ยามา อุรเคนทรางกูร
นางสาว ยามา อุรเคนทรางกูร อุรเคนทรางกูร

ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


                  ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 ดังนั้นหากมีผู้อพยพมายังประเทศของเรา ผู้อพยพนั้นจะถูกเรียกว่าผู้หนีภัยความตายไม่ใช้ผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด 

                  สำหรับผู้หนีภัยความตายในประเทศไทยนั้น ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็มีอยู่เช่นกัน โดยเริ่มจากการที่ผู้หนีภัยความตายไม่สามารถออกไปจากศูนย์พักพิงชั่วคราวได้ ถ้าแอบออกไป เอกสารผู้หนีภัยความตายจะใช้ไม่ได้ เขาจะกลายเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายทันที ในเมื่อเขาไม่สามารถออกไปจากศูนย์พักพิงชั่วคราวได้ เขาก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือเมื่อแอบหนีออกไปแล้ว หากต้องการสมรส พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่จดทะเบียนสมรสให้ เพราะเอกสารผู้หนีภัยความตายใช้ไม่แล้ว ไม่มีเอกสารแสดงตนอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกมากมาย เช่น โรงเรียนหรือโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาหารไม่ได้คุณภาพ ห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องหาวิธีรับมือกับผู้หนีภัยความตายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                  ส่วนประเทศซีเรียแล้ว ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย โดยหลักมีอยู่สองประการด้วยกัน

          ประการที่หนึ่ง หากพิจารณาถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 (1) กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน แต่ผู้ลี้ภัยในประเทศซีเรียนนั้น ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในข้อนี้ เนื่องจากผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในเต๊นท์ในสภาพอากาศร้อนจัดหรือหนาวเหน็บ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องนอนกับพื้น บางคนเสียชีวิตเพราะทนกับสภาพอากาศหนาวจัดไม่ไหว ส่วนนี้ ผู้ลี้ภัยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องที่อยู่อาศัย

          ส่วนที่ผู้ลี้ภัยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในข้อ 25(1) คือ สิทธิในการได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากสภาพของห้องพยาบาลเป็นเพียงแค่เต๊นท์และเตียงผ้าใบเท่านั้น ไม่มีระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ไม่มีระบบป้องกันความเสี่ยงของผู้ป่วย ไม่มีระบบบริหารจัดการยารักษาโรคแต่อย่างใด ทำให้ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์อย่างถูกวิธี ดังนั้น ผู้ลี้ภัยจึงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้ด้วย

          ประการที่สอง หากพิจารณาถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 (1) กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไป จะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม แต่เด็กๆที่เป็นผู้ลี้ภัยจากซีเรียนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในประเทศผู้รับแล้ว ไม่ได้รับการศึกษาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแค่ขั้นประถมหรือขั้นพื้นฐาน ดังนั้น เด็กๆผู้ลี้ัยจึงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องการศึกษาด้วย

                 ท่าทีของประเทศไทยในการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยนั้น ยังไม่มีท่าทีว่าจะร่วมลงนามแต่อย่างใด เนื่องจาก หากยึดตามคำอธิบายของหน่วยงานภาครัฐ การเข้าเป็นภาคีจะทำให้ไทยผูกมัดตัวเองในการปฏิบัติตามการทำงานหรือนโยบายขององค์กรระหว่างประเทศในเรื่องผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ เพราะไทยมีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามและในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยมีสิทธิต่างๆ ที่ให้กับผู้ลี้ภัย ซึ่งทางรัฐไทยดูว่ายังไม่เหมาะสม เช่น การได้สิทธิเท่าเทียมกับประชาชนของรัฐนั้น ซึ่งรัฐไทยมองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเข้าเป็นภาคีจึงอาจมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะผลดีคือ จะทำให้รัฐไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่า เป็นประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานหลักสากล แต่ผลเสียคือรัฐไทยต้องผูกมัดตนเองว่าต้องดูแลผู้ลี้ภัยตามมาตรฐานสากลตลอดไป

                  ถ้าประเทศไทยเป็นภาคีแล้วผู้ลี้ภัยจะต้องได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหลายอย่างกว่าที่เป็นแค่ผู้หนีภัยความตาย โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ตัวกฎหมายแม่บท คือตัวปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตัวกฎหมายสิทธิมนุษยชน ฉบับอื่นๆก็จะต้องใช้ฐานคิด คือ ความเท่าเทียมกัน เมื่อผู้ลี้ภัย ก็เป็นมนุษย์เช่นกัน จึงไม่ได้มีความแตกต่างที่ผู้ลี้ภัยจะได้สิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับประชาชนในรัฐนั้น เช่น สิทธิการเดินทางโดยเสรี จากการที่ผู้หนีภัยความตายไม่สามารถออกไปจากศูนย์พักพิงชั่วคราวได้ ผู้ลี้ภัยก็จะสามารถเดินทางในประเทศได้ และหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ รัฐที่ดูแลผู้ลี้ภัยอยู่ก็ต้องออกเอกสารเดินทางให้ รวมไปถึงสิทธิทางการศึกษาและสิทธิอื่นๆก็ต้องเท่าเทียมกันกันผู้ที่มีสัญชาติไทย เช่น การศึกษาก็ต้องได้รับเหมือนกันกับเด็กไทย

                             

                                   

หมายเลขบันทึก: 567984เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท