คนต่างด้าวในประเทศไทย : สิทธิในการประกอบอาชีพ


คนต่างด้าวในประเทศไทย : สิทธิในการประกอบอาชีพ

ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงิน’ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน การจะใช้จ่ายซื้อของในการดำรงชีวิตก็ต้องใช้เงิน และการที่คนเราจะได้เงินมานั้นก็มาจากการทำงาน ซึ่งก็คือการประกอบอาชีพต่างๆนั่นเอง

สิทธิในการประกอบอาชีพ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิในการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ เพศ ภาษา ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง และสิทธิในการประกอบอาชีพนี้ ได้ถูกรับรองไว้ใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 23 ที่บัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิในการทำงานในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและ เอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน” ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวย่อมมีสิทธิที่จะประกอบอาชีพ เพราะสิทธิในการประกอบอาชีพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี

นอกจากนั้น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ยังได้มีบทบัญญัติที่รับรองเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ไว้ในมาตรา 43 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

จะเห็นได้ว่าแม้สิทธิและเสรีภาพจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่จะประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ แต่อย่างไรก็ดีตามรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจรัฐในการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เพราะเหตุในการรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณูปโภค หรือตามเหตุอื่นๆดังที่ระบุไว้ตามมาตรา 43

ประเทศไทยได้มีการสงวนอาชีพบางประเภทไว้ให้คนไทยเท่านั้นที่สามารถทำได้ โดยได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการจำกัดอาชีพบางประเภทที่คนต่างด้าวห้ามทำ ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ไว้ดังนี้

(๑) งานกรรมกร

(๒) งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา หรืองานควบคุมดูแลฟาร์ม

(๓) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น

(๔) งานแกะสลักไม้

(๕) งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานบขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ

(๖) งานขายของหน้าร้าน

(๗) งานขายทอดตลาด

(๘) งานควบคุม ตรวจสอบ หรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นงานตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว

(๙) งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย

(๑๐) งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

(๑๑) งานทอผ้าด้วยมือ

(๑๒) งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่

(๑๓) งานทำกระดาษสาด้วยมือ

(๑๔) งานทำเครื่องเขิน

(๑๕) งานทำเครื่องดนตรีไทย

(๑๖) งานทำเครื่องถม

(๑๗) งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก

(๑๘) งานทำเครื่องลงหิน

(๑๙) งานทำตุ๊กตาไทย

(๒๐) งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม

(๒๑) งานทำบาตร

(๒๒) งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ

(๒๓) งานทำพระพุทธรูป

(๒๔) งานทำมีด

(๒๕) งานทำร่มกระดาษหรือผ้า

(๒๖) งานทำรองเท้า

(๒๗) งานทำหมวก

(๒๘) งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

(๒๙) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ ไม่รวมงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ

(๓๐) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ

(๓๑) งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

(๓๒) งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

(๓๓) งานมวนบุหรี่ด้วยมือ

(๓๔) งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว

(๓๕) งานเร่ขายสินค้า

(๓๖) งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ

(๓๗) งานสาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ

(๓๘) งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ

(๓๙) งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี

**หมายเหตุ ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ทำงานได้ 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และ งานรับใช้ในบ้าน

จะเห็นว่าแม้คนต่างด้าวจะมีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่กลับถูกจำกัดการประกอบอาชีพ ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ ดวงตา หม่องภา ที่เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านภาษา แต่ดวงตา หม่องภาเป็นคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้ว่าดวงตา หม่องภาจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานจะมีความกลมกลืนไปกับความเป็นไทยแล้วก็ตาม แต่เพราะดวงตา หม่องภา ไม่ได้มีสัญชาติไทยจึงถูกจำกัดการประกอบอาชีพตามที่กฎหมายกำหนด

เป็นที่น่าคิดว่า สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพนั้น เป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่ควรถูกจำกัด การที่รัฐธรรมนูญไทยได้จำกัดประเภทของการประกอบอาชีพบางประการ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ เพื่อให้คนต่างด้าวได้มีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพอย่างเต็มที่ต่อไป

ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า การจำกัดประเภทของการประกอบอาชีพ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะมนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งแยกเพราะเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ก็ควรมีสิทธิในฐานะที่เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน หากรัฐต้องการที่จะรักษาความมั่นคง ก็อาจใช้วิธีการอื่นแทนการจำกัดการประกอบอาชีพ เช่น อาจให้คนต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเสรีโดยไม่ถูกจำกัด แต่จัดให้มีระบบตรวจสอบความถูกต้องเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ

อภิญญา นันโท

16 พฤษภาคม 2557

อ้างอิง

 1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550, http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf

3. บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522, http://law.longdo.com/law/80/sub10658

หมายเลขบันทึก: 568212เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท