HR-LLB-TU-2556-TPC-ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี

"สุขภาพ" หมายถึง "การมีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บในทุกส่วนของร่างกาย มีสุขภาพจิตดี และสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ผู้มีสุขภาพดีถือว่าเป็นกำไรของชีวิต เพราะทำให้ผู้เป็นเจ้าของชีวิตดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้" [1]

สิทธิในสุขภาพ(Right to health) หมายถึง ประโยชน์อันพีงได้รับการรับรองและคุ้มครองในการมีสุขภาพอนามัยดี โดยรัฐมีหน้าที่ในการทำให้บุคคลเข้าถึงมาตรฐานในการดูแลสุขภาพอนามัย ในสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้า บริการ ตลอดจนเงื่อนไขที่จำเป็น สิทธิดังกล่าวรวมถึงสิทธิในการดูแลสุขอนามัย(Health Care) และสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข [2]    

สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในสุขภาพของบุคคลนั้นมีความสำคัญยิ่งในการสร้างเสริมและพัฒนาบุคคลิกภาพให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ทั้งทางกายและใจยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆด้วย อย่างไรก็ตามหากเป็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีพึงได้นั้น โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในสุขภาพ(Right to health) ถือว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์การอนามัยโลก(World Health Organization) ที่ว่า “Health for all” ซึ่งหมายถึงสุขภาพดีถ้วนหน้าไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติก็ตาม กล่าวคือไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุสัญชาตินั่นเอง 

สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพนั้นมีมากมายและหลากหลายประเด็นซึ่งมีความซับซ้อนและล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกัน ขึ้นอยู่กับการตระหนักถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนข้ออื่นๆและการคาบเกี่ยวกันของทั้งสองประเด็น ได้แก่ ความรุนแรง การทรมานและวิถีการปฏิบัติดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ อาหารและที่อยู่อาศัย นั่นเพราะว่าสุขภาพและความกินดีอยู่ดีนั้นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทุกๆด้านของชีวิตมานับตั้งแต่คนเราถือกำเนิดมา ในกระแสความเป็นธรรมทางสุขภาพในระดับสากลก็ได้รับการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UDHR) พ.ศ.2491 มาตราที่ 25 ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ทุกคนมีสิทธิสำหรับมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เพียงพอต่อสุขภาพของตนเองและครอบครัวรวมไปถึงอาหาร ที่อยู่อาศัย และการได้รับการรักษาพยาบาล ตลอดจนบริการทางงสังคมที่จำเป็น” โดยยึดหลักที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่อสุขภาพว่า เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการมีมาตรฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และเด่นชัดขึ้นในมาตราที่ 12 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ใน พ.ศ.2509 (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในเวลาเดียวกันกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR  นอกจากนี้ยังมีคำประกาศ Alma Ata Declaration “Health for all by the year 2000” เมื่อปี ค.ศ.1978 และการเกิดขึ้นขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น International Society for Equity in Health (ISEqH) ก่อเกิดเป็นนโยบายที่สำคัญขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO), ธนาคารโลก (The World Bank),Pan American Health Organization (PAHO) etc. [3]

แต่ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 สิทธิในสุขภาพจะถูกบัญญัติไว้ในหมวด 3 คือสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทย ทำให้มีนักกฎหมายบางท่านตีความคำว่า บุคคล ตามมาตรา 51 คือชนชาวไทย หรือคนที่มีสัญชาติไทยตามชื่อหมวด อันนำไปสู่การตีความคำว่าบุคคล ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ2550 ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญฯ 2550 โดยกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิคือ ชนชาวไทยเช่นเดียวกันด้วย

การตีความตามชื่อหมวดของรัฐธรรมนูญข้างต้นนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย โดยควรตีความให้ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายข้างต้น คือ “มนุษย์ทุกคน” เพราะว่าหากมีการตีความเช่นข้างต้นอาจส่งผลดังต่อไปนี้

1. รัฐไทยอาจละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ อันก่อให้เกิดความรับผิดของรัฐไทยได้ เพราะ ในมาตรา 25 ของ UDHR และมาตรา 12 ของ ICESCR ใช้คำว่า ทุกคน(everyone) ไม่ได้ใช้คำว่าคนชาติ หรือnationalsแต่ประการใด ดังนั้นสิทธิในการมีความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดี จึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่คนชาติของรัฐนั้นเท่านั้น แต่ฐานแห่งสิทธิคือ ความเป็นมนุษย์นั่นเอง

2. สิทธิในสุขภาพดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน หากตีความให้มีผู้ทรงสิทธิ เพียงแค่คนชาติของรัฐไทยเท่านั้น ก็ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มาอาศัยในรัฐไทย ซึ่งเป็นเรื่องของศีลธรรมและความมีมนุษยธรรมด้วย

3. การที่รัฐไทยรับรองสิทธิในสุขภาพของมนุษย์ทุกคนที่ปรากฏตัวอยู่ในดินแดนไทยนั้น ย่อมส่งผลดีต่อคนชาติของรัฐไทยด้วย เพราะว่าหากคนต่างด้าวที่มาอาศัยในไทย เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและรัฐไทยไม่สนใจให้บริการสาธารณสุขแก่คนเหล่านั้น โรคติดต่อนั้นอาจแพร่กระจายมาสู่คนชาติของรัฐไทยก็เป็นได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐไทยต้องรับรองสิทธิในสุขภาพของทั้งคนชาติและคนต่างด้าวที่มาปรากฏตัวอยู่ในดินแดนของรัฐไทยนั่นเอง [4]

กรณีตัวอย่าง น้องผักกาด หรือ ด.ญ.ผักกาด เกิดที่โรงพยาบาลแม่สอดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ โดยไม่มีการแจ้งเกิด เนื่องจากคิดว่าน้องไม่มีโอกาสที่อายุเกิน 1 เดือน บุพการีเป็นคนมาจากเมียนมาร์ ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงกล่าวคือไร้ทั้งรัฐไร้ทั้งสัญชาติ ตลอดจนถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายคนเข้าเมืองของทุกรัฐบนโลก โดยน้องผักกาดพิการตั้งแต่กำเนิด พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ อาการป่วยหนักมาจากการที่ศีรษะบวมใหญ่มาก จึงถูกบุพการีทอดทิ้ง ไร้สิทธิในหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่๒๓มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ทั้งที่มีปัญหาสถานะบุคคล ซึ่งจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นสิทธิสุขภาพนั้นก็เป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือไม่มีสัญชาติก็ตามซึ่งได้มีการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

ดังนั้นตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 25 น้องผักกาดจึงเป็นผู้มีสิทธิในการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตน มีสิทธิในการได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ และมีสิทธิในหลักประกันยามพิการ หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน  การที่น้องผักกาดอยู่ในประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีการรับรองสิทธิในสุขภาพไว้ โดยใบมาตราต่างๆนั้นใช้คำว่าบุคคล ซึ่งหากหมายถึง บุคคลทุกคน ที่ไม่ได้มีการระบุชี้ชัดว่าบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งน้องผักกาดจึงมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติสุขภาพ

อ้างอิง

[1],[3] วัชรีพร วงษ์เป็ง. สิทธิสุขภาพ. เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/452922 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[2] สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนต่างด้าว ที่นายจ้างคนไทยควรต้องรู้. เข้าถึงได้จาก : http://therama.info/?p=173 ( วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[4] Ms.Thanunchanok Yodsanit.  สิทธิในสุขภาพอนามัย...ปัญหาในสังคมไทย โดยพิจารณาจากกฎหมายภายในและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ.  เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/535373 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568316เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท