สิทธิเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิเสรีภาพของคนต่างด้าว : กรณีศึกษา สาธิต เสกัล

หากกล่าวถึงความสามารถที่มนุษย์จะกระทำการใดหรือต้องงดเว้นการกระทำการใดนั้น โดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกำหมายที่ปรากฏอยู่ภายในรัฐนั้นๆ ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมปรากฏอยู่ภายในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวบทกฎหมายบ่งบอกถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนภายในรัฐให้ประชาชนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ และมีความสุข

ดังรัฐธรรมนูญของประเทศไทยซึ่งได้รับรองสิทธิ และเสรีภาพของชนชาวไทย ปรากฏอยู่ในหมวด 3 เช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งปรากกอยู่ใน

มาตรา45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

ในวรรคสองบัญญัติว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน[1]

สิทธิเสรีภาพนั้นไม่เพียงแต่เป็นสิทธิของพลเมืองภายในรัฐเท่านั้น แต่สิทธิเสรีภาพบางประการนั้น แม้ว่าเป็นสิทธิของพลเมืองภายในรัฐที่จะได้รับแล้ว ย่อมเป็นสิทธิและเสรีภาพซึ่งแม้แต่เป็นต่างด้าวหรือผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติรัฐนั้นๆควรที่จะได้รับการคุ้มครองจากเจ้าของรัฐที่ตนได้อาศัยอยู่ เช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย สิทธิในทรัพย์สินของตน รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าจะเป็นคนต่างด้าว ก็ควรได้รับสิทธิ เสรีภาพในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำในการนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งด้วย

กรณีศึกษา : สาธิต เสกัล

สาธิต เสกัล เป็นประธานหอการค้าไทย – อินเดีย และเป็นประธานนักธุรกิจซึ่งมีสัญชาติอินเดีย ซึ่งคุณสาธิตนั้นได้เป็นแกนนำของกลุ่ม กปปส.และได้ขึ้นเวทีปราศรัย ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน[2] โดยได้มีประเด็นโต้เถียงเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคุณสาธิตว่าเป็นคนต่างด้าว ไม่สามารถเข้าร่วมในการดำเนินการในการแสดงสิทธิทางการเมืองได้ ซึ่งหากพิจารณาจากรัฐธรรมนุญแล้วนั้น ได้ปรากฏเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแก่ชนชาวไทย แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ใน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน [3]และใน

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง(พลเมือง) และการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 วางหลักว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะถือเอาความเห็นใดก็ได้โดยปราศจากการแทรกสอด และ บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหารับและกระจายข่าวสารและความคิดเห็นทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ประสงค์.[4]

จึงเห็นได้ว่าในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นได้รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของมนุษย์ทุกคนที่ว่ามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรีและไม่ได้รับการแทรกแซงหรือก้าวก่ายในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดซึ่งได้ปรากฏเนื้อความซึ่งมีใจความเช่นเดียวกันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง(พลเมือง) และการเมืองที่ได้รับรองสิทธิทางแพ่งซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนทางกฎหมายเอกชนที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับและไม่ควรถูกจำกัดอีกด้วย

ดังนั้นแล้วแม้คุณสาธิตจะไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่คุณสาธิตย่อมได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้และไม่สามารถที่จะถูกจำกัดได้ เพราะสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งนั่นเอง

(เขียนบทความวันที่ 11 พฤษภาคม 2557)


[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แหล่งข้อมูล :http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf ค้นข้อมูล :10 พฤษภาคม 2557

[2] ประวัติคุณสาธิต เซกัล แหล่งข้อมูล : http://hilight.kapook.com/view/97452 ค้นข้อมูล :10 พฤษภาคม 2557

[3] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แหล่งที่มา : http://www.khamkoo.com ค้นข้อมูล 10 พฤษภาคม 2557

[4] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง(พลเมือง) และการเมือง (ICCPR)แหล่งที่มา :http://www.refworld.org ค้นข้อมูล 10 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568158เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท