สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


          จากข้อเท็จจริงศึกษา ที่ [1]ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มีคำสั่งเนรเทศ สาธิต เซกัล ประธานหอการค้าไทย-อินเดีย และประธานกลุ่มนักธุรกิจสีลมออกจากประเทศไทยหลังจากที่ สาธิต เซกัล มีชื่อเป็นแกนนำ กปปส. และขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยคำสั่งของ ศรส. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ได้กล่าวว่า สาธิต เซกัล แกนนำ กปปส. และเป็นบุคคลต่างด้าว ได้ร่วมกระทำผิดในข้อหาต่าง ๆ และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อไปแล้ว ทาง ศรส. จึงแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทยโดยด่วน

          เมื่อศึกษาแล้วสามารถพิจารณาจากข้อเท็จจริงได้ดังนี้

          คนต่างด้าว หมายถึง บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยซึ่งคนต่างด้าวนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น ๕ ลักษณะ[2]ดังนี้

๑.คนต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยและอยู่ชั่วคราว

๒.คนต่างด้าวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย

๓.คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

๔.นักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีสัญชาติไทย

๕.คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง

          ลักษณะทั่วไปของ “การเนรเทศคนต่างด้าว”[3]

          การเนรเทศ หมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครองด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐโดยอาศัยกฎหมายเนรเทศ มิใช่กฎหมายคนเข้าเมือง นานาประเทศจะมีกฎหมายสองฉบับนี้เพื่อใช้ควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว การบังคับให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงเพราะคนต่างด้าวผู้นั้นได้มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของรัฐแต่การให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยอาศัยกฎหมายคนเข้าเมืองนั้นเกิดจากกรณีที่คนต่างด้าวผู้นั้นเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายคือเป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองซึ่งทำให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในราชอาณาจักรมาตั้งแต่ต้น

          โดยหลักกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว รัฐจะเนรเทศหรือขับไล่พลเมืองของตนออกจากราชอาณาจักรมิได้ข้อห้ามนี้เป็นสิ่งที่คู่กับหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับคนชาติของตนให้อาศัยอยู่ในดินแดนของตน (The Duty of Admission) กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกจากรัฐจะต้องให้คนชาติอาศัยอยู่ในรัฐแล้ว (เพราะเป็นสิทธิของคนชาติ) รัฐจะขับไล่หรือเนรเทศคนชาติของตนไม่ได้ด้วย นักกฎหมายระหว่างประเทศเรียกหลักนี้ว่า “Non-Expulsion of National” นอกจากนี้แล้วหลัก Non-Expulsion of National ก็ยังสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพราะรัฐหนึ่งรัฐใดมีอำนาจขับไล่คนชาติของตนออกนอกราชอาณาจักรแล้ว ก็จะเป็นการล่วงละเมิดเขตอำนาจรัฐของรัฐอื่นแต่เป็นสิทธิหรืออำนาจของรัฐที่จะเนรเทศคนต่างด้าวได้

          สำหรับประเทศไทยนั้น หลัก Non Expulsion of National ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า“การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรจะกระทำมิได้”และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 36 วรรคท้ายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เเล้วมาตรา 9 บัญญัติว่า“เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ที่จะต้องถูกพิจารณาเนรเทศ ผู้ที่จะต้องถูกพิจารณาเนรเทศนั้นจะต้องเป็นผู้นำพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติหรือเคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด”จากมาตรา 9 จึงเข้าใจได้ว่า รัฐจะเนรเทศคนชาติหรือพลเมืองไม่ได้ รัฐจะเนรเทศได้ก็เฉพาะคนต่างด้าวเท่านั้น อีกทั้งในพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 มาตรา 5 ก็ยังบัญญัติอย่างแจ้งชัดว่า“…..ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร…”ไม่มีบทบัญญัติใดที่บัญญัติความในลักษณะนี้ให้ใช้กับพลเมืองด้วย ฉะนั้น รัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนชาติหรือพลเมืองไทยออกไปนอกราชอาณาจักร แม้ว่าคนไทยจะกระทำความผิดร้ายแรงอย่างใดก็มิอาจที่จะถูกส่งเนรเทศไปอยู่นอกราชอาณาจักรไทยได้

          จากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)ข้อบทที่ 13 แห่ง ICCPR บัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐนั้นได้โดยคาวินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้น และขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ที่แต่งตั้งขึ้นเฉพาะการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจโดยได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจาเป็นอย่างอื่นด้านความมั่นคงแห่งชาติ” สาระสำคัญของข้อบทนี้คือ การเนรเทศคนต่างด้าวนั้นสามารถกระทำได้เพราะเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐ อย่างไรก็ตาม การเนรเทศนั้นต้องชอบด้วยกฎหมายภายในทั้งในแง่ของกระบวนการ (procedural) และเนื้อหาสาระของคำสั่งเนรเทศ(substance)[1] ซึ่งในกรณี นายสาธิต ศาลแพ่งมีความเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นของเขายังไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง จึงทำให้นายสาธิต เซกาล ยังสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อไป เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ

          การเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของคุณสาธิต เซกัลนั้น เป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยพรก. ฉุกเฉินบัญญัติให้ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองโดยอนุโลมโดยในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสาธิต กระทำผิดกฎหมายจริง โดยคณะกรรมการมีมติเห็นควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของนายสาธิต ตามมาตรา 53, 54 ประกอบกับมาตรา 12 (7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522"ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการ “ส่งคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย” โดยผลของการเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่ใช่เป็นการเนรเทศคนต่างด้าว (ในความหมายที่แท้จริง) เพราะว่าการเนรเทศนั้นมีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนี้อยู่แล้วคือพ.ร.บ. การเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499 โดยเหตุที่จะอ้างเพื่อเนรเทศนั้นเป็นตามมาตรา 5 ที่บัญญัติว่าเมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร…..” รัฐมนตรีที่มีอำนาจออกคำสั่งเนรเทศคือรมต. ว่าการกระทรวงมหาดไทย

          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเนื้อหาของมาตรา 5 แห่งพรบการเนรเทศ พ.ศ 2499 กับมาตรา 12 (7) แห่งพรบ. คนเข้าเมืองก็จะพบว่ามีเนื้อหาใจความคล้ายคลึงกัน โดยมาตรา 5 ของกฎหมายเนรเทศใช้ถ้อยคำกว้างและคลุมเครือคือ “เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ในขณะที่ กฎหมายคนเข้าเมืองมาตรา 12 (7) ใช้คำว่า “มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

          ดังนั้นมนุษย์ทุกคนแม้แต่คนต่างด้าว ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิในเสรีภาพ ดังกรณีศึกษานายสาธิต คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองในอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และในรัฐธรรมนูญไทยซึ่งเป็นกฎหมายภายที่รับรองสิทธิให้ทุกคนในประเทศ การที่ประเทศไทยเนรเทศนายสาธิต โดยเหตุที่นายสาธิตใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น ที่ไม่เข้าข้อจำกัดนั้น รัฐไทยจึงทำการะละเมิดสิทธิในเสรีภาพของนายสาธิต ซึ่งเป็นคนต่างด้าวทั้งที่เป็นผู้ทรงสิทธิดังกล่าว

อ้างอิง

[1] สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ”(ออนไลน์) http://hilight.kapook.com/view/97452 (สืบค้นวันที่13 พฤษภาคม 2557)

[2] การประชุมปฏิบัติการเรื่อง ‘คนต่างด้าวในประเทศไทยคือใครบ้าง ? มีจำนวนเท่าไร ? ระบบฐานข้อมูลแบบไหนคือคำตอบ ? (ออนไลน์) http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=75&d_id=75 (สืบค้นวันที่13 พฤษภาคม 2557)

 [3] ข้อะิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีการเนรเทศคุณ สาธิต เซกัล (ออนไลน์)  http://prachatai.com/journal/2014/03/52267 (สืบค้นวันที่13 พฤษภาคม 2557)

       

หมายเลขบันทึก: 567913เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท