ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ประเทศไทยของเรานั้นมีหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง โดยอยู่ภายใต้หลักความพอประมาณ ความระมัดระวังมีเหตุผล และการบริหารความเสี่ยง ภายใต้ความรู้และคุณธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมาย คือ ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนของชีวิตและสังคม ดังนั้น “การดำเนินธุรกิจตามปรัชญานี้ จึงอยู่บนพื้นฐานของการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นหรือแสวงหาผลกำไรจนเกินควรจากการเบียดเบียนประโยชน์ของสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตตามมา ตลอดจนให้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในธุรกิจอย่างประหยัดและอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหลักปรัชญานี้ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย

ขณะที่แนวคิดเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” หรือ CSR ที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ ก็มีหลักการสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม (Earth Summit) เมื่อปีพ.ศ. 2535 ซึ่งได้มีการประกาศทิศทางใหม่ของการพัฒนาว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน”หรือ sustainable development นั้น ควรคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย เช่น ปัญหาโลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ นอกเหนือจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว[1]

แต่ในระบบกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ อันเกิดเนื่องมาจากหลักการของ UDHR นั้น ผู้มีหน้าที่ปกป้องและเคารพสิทธิมนุษยชนกลับเป็นรัฐเท่านั้นโดย แต่ละรัฐก็ทำหน้าที่ดูแลให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนระหว่างประชาชนของตัว เองผ่านกฎหมายภายในประเทศแบบรัฐใครรัฐมัน ซึ่งการมองในลักษณะนี้ทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาที่บรรษัทข้ามชาติต่างๆ มีขนาดและอำนาจใหญ่โตกว่าประเทศเล็กๆ บางประเทศ และประกอบกิจกรรมข้ามระหว่างรัฐ แต่กลับไม่มีเครื่องมือกฎหมายกำกับดูแลกิจกรรมทางธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติ อย่างชัดเจน

ความพยายามที่จะผลักดันให้การเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองการก่อตั้งมาตรฐานตามความสมัครใจที่ชื่อว่า “UN Guiding Principles on Business and Human Rights” ซึ่ง เป็นการแปลความกรอบนโยบาย “Protect Respect and Remedy Framework” ให้เป็นขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ภาคธุรกิจและภาครัฐเอาไปใช้

เนื้อหาสำคัญของเอกสารทั้งสองฉบับประกอบด้วยแนวคิดที่มองเห็นว่า องค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบุคคลที่ 3 ซึ่งรวมถึงองค์กรธุรกิจด้วย รวมทั้งควรสนับสนุนให้เหยื่อผู้ถูกละเมิดเข้าถึงช่องทางการเยียวยาได้ ดียิ่งขึ้นทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจริงๆ ก็เป็นการอธิบายอำนาจและหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศเดิมให้ ชัดเจนขึ้น และชี้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจที่ต้องร่วมกันดูแลป้องกันการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เด่นชัดออกมา

โดยสาระสำคัญที่แท้จริงซึ่งไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มาตรฐานแนวปฏิบัติข้อที่ 7 (หน้า 9) ซึ่งมีคำอธิบายมาตรฐานอย่างเป็นทางการระบุว่า ในยามสถานการณ์ขัดแย้งที่ “รัฐประเทศเจ้าบ้าน” ของการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนของตัวเองได้ ในกรณีของบรรษัทข้ามชาติ ให้ “รัฐประเทศต้นทาง” มีบทบาทต้องช่วยองค์กรธุรกิจและประเทศเจ้าบ้านดูแลให้บริษัทจากประเทศตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันก็ให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ด้วย[2]

ถึงแม้จะเป็นก้าวที่ไม่ได้มั่นคงมากนักคือไม่ใช่เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเอาผิดต่อการละเมิดของธุรกิจอย่างชัดเจนแต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะมนตรีฯ ที่มองเห็นว่าผู้ที่มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนนั้นหมายรวมถึงภาคธุรกิจด้วยและรัฐเป็นประเทศต้นทางก็ไม่ควรจะเพิกเฉยต่อการกระทำของธุรกิจจากประเทศตัวเองในประเทศอื่น ซึ่งธุรกิจจำนวนมากก็ขานรับมาตรฐานนี้และนำไปประกาศใช้ในองค์กรตัวเอง เช่นเดียวกับรัฐบาลประเทศต่างๆ

ในประเด็นโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยภาคเอกชนของประเทศไทย เพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งใน ประเทศไทยและทั้งการดำเนินการข้ามพรมแดน ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายจังหวัดของประเทศไทยที่ อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยในการตรวจสอบกรณีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๑) และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ (๒) [3]

พบปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะในฝั่งประเทศไทย อาจไม่เป็นไปตามหลักการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะหลักการคุ้มครอง สิทธิชุมชน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐


[1] เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม Corporate Social Responsibility Guidelines

[2] เรื่อง(ไม่)ตลกของภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดย ภรตา เสนพันธุ์ วันที่ March 24, 2014 at 9:33 pm

สืบค้นทาง http://www.salforest.com/blog/pharatah/humanrights

[3]กก.สิทธิมนุษยชนฯ ร้องนายกรัฐมนตรีสั่งทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ แก้ไขครั้งล่าสุด 11 พฤษภาคม 2555

สืบค้นทาง http://mcot-web.mcot.net/fm1005/site/view?id=4ff674fe0b01dabf3c041d08#.U3eg6Xa22kw

หมายเลขบันทึก: 568393เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท