย และเสรีภาพที่จะพัฒนาบุคคลิกภาพและศักยภาพของตนได้อย่างเต็มภูมิ โดยมนุษย์ทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกันไม่จำกัดเฉพาะสัญชาติหรือเขตแดนใดๆบนหลักการของความเสมอภาคเพราะเหตุว่ามนุษย์นั้นมีคุณสมบัติตอบสนองสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างเป็นนามธรรมได้ ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีจริงแท้ตามธรรมชาติไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่หรือสละทิ้งได้ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยมีกฎหมายที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองคุ้มครองไว้ให้ พร้อมๆกับการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อเป็นหลักประกันไว้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นจะไม่ถูกล่วงละเมิด [2]

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้กำหนดไว้ใน

  • รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550

มาตรา 4 “ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ”
มาตรา 26 “ การใช้อำนาจ โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและ
เสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ “
มาตรา 28 “ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และ
เสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน “ [3]

  • ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 (1) บัญญัติว่า

“ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสําหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม” [4]

  • พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 มาตรา10 วรรคหนึ่ง

“การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ” [5]

ตัวอย่างกรณีศึกษาของน้องนิก หรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำ ในเรื่องการรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อให้เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะสิทธิในการศึกษา

น้องนิก หรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำ อายุราว 19ปี ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย น้องนิกจึงเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง น้องนิกเข้ามาในประเทศไทยเมื่ออายุประมาณ3-4ขวบซึ่งมาอาศัยอยู่กับป้าที่จังหวัดตรัง มารดาของน้องนิกเป็นคนไทยลื้อไร้รัฐไร้สัญชาติ ในเวลาที่เดินทางเข้าประเทศไทย บิดามารดาและน้องนิกไม่มีหนังสือเดินทางหรือได้รับการตรวจลงตราใดๆทั้งสิ้น ทั้งสามคนจึงเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไม่สามารถดำเนินคดีกับน้องนิกได้ เนื่องจากน้องนิกยังไม่มีเจตนาในการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะขณะที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย น้องนิกอายุเพียง3-4 ปีเท่านั้น ได้แต่เพียงติดสอยห้อยตามพ่อแม่ ยังไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดแต่อย่างใด

เมื่อน้องนิกอาศัยอยู่ได้สักระยะหนึ่ง คุณป้าก็ได้นำน้องนิกเข้าโรงเรียน ในขณะนั้นคุณป้ากลัวว่าโรงเรียนจะไม่รับน้องนิกเข้าศึกษา จึงได้นำเอกสารประจำตัวของลูกชายของคุณป้ามาใช้แทน สุดท้ายน้องนิกก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียน

แต่แม้ว่าคุณป้าจะไม่ได้ใช้เอกสารของลูกชายของคุณป้าแสดงตัวเป็นน้องนิกในการเข้าศึกษา แม้ว่าน้องนิกจะไม่มีเอกสารแสดงตัวใดๆเลยก็ตาม น้องนิกผู้ซึ่งเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ยังมีสิทธิในการศึกษา อ้างอิงจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 (1) แม้ว่าเขาไม่มีรัฐ ไม่มีสัญชาติใดๆ เขาก็สามารถเข้าถึงสิทธิในการศึกษาได้ นอกจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกฎฆมายระหว่างประเทศแล้ว กฎหมายภายในประเทศก็ยังรับรองสิทธิในการศึกษาด้วยเช่นกันดังที่บัญญัติไว้ใน ม.10 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ผู้ทรงสิทธิตามพรบ.นี้เป็นบุคคล ใครก็ตามที่เป็นมนุษย์ก็ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามพรบ.นี้ ไม่ว่าจะมีรัฐมีสัญชาติหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าน้องนิกจะไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ผู้อำนวยการสถานศึกษาก็ต้องจัดให้น้องนิกได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยให้ครูจัดทำเอกสารแสดงตนให้ ถ้าผู้อำนวยการสถานศึกษาไม่ยอมรับน้องนิกเข้าศึกษา ผู้อำนวยการอาจถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ตามม.157 ประมวลกฎหมายอาญาได้

ดังนั้น คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะมีรัฐมีสัญชาติหรือไม่ก็ตาม เขาก็จะได้รับสิทธิในการศึกษา เพื่อให้เขาพัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การที่คนเข้าเมืองผิดกฎหมายจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น รัฐต้องรับรองสิทธิให้ เช่น สิทธิในการศึกษา สำหรับตัวน้องนิก ไม่ว่าจะมีรัฐมีสัญชาติหรือไม่ เขาก็ยังคงจะได้รับสิทธินี้ เพื่อให้เขาซึ่งเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและสังคมต่อไปได้

อ้างอิง

[1],[3] ความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์.  เข้าถึงได้จาก : http://www.ongkarn-leio.org/knonwlege.php (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557).

[2] นายสรวิศ วงศ์บุญสิน. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืออะไร.  เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/464776 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557).

[4] อรัญ สร้อยวัน.  สิทธิในการศึกษาของรัฐไทยตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26.  เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/465879 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557).

[5] Sawake Vo.  พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.  เข้าถึงได้จาก : http://supervis-nited.blogspot.com/2008/07/2542.html (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568394เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 01:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท