ยามา อุรเคนทรางกูร
นางสาว ยามา อุรเคนทรางกูร อุรเคนทรางกูร

HR-LLB-TU-2556-TPC-​คนต่างด้าวในประเทศไทย


           


                การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

                                      

                                 



        ประเทศไทยได้รับรองสิทธิในเสรีภาพในการประกอบอาชีพไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.43บัญญัติว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

เสรีภาพในการประกอบอาชีพเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์คนใดก็จะได้รับการรับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนชาติหรือคนต่างด้าว โดยหลัก จะมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพเหมือนกัน นอกจากคำอธิบายในทางตำราดังที่กล่าวในข้างต้นแล้ว เสรีภาพในการประกอบอาชีพยังถูกบันทึกลงในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 23 บัญญัติว่า

“(1) ทุกคนมีสิทธิในการทํางาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออํานวยต่อการทำงานและในการคุ้มครองต่อการว่างงาน ”

แต่อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการประกอบอาชีพเป็นเสรีภาพสัมพัทธ์ คือ อาจถูกจำกัดการใช้เสรีภาพได้โดยกฎหมาย หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการประกอบอาชีพจะถูกกำจัดได้โดยกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพย่อมต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อจำกัด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจำกัดเสรีภาพชนิดนี้ตามอำเภอใจได้

                      

               กรณีศึกษาในเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว "ครอบครัวหม่องภา"ครอบครัวหม่องภาประกอบด้วย พ่อหม่อง เป็นคนจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ แม่ภา เป็นคนรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ น้องดวงตา และน้องจุลจกร เป็นบุตรของทั้งสองซึ่งเกิดในประเทศเมียนมาร์และอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเกิดความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์นั่นเอง

เมื่อได้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ครอบครัวหม่องภาก็กลายเป็นคนต่างด้าวที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทย เพราะว่า ครอบครั้วหม่องภาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 14 ปี พูดภาษาไทยได้ดี จ่ายภาษีทางอ้อมให้กับประเทศไทยตลอดมา ทั้งหมดนี้ ทำให้พ่อหม่องกับแม่ภา จากที่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ก็ได้ถูกบันทึกลงทร.38/1 เพื่อแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร รวมทั้งมี Overseas Workers Identification Card ส่วนในเรื่องสัญชาติ พ่อหม่องและแม่ภาได้รับการรับรองสถานะว่าเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์แล้ว และมีหนังสือเดินทางที่รัฐบาลเมียนมาร์ออกให้แล้วเช่นกัน

หากย้อนกลับไปตอนที่พ่อหม่องและแม่ภายังไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่นั้น ทั้งสองคนเข้ามาในประเทศไทย โดยเริ่มจากการประกอบอาชีพรับจ้างทำไร่ ต่อมาได้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของนา พ่อหม่องกับแม่ภาเป็นเจ้าของนาตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ได้มีชื่อในโฉนดที่ดินในนาผืนนั้นแต่อย่างใด เนื่องจาก ประมวลกฎหมายที่ดิน ม.86 บัญญัติว่า

“คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย”

สำหรับสนธิสัญญานั้น ประเทศไทยได้เคยทำสนธิสัญญาไว้กับประเทศต่าง ๆ รวม 16 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวิสส์ เยอรมัน เดนมาร์ก นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย เบลเยี่ยม สวีเดน อิตาลี ญี่ปุ่น พม่า โปรตุเกส ปากีสถาน ต่อมาได้ยกเลิกสนธิสัญญากับประเทศดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2513 ปัจจุบันไม่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศใดที่ระบุให้คน ต่างด้าวได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทยอีก

สำหรับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ที่มีผลในเรื่องนี้คือ ม.96 ทวิ บัญญัติว่า

“บทบัญญัติว่าด้วยคนต้างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินโดยอาศัยบทสนธิสัญญาตามมาตรา 86 วรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับคนต่างด้าวซึ่งได้นําเงินมาลงทุนตามจำนวนที่กําหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่ต่ํากว่าสี่สิบล้าน บาท โดยให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกินหนึ่งไร่ และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี”

 หากคนต่างด้าวต้องการซื้อที่ดินในประเทศไทย ผู้นั้นจะต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท จึงจะมีคุณสมบัติในการซื้อที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ยังต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีอีกด้วย

เห็นได้ว่าพ่อหม่องกับแม่ภาไม่สามารถนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยถึง 40ล้านบาทได้ พ่อหม่องกับแม่ภาจึงซื้อที่ดินมาตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ได้จดทะเบียนการซื้อขายที่ดินแต่อย่างใด

การไม่ได้ไปจดทะเบียนในการซื้อขายที่ดินย่อมทำให้พ่อหม่องกับแม่ภาไม่มีความแน่นอนในการประกอบอาชีพ เนื่องจากการไม่จดทะเบียนในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ทำให้นิติกรรมในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่สมบูรณ์ อาจทำให้พ่อหม่องและแม่ภาเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ไม่มีทุนทรัพย์มาจุนเจือครอบครัว ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของข้าพเจ้านั้นหากประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้อย่างง่ายดาย อาจทำให้คนต่างชาตินั้นเข้ามาแย่งที่ดินทำกินของคนในประเทศได้เช่นกัน อาจทำให้เกิดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ตามมาอีกมาก ในเรื่องของการครอบครองผืนแผ่นดินของประเทศไทย


                     กรณีศึกษา น้องดวงตา น้องดวงตาได้รับการบันทึกลงในทะเบียนราษฎรไทยประเภทนักเรียนนักศึกษาไร้สัญชาติในทะเบียนประวัติประเภท ทร. 38 ก ซึ่งตอนนี้น้องเป็นนักศึกษาในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่น้องดวงตายังคงไร้สัญชาติอยู่ แม้ว่าจะมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักดินแดน คือเกิดในประเทศเมียนมาร์ และตามหลักสืบสายโลหิต คือบุพการีของน้องเป็นคนเมียนมาร์ แต่ทางการเมียนมาร์ยังไม่ได้รับรองสิทธิในสัญชาติของน้องดวงตาแต่อย่างใด

น้องดวงตาเป็นคนเรียนดี แต่ไม่มีสัญชาติไทย ทำให้น้องอาจขาดโอกาสในการประกอบอาชีพบางอาชีพได้ ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดอาชีพต้องห้ามของคนต่างด้าวไว้

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีความรู้ความสามารถขนาดไหน ถ้าไม่ใช่คนสัญชาติไทย ก็จะไม่สามารถทำงานที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้เลย น้องดวงตาเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถทางภาษา เนื่องจากเรียนในคณะศิลปศาสตร์ น้องอาจได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นมัคคุเทศก์หรือเป็นผู้นำเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่น้องไม่สามารถเข้าไปประกอบอาชีพนี้ได้ เนื่องจากน้องเป็นคนต่างด้าว งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยวเป็นอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวอย่างน้องดวงตา ทำให้น้องดวงตาขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้น ประเทศไทยอาจต้องทบทวนอาชีพต้องห้ามที่สงวนไว้ให้เฉพาะคนไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คนต่างด้าวได้มีโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้นมาบ้าง ไม่ได้จำกัดโอกาสการประกอบอาชีพให้เหลือเพียงไม่กี่อาชีพเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 568058เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท