ศาลสิทธิมนุษยชน


ศาลสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนเกิดมามีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีอิสรภาพ เสรีภาพ ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีใครสามารถล่วงละเมิดได้ แต่หากเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นแล้ว ก็จะมีกระบวนการยุติธรรมที่เข้ามาจัดการความถูกต้อง โดยกระบวนการยุติธรรมแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ กระบวนการยุติธรรมในศาล และกระบวนการยุติธรรมนอกศาล

กระบวนการยุติธรรมนอกศาล เป็นกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายบ้านเมือง ที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่คอยอำนวยความยุติธรรมที่ไม่ใช่ศาล เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือสื่อมวลชน เป็นต้น

กระบวนการยุติธรรมในศาล เป็นการอำนวยความยุติธรรมผ่านทางศาล เช่น ศาลระหว่างประเทศ หรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นต้น ศาลสิทธิมนุษยชนถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมด้านสิทธิมนุษยชนภายในศาล มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกาเป็นต้น ซึ่งในที่นี้ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในฐานะที่อาจเป็นต้นแบบของศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นองค์กรตุลาการขององค์การสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน (ECHR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1959 ศาลนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส มักมีผู้เข้าใจสับสนคำว่า “สภาแห่งยุโรป Council of Europe” กับคำว่า “European Council ที่เป็นองค์กรของสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นคนละองค์กรกัน

โดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีหน้าที่ในการตีความข้อกฎหมายและพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา ECHR โดยมีอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐภาคีสมาชิก ECHR

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปประกอบด้วยผู้พิพากษาเท่ากับจำนวนรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญา ECHR คือ 47 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป ประเทศละหนึ่งคน ผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความสามารถของตนอย่างอิสระไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ หรือสัญชาติคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปผูกพันรัฐภาคีให้ต้องปฏิบัติตามโดยรัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำพิพากษาจะไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายในรัฐภาคี และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกฎหมายของรัฐภาคี

เงื่อนไขเกี่ยวกับคดีที่จะฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้นั้น ต้องมีการดำเนินคดีต่อศาลภายในรัฐนั้นๆจนเสร็จสิ้นแล้ว กล่าวคือคดีได้ถึงที่สุดในศาลสูงสุดแล้ว โดยในการฟ้องคดีต่อศาลภายในนั้นโจทก์จะต้องกล่าวอ้างว่ารัฐนั้นๆละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรองไว้ในมาตราใดของอนุสัญญา และโจทย์จะต้องทำการฟ้องคดีต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดในศาลภายในประเทศ

ผู้ที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ คือปัจเจกชน ซึ่งคือบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และNGOs โดยฟ้องรัฐสมาชิกเป็นจำเลย โดยผู้ที่จะเป็นโจทก์ในการฟ้องคดีได้นั้น จะต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในรัฐสมาชิกแห่งอนุสัญญา ECHR และถูกละเมิดสิทธิที่ได้รับการรับรองตามอนุสัญญาโดยตรง ในขณะที่รัฐที่ตกเป็นจำเลยในคดีมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือกับศาลในการให้ข้อมูล ตลอดจนเอกสารต่างๆที่จำเป็นในการพิจารณาคดี

จะเห็นได้ว่าศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นศาลที่คอยตัดสินคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศอาเซียน โดยกลุ่มประเทศอาเซียนควรมีศาลสิทธิมนุษยชนที่คอยให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนดังศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปหรือไม่

องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ AICHR) ในกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกฎบัตรอาเซียน ข้อ 14 กำหนดว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

1. โดยสอดคล้องกับความมุ่งประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ให้อาเซียนจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น

2. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนนี้ต้องดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ซึ่งจะกําหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน3

จะเห็นได้ว่า อาเซียนเองก็มีการดูแลและจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลสิทธิมนุษยชน ซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นก็คือ AICHR อย่างไรก็ดีอำนาจของ AICHR นั้นยังไม่ชัดเจนนัก เพราะยังไม่สามารถบังคับรัฐสมาชิกให้ทำตามอนุสัญญา หรือนั่งพิจารณาคดีได้เหมือนศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งภายในอนาคตอันใกล้หวังว่าอาเซียนของเราจะมีศาลที่คอยพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อภิญญา นันโท

17 พฤษภาคม 2557

ที่มา :

1. เอกสารประกอบการเรียน วิชาน. 396 กฎหมายสิทธิมนุษยชน, อ.ดร.รัชนีกร ลาภรณิชชา, คณะนิติศาสตร์ หมาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 22 เมษายน 2557

2.ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป, http://library.nhrc.or.th/Dictionary/search_dic.ph... สืบค้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2557

 3. กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/asean/files/Charter_TH+EN.pdf

หมายเลขบันทึก: 568339เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท