ยามา อุรเคนทรางกูร
นางสาว ยามา อุรเคนทรางกูร อุรเคนทรางกูร

ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


                                                 ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก

             

               การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะมีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในคุ้มครองอยู่ก็ตาม ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆในโลก เพื่อสื่อให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นแผ่ขยายเป็นวกว้างในสังคมได้อย่างมาก

             ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆในโลกนั้น ขอนำเสนอตัวอย่าง ได้แก่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา การละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กที่ค้าประเวณี

          ประเด็นแรก ชาวโรฮิงญากับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชาวโรฮิงญาเป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในรัฐยะไข่ (รัฐอะระกันเดิม) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลทหารของประเทศเมียนมาร์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รัฐได้ปฏิเสธไม่ให้ชาวโรฮิงญาได้รับสัญชาติเมียนมาร์ ไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายสัญชาติพม่า ค.ศ.1982 หากต้องการออกจากพื้นที่ตรงนั้น ก็ต้องขออนุญาตและเสียค่าใช้จ่ายให้กับรัฐบาลทหาร ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการเดินทางเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ชาวโรฮิงญาไม่สามารถสมรสได้ ถ้าจะสมรสต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล และ ยังถูกคุมกำเนิดจากรัฐบาลเมียนมาร์อีกด้วย เนื่องจากแนวคิดที่ว่าไม่ต้องการให้ชาวโรฮิงญามีลูกมีหลานสืบเชื้อสายอีกต่อไป

         เรื่องของชาวโรฮิงญาไม่ได้จบอยู่แค่ในประเทศเมียนมาร์ เพราะเมื่อชาวโรฮิงญาต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายมาก จนเขาไม่สามารถทนอยู่ได้อีกต่อไป เขาจึงอพยพไปยังประเทศต่างๆ เช่น ประเทศไทย เมื่ออพยพเข้ามาในประเทศไทย ล่าสุดชาวโรฮิงญาล่องเรือเข้ามาทางชายฝั่งจังหวัดระนอง เมื่อเข้ามายังประเทศไทยแล้ว ชาวโรฮิงญาเป็นเพียงแค่ชาวต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งหากดำเนินตามกระบวนยุติธรรมแล้ว เขาก็จะถูกส่งกลับไปยังประเทศเมียนมาร์ ซึ่งต้องกลับไปอยู่อย่างแร้นแค้นเช่นเดิม แบบนี้ ถ้าชาวโรฮิงญายังอยู่ในประเทศไทยก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหลอกเอาไปเป็นแรงงานทาส เนื่องจากเขาไม่มีสถานะอะไรเลย แม้แต่สถานะผู้ลี้ภัยก็ไม่มี อีกทั้ง หากไทยให้ความช่วยเหลือก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณมาก ดังนั้น ไทยจึงต้องหาทางแก้ปัญหา ทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ การเปลี่ยนสถานะของชาวโรฮิงญามาเป็นแรงงานต่างด้าว แทนที่จะนำเข้าแรงงานมากจากประเทศอื่นๆ

            ประเด็นที่สอง แรงงานต่างด้าวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานหรือบริการ ซึ่งปรากฏกระบวนการนำพาแรงงานเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและหลอกลวงแรงงานจากประเทศเมียนมาร์หลายพันคนมาทำงานในอุตสาหกรรมประมงประเทศไทย ทั้งกิจการประมงทะเล คือ เป็นลูกเรือประมงและกิจการต่อเนื่องจากประมงทะเล คือ เป็นคนงานในโรงงานบรรจุและผลิตอาหารทะเล โดยเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแรงงานชาวเมียนมาร์จะถูกขายต่อไปยังนายหน้ารายอื่นและถูกกักขังไว้ก่อนจะถูกขายให้กับเจ้าของเรือประมง อีกทั้ง สภาพการทำงานนั้น แรงงานชาวพม่าถูกบังคับให้ต้องทำงาน 15-20 ชั่วโมงต่อวัน กรณีทำงานบนเรือประมงจะถูกกักตัวไว้ในเรือในทะเลเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีโอกาสขึ้นฝั่ง หรือถูกกักขังอยู่บนฝั่งระหว่างรอการออกเรือรอบต่อไป หากหลบหนีแล้วถูกจับได้ก็จะถูกทรมาน ทำร้ายทุบตี และข่มขู่เอาชีวิต

            ประเด็นที่สุดท้าย ปัญหาเรื่องการค้าประเวณีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กลายเป็นพื้นที่ทางผ่านและพื้นที่ปลายทางของการค้ามนุษย์ ลักษณะของสภาพปัญหามีการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศลาวเข้ามาค้าประเวณีบริเวณชายแดนและจังหวัดใกล้เคียงในรูปแบบของซ่องและร้านคาราโอเกะ ในขณะเดียวกัน จังหวัดชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง ยังเป็นทางผ่านให้ “นักล่าประเวณีเด็ก” จำนวนมาก ข้ามแดนเข้าไปซื้อบริการทางเพศเด็กในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

           จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆในโลกนั้น ทั้งในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา การละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กที่ค้าประเวณี ประเทศไทยเป็น่สวนหนึ่งของปัญหาทั้งสิ้น ดังนั้น ประเทศไทยไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ ควรหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม บางครั้งอาจต้องพบกับครึ่งทางกับประเทศต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เกี่ยวพันกับสังคมโลกค่อยๆลดลงและหายไปในที่สุด

                                         

หมายเลขบันทึก: 567990เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท