HR-LLB-TU-2556-TPC-สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว

มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยเสรีภาพดังกล่าวถูกรับรองเป็นสิทธิมนุษยชนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ1 มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ (Right to freedom) ซึ่งสิทธิในการที่จะมีเสรีภาพที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองนั้นบุคคลต่างก็มีจากการเป็นมนุษย์ ดังนั้นคนทุกคนจึงเป็นผู้ทรงสิทธิในเสรีภาพ

สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพซึ่งกำหนดให้แก่บุคคลโดยไม่มีข้อจำกัดในทางลักษณะตัวบุคคล กล่าวคือ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลทุกคนเป็นผู้ทรงสิทธิดังกล่าว สิทธิและเสรีภาพที่เป็นสิทธิมนุษยชนนั้น มักจะบัญญัติว่า “ทุกๆคนมีสิทธิ…” หรือ “บุคคลมีสิทธิ…” เป็นต้น สิทธิและเสรีภาพประเภทนี้จึงเป็นสิทธิที่ผูกพันอยู่กับความเป็นมนุษย์เป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์ ดังนั้น โดยหลักทั่วไปแล้วสิทธิประเภทนี้จึงมิได้เป็นการที่รัฐบัญญัติกฎหมายให้สิทธิแก่บุคคล หากแต่เป็นการที่กฎหมายของรัฐได้รับรองสิทธิที่ติดตัวมนุษย์ไว้ในบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิประเภทนี้ เช่น เสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคล เสรีภาพในทางความเชื่อของบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้สิทธิพลเมือง เป็นสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลซึ่งเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ เท่านั้น จึงจะเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว สิทธิและเสรีภาพที่ตกแก่พลเมืองของรัฐนั้น มักจะเป็นสิทธิและเสรีภาพเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิในการตั้งพรรคการเมืองหรือสิทธิในการรับราชการหรือสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรของรัฐอื่นๆ เนื่องจากสิทธิในทางการเมือง สิทธิในการเลือกตั้งนั้นเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย และหลักอธิปไตยเป็นของปวงชน สิทธิพื้นฐานดังกล่าวนี้จึงเป็นสิทธิของประชาชนของรัฐนั้นเท่านั้น นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองแล้ว ยังมีสิทธิที่เกี่ยวกับสถานะของความเป็นบุคคลของชาตินั้นเท่านั้น เช่น การคุ้มครองมิให้มีการถอนสัญชาติของบุคคลชาตินั้น หรือการห้ามมิให้เนรเทศบุคคลที่มีสัญชาตินั้น เป็นต้น [1]

จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะเป็นใครมีสัญชาติใดหรือไม่มีสัญชาติก็ตามแต่ ถ้าหากเป็นมนุษย์ก็ย่อมมีสิทธิมนุษยชน คนต่างด้าวในประเทศไทยจึงมีสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ในส่วนของสิทธิพลเมืองเป็นสิทธิที่รัฐมอบให้แก่พลเมือง ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด

กรณีศึกษา นายสาธิต เซกัล

 นายเป็นนักธุรกิจสิ่งพิมพ์ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าอินเดีย-ไทย หอการค้าไทย-อิสราเอล และประธานสมาคมนักธุรกิจอินเดีย-ไทย

เซกัลเกิดที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 5 ปี ครอบครัวเป็นชาวไทยฮินดูเชื้อสายอินเดียจากรัฐปัญจาบจบการศึกษาจากวิทยาลัย Hans Raj มหาวิทยาลัยเดลี เคยทำงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ก่อนจะมาเปิดธุรกิจนิตยสารภาษาอังกฤษเป็นของตัวเอง โดยที่นายสาธิตนั้นยังถือสัญชาติอินเดียอยู่ [2]

       การที่ สาธิต เซกัล ถือสัญชาติอินเดียอยู่ในประเทศไทยนั้น จึงถือได้ว่าเขาเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย แต่ก็ยังคงมีสิทธิมนุษยชนเหมือนกับมนุษย์ทุกคน สืบเนื่องจากศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ประสานไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้เนรเทศ นายสาธิต เซกัล นายกสมาคมธุรกิจอินเดีย-ไทย ย่านสีลม ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวออกจากประเทศโดยให้เหตุผลว่า นายสาธิต เข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส. กระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉินนั้น

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 นายสาธิต เซกัล นายกสมาคมธุรกิจอินเดีย-ไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตนเองก็ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอีกเลย จึงไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไร ทั้งนี้ แม้ตนจะถือพาสปอร์ตอินเดีย แต่ก็อยู่เมืองไทยมากว่า 50 ปีแล้ว อยู่มาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ถึงจะไม่ได้โอนมาสัญชาติไทย แต่ที่เมืองไทยก็คือบ้านและแผ่นดินของตน และตนก็เทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ [3]

จะเห็นได้ว่า ศรส. เนรเทศ สาธิต เซกัล เนื่องจากนายสาธิต เข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส. กระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉิน แต่ว่าสาธิต เซกัล กล่าวว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตนเองก็ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอีกเลย จึงไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉิน  ส่วนการที่สาธิต เซกัลป์ ได้เคยออกไปร่วมชุมนุมหรือเป็นแกนนำก็เป็นเพียงการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ทุกคนมีหากว่าเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิพลเมืองซึ่งรัฐมักจะให้สิทธิดังกล่าวแก่บุคคลที่ถือสัญชาติของรัฐ

กฎหมายที่รับรองการแสดงความคิดเห็นมีดังนี้ 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกสิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิดโดยปราศจากความแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน [4]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น [5]

จากข้อมูลข้างต้นที่ว่า แม้นายสาธิต เซกัลจะเป็นคนต่างด้าวที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยการเป็นแกนนำ กปปส. แต่จากทั้งปฏิญญษสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 รวมทั้งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา45นั้น ทำให้เห็นว่าเขาก็สามารถแสดงออกทางได้ความคิดได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป จากกรณีนี้รัฐบาลไทยควรต้องทบทวนการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเนรเทศอีกครั้ง ให้มีความถี่ถ้วนและรอบครอบมากขึ้น

[1] niidnueng nuengniid.  สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง. เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/257340 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[2] สาธิต เซกัล. เข้าถึงได้จาก : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[3] สาธิต เซกัล เล็งพึ่งศาล ถูกสั่งเนรเทศพ้นไทย ยันไม่ได้ทำอะไรผิด, (2557, 5 กุมภาพันธ์). เข้าถึงได้จาก : http://hilight.kapook.com/view/97428 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[4] ปฏิญญาว่าด้วยเรื่อง สิทธิมนุษยชน. เข้าถึงได้จาก : http://www.baanjomyut.com/library/human/page1.html... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[5] มาตรา 45 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐.  เข้าถึงได้จาก : http://www.thongthailand.com/articles/490661/%E0%B... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568386เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท