HR-LLB-TU-2556-TPC-กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

ในสังคมปัจจุบันมีความทวีความรุนแรงในด้านการเกิดอาชญากรรมขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในลักษณะของสถิติการก่อเหตุอาชญากรรมที่มากขึ้น รวมทั้งวีถีทางในการก่อเหตุอาชญากรรมในหลากหลายแนวทางมากยิ่งขึ้น ดังที่เราสามารถสังเกตได้จากภาพเหตุการณ์ ข่าวสารทั้งในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือบนสื่อออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ต  รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ถูกคุมขังภายในเรือนจำ เป็นต้น

ปัญหาอาชญากรรมเป็นสิ่งที่ทำลายความสงบสุขของประชาชนและสังคโดยรวม เนื่องจากเป็นต้นเหตุในการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งยังทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและความหวาดระแวง เป็นผลให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข ดังนั้นการที่จะทำให้สังคมอยู่กันอย่างเป็นสุข รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องตราข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในการอยู่ร่วมกัน  โดยกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันนั่นก็คือกฎหมาย ซึ่งกฎหมายต้องมีสภาพบังคับเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติตาม นอกจากนี้จำเป็นต้องมีสภาพบังคับในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย  ในการกำหนดบทลงโทษของผู้กระทำความผิด  โดยเชื่อว่ากระลงโทษผู้กระทำผิดนั้นจะทำให้อาชญากรรมลดลง  

ในกฎหมายอาญาสภาพบังคับมีโทษที่ได้กำหนดไว้อยู่5สถานด้วยกัน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ซึ่งความหนักเบานั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการก่อเหตุ และสภาพความผิดที่หนักหรือเบา

โทษประหารชีวิต ถือว่าเป็นโทษที่กำจัดผู้กระทำความผิดหรืออาชญากรออกไปจากสังคมด้วยวิธีที่รุนแรงที่สุด ซึ่งโทษนี้ก็เป็นโทษที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีมาอย่างหนึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจุดประสงค์ในการลงโทษเป็นการแก้แค้นทดแทนความผิดรวมทั้งยังเป็นการข่มขู่ยับยั้ง และที่สำคัญเป็นการตัดโอกาสที่ผู้กระทำความผิดจะทำความผิดซ้ำซ้อนด้วยการกำจัดผู้กระทำความผิดออกไปจากสังคมโดยเด็ดขาดทำให้ถึงแก่ความตาย

สำหรับการประหารในประเทศไทยนั้นได้ยกเลิกการประหารชีวิตด้วยอาวุธปืน เมือวันที่18 กันยายน พ.ศ.2546 ซึ่งได้มีการเสนอแก้พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 16 พ.ศ.2546 โดยได้แก้ไขมาตรา19 ว่า "ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิตให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย"  ซึ่งในสังคมโลกปัจจุบันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักการสูงที่สุด  แม้ว่าอาชญากรนั้นสมควรได้รับโทษการการละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย แต่การลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้นเป็นการขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  อีกทั้งยังขัดต่อแนวคิด อาชญาวิทยา ที่กล่าวว่า อาชญากรหรือผู้กระทำผิดสามารถปรับปรุงกลับตัวเป็นคนดีและมีชีวิตใหม่ได้ หากได้รับการฟื้นฟูบำบัดอย่างเหมาะสม รวมทั้งการให้โอกาสในการกลับสู่สังคม ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆทะยอยยกเลิกโทษประหารชีวิตมากขึ้น [1]

เนื่องจากนักโทษที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในไทยจะถูกประหารชีวิตจริงน้อยมากหากเทียบกับสัดส่วนนักโทษประหารชีวิตที่มีอยู่ทั้งหมด ทำให้เกิดกระแสในสังคมอย่างต่อเนื่องว่าผู้กระทำผิดร้ายแรงเหล่านี้สมควรแล้วหรือที่จะไม่ต้องถูกประหารชีวิตโดยเฉพาะในประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตตามกระแสโลก ซึ่งองค์การหรือกลุ่มคนต่างๆที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้ยกเลิกโทษการประหารชีวิต หยิบยกประเด็นหลัก 3 หัวข้อมาพูดถึงคือ โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ โทษประหารชีวิตเป็นการสร้างความทรมานต่อร่างกายและจิตใจ และโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมลดลง นอกจากนั้นแล้วโทษประหารชีวิตขัดต่อหลักปฏิญญาสากลข้อที่ 3 ที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสระและปลอดภัย และข้อที่ 5 ที่ว่า ไม่มีใครมีสิทธิข่มเหงทารุณเรา

แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าในปัจจุบันประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารยังคงมีการถกเถียงเรื่องโทษประหารอยู่ตลอดเวลาในสังคม โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มักมองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยและสันติภาพในสังคม แต่ในฝั่งที่ไม่เห็นด้วยมองว่าโทษประหารชีวิตมีลักษณะที่โหดร้าย ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา อีกทั้งยังมีการวิจัยในเชิงวิชาการมาแล้วหลายครั้งว่า โทษประหารชีวิตไม่สามารถลดปัญหาการเกิดอาชญากรรมได้ โดยงานวิจัยระบุว่า ปัจจัยที่จะทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงนั้นคือเรื่องของความรวดเร็วในการจับกุมและความชัดเจน แต่หากคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียหายและคนที่ถูกทำร้ายที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ ประเด็นที่ว่าการยกเลิกโทษประหารมีความจำเป็นจริงหรือไม่จึงเกิดขึ้น เพราะที่จริงแล้วผู้ที่มีโอกาสถูกลงโทษประหารชีวิตหากรับสารภาพ ศาลก็อาจลงโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตแทนอยู่แล้ว อีกทั้งโทษประหารชีวิตยังสามารถขออภัยโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตได้ ซึ่งนับเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาของโทษที่สามารถทำได้อยู่แล้ว [2]

แม้หลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพยายามรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังที่ได้กล่าวมา รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม แต่ยังคงมีอีกหลายคำถามเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ข้าพเจ้าจึงได้นำ 5 ความเชื่อ และความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตที่อาจยังไม่รู้ เพื่อเป็นการเปิดอีกหนึ่งมุมมองในประเด็นนี้

1.ความเชื่อ - โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันอาชญากรรม และทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น
ความจริง - ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าโทษประหารชีวิตจะสามารถป้องกันอาชญากรรมได้
อย่างเช่นที่ประเทศแคนาดา ปัจจุบันหลังจากที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตมากว่า 30 ปี สถิติการก่ออาชญากรรมลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2519 ที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ และจากการศึกษาในระยะเวลา 35 ปี เพื่อเปรียบเทียบสถิติการฆาตกรรมระหว่างฮ่องกงซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิตกับสิงคโปร์ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน แต่ยังมีโทษประหารชีวิต พบว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีผลกระทบที่น้อยมากต่อสถิติการก่ออาชญากรรม

2.ความเชื่อ - การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ความจริง - การประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งวางแผนเพื่อที่จะฆ่า หรือทำร้ายคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ได้
เจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการต่อต้านการก่อการร้ายได้เปิดเผยหลายครั้งว่า ผู้ก่อการร้ายที่ถูกประหารชีวิตนั้นเปรียบได้กับการพลีชีพเพื่อศาสนา หรืออุดมการณ์ และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธได้ออกมาเปิดเผยด้วยว่า โทษประหารชีวิตนั้นเป็นเหมือนข้ออ้างที่จะใช้ในการแก้แค้น และมันก็จะนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น

3.ความเชื่อ - โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดีตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่
ความจริง - ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการสนับสนุนของคนหมู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปการกระทำเหล่านั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว
การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มากทั้งนั้น ซึ่งมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด และรัฐบาลก็ควรมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะขัดต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมือง และการให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

4.ความเชื่อ - คนที่ถูกประหารชีวิตทุกคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดจริงในการก่อคดีอาชญากรรม
ความจริง - มีนักโทษเป็นร้อยจากทั่วโลกที่ถูกประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการเค้นเอาคำสารภาพจากนักโทษโดยการทรมาน และการปฏิเสธให้นักโทษได้ใช้ทนายความ
ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดนั้นเป็นประเทศที่มีความจริงจังอย่างมากด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น จีน อิหร่าน อิรัก และจากการที่อเมริกาละเว้นโทษประหารชีวิตให้แก่นักโทษ 144 คน ในปี 2516 แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายมากมายแค่ไหน กระบวนการยุติธรรมก็มีการผิดพลาดได้อยู่ดี และตราบเท่าที่คนเรามีการผิดพลาดกันได้ ความเสี่ยงในการที่จะประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

5.ความเชื่อ - ญาติของผู้ถูกฆาตกรรมต้องการการลงโทษที่สาสม
ความจริง - การเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิตทั่วโลกมีผู้เข้าร่วมหลายคนที่สูญเสียคนที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของความรุนแรง และอาชญากรรมเองแต่เพราะเหตุผลทางจริยธรรม และความเชื่อทางศาสนาจึงไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตในนามของพวกเขา และในสหรัฐอเมริกา องค์กร “Murder Victims’ Families for Human Rights” ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อญาติของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกโทษประหารชีวิต อย่างเช่นในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ [3]

เมื่อกล่าวถึงโทษประหารในประเทศไทยนั้นอย่างที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคือยังมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหาร และจากข้อเท็จจริงที่นำมาแสดงให้เห็นข้างต้นก็อาจทำให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตไม่ใช่มาตรการที่สามารถป้องกันอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และอาจมองว่ามาตรการที่ใช้ความรุนแรงและการแก้แค้นนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการสมานฉันท์ ดังนั้นในมุมมองของข้าพเจ้านั้นมองว่า การที่จะลดการเกิดอาชญากรรมได้นั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันให้กับคนในสังคมมากขึ้น ร่วมไปกับการพัฒนาศึกษาหรือค้นหาวิธีการลงโทษที่เหมาะสมที่สุดกับความผิดที่ผู้กระทำผิดได้กระทำ ร่วมกับการพัฒนาการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับตัวและสามารถเข้ามาอยู่ในสังคมได้โดยไม่มีความรู้สึกว่าสังคมภายนอกไม่ได้ให้การต้อนรับตน  การให้โอกาสคนเหล่านี้มากขึ้น และการร่วมมือร่วมใจกันของคนในสังคมน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเราเกิดเหตุการอาชญากรรมน้อยลงก็เป็นได้

อ้างอิง

[1] นายวิชัย เดชชุติพงศ์.  ความสำคัญและที่มาของปัญหา.  ข้อดีข้อเสียของโทษประหารชีวิตในสังคมไทย, หน้า2. เข้าถึงได้จาก : http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/jrp2... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557).

[2] ทีมเดลินิวส์ออนไลน์. (2556, 1 มีนาคม). โทษประหารชีวิต ความจำเป็นที่ต้องคงอยู่ หรือความรุนแรงที่ควรยกเลิก. เข้าถึงได้จาก : http://www.dailynews.co.th/Content/Article/127538/... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557).

[3] ASTVผู้จัดการออนไลน์.  (2557, 26 มีนาคม).  แอมเนสตี้เผย5ข้อเท็จจริงที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต.  เข้าถึงได้จาก : http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsI... (วันที่สืบค้น : 16 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568163เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท