คนต่างด้าวในประเทศไทย


         คนต่างด้าว (aliens) หมายถึง บุคคล ซึ่งพำนักอยู่ในรัฐ ที่ตนมิได้เป็นคนสัญชาตินั้น หรือเป็นพลเมืองของรัฐนั้น พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 4 บัญญัติว่า "คนต่างด้าว หมายถึง ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย" โดยทั่วไปแล้วประชาชน ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินของรัฐหนึ่งรัฐใด ย่อมประกอบไปด้วยบุคคลสองจำพวก คือ พลเมืองของรัฐนั้นจำพวกหนึ่ง กับอีกพวกหนึ่ง คือพลเมืองของรัฐอื่น ซึ่งเรียกว่า คนต่างด้าว คนต่างด้าว ที่เข้ามาอาศัยในดินแดนของรัฐใด ย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายของรัฐเช่นเดียวกับพลเมืองของรัฐนั้น แต่โดยทั่วไปแล้วคนต่างด้าวจะถูกจำกัดสิทธิ และหน้าที่บางประการ [1]

        ในเรื่องคนต่างด้าวนี้พอเทียบได้กับผู้เข้ามาอาศัยบ้านเราอยู่ ย่อมจะมีฐานะและมีสิทธิน้อยกว่าเจ้าของบ้าน พูดถึงฐานะก็ย่อมมีฐานะเป็นเพียงคนอาศัย ซึ่งด้อยกว่าฐานะเจ้าของบ้าน พูดถึงสิทธิต่างๆที่ผู้อาศัยจะพึงมีก็ย่อมมีน้อยกว่าสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ บ้าน สิทธิต่างๆที่ผู้อาศัยจะมีมากน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่เจ้าของบ้านจะกำหนดและมอบให้ และเจ้าของบ้านจะเรียกคืนหรือจำกัดสิทธิที่ให้แก่ผู้อาศัยนั้นเสียเมื่อไรก็ ได้ สุดแต่ความเหมาะสมและประโยชน์ของเจ้าของบ้านนั้นเอง

   ซึ่งประเทศไทยได้รับรองสิทธิในเสรีภาพในการประกอบอาชีพไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.43 บัญญัติว่า

        “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม                                  

         การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

          แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเสรีเพียงใด แต่ก็ยังพบว่ามีการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวไว้บางประการ ทั้งนี้เพราะรัฐย่อมจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สุขของคนชาติของตน และความจำเป็นในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ ในการที่จะพิจารณาให้สิทธิแก่คนต่างด้าวมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในทางการเมือง ซึ่งได้แก่สิทธิในการมีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศหรือในกิจการของ รัฐบาล ไม่มีรัฐใดให้สิทธินี้แก่คนต่างด้าว ส่วนสิทธิอื่นๆเช่นสิทธิในการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือทรัพย์สินบางอย่างก็ ถูกจำกัด หรือให้มีสิทธิได้เพียงเท่าที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยในประเทศนั้น และเท่าที่ไม่ขัดต่อประโยชน์และเศรษฐกิจของประเทศ  [2]

      ตามหลักปฏิบัติกันระหว่างประเทศ รัฐอาจจำกัดสิทธิบางอย่างของชนต่างด้าวที่มิใช่สิทธิหลักมูล สิทธิที่รัฐอาจจำกัดมีดังต่อไปนี้

๑. สิทธิในทางการเมือง

สิทธิในทางการเมือง หมายถึง สิทธิในการมีส่วนในรัฐบาลของประเทศ หรือสิทธิในการมีส่วนในการปกครองประเทศ ทั้งการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

โดยสิทธิดังกล่าวนี้ปกติรัฐจะสงวนไว้ให้เป็นสิทธิของประชาชนที่มีสัญชาติของประเทศตนเท่านั้น เพราะสิทธิ ทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐ ดังนั้นรัฐจะไม่ยอมให้คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศในฐานะผู้อาศัยมี สิทธิเหล่านี้ โดยสงวนไว้ให้แก่พลเมืองเจ้าของประเทศเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในความปลอดภัยและคงวามดำรงอยู่ของประเทศนั่นเอง

๒. สิทธิในการประกอบธุรกิจ

อาชีพหรือวิชาชีพบางชนิดมีลักษณะที่อาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่หรือ เอกราชของรัฐ รัฐซึ่งมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองจึงชอบที่จะตรากฎหมายออกมาจำกัดสิทธิมิให้ คนต่างด้าวประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะดังกล่าวนั้นได้ ดังนั้นรัฐแต่ละรัฐจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าอาชีพใดบ้างที่อาจกระทบ กระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือความเป็นอยู่ของรัฐ และย่อมมีอำนาจที่จะตรากฎหมายออกมาห้ามมิให้ชนต่างด้าวประกอบอาชีดังกล่าว

    แต่ในทาง ปฏิบัติ รัฐพยายามจำกัดสิทธิของชนต่างด้าวในการประกอบอาชีพน้อยที่สุดโดยพิจารณาแต่ เฉพาะที่เห็นว่าจำเป็นแก่ความเจริญในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพราะการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพนี้ รัฐต้องคำนึงถึงว่า รัฐต่างประเทศอาจใช้หลักปฏิบัติต่างตอบแทนทำการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ แก่พลเมืองสัญชาติของตนที่เข้าไปประกอบอาชีพในรัฐต่างประเทศนั้นได้

ในที่นี้จะขอแยกกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวในการประกอบอาชีพ ออกเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

๑.) กฎหมายที่มีบทบัญญัติกำหนดว่าอาชีพนั้นๆคนต่างด้าวไม่มีโอกาสทำได้

- กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

- กฎหมายว่าด้วยเรือไทย

- กฎหมายว่าด้วยการประกอบการประมงในเขตการประมงไทย

๒.) กฎหมายที่บัญญัติสงวนอาชีพบางอย่างไว้สำหรับคนไทย

- การทำหรือการหล่อพระพุทธรูป

- การทำเครื่องเขิน

- การทำเครื่องถม

- การขับขี่จักรยานสามล้อรับจ้าง

- การขับขี่จักรยานยนต์สามล้อรับจ้าง

- การขับรถยนต์สาธารณะ

- การทำนา (เว้นแต่การปลูกข้าวในร่องสวน)

- การทำนาเกลือ

- การตัดผม

- การเรียงพิมพ์อักษรไทย

- การตัดผมสตรี

- การแต่งผมสตรี

- การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสตรี

๓.) กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ว่าอาชีพใดที่คนต่างด้าวทำไม่ได้

- กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

- กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

๓. สิทธิในการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (ที่ดิน)

ทรัพย์สินบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่ดิน รัฐส่วนมากไม่ยอมให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ได้ ไม่ว่าจะได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางนิติกรรมหรือโดยทางมรดกก็ตาม นั่นคือ การที่แต่ละประเทศไม่ยอมให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในดินแดนของตน ได้ หรือยอมให้มีได้แต่ก็เป็นจำนวนเล็กน้อยนั้น เพราะที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในความเป็นอยู่ของรัฐ ถ้าที่ดินในรัฐตกเป็นของคนต่างด้าวเสียเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมดแล้ว อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของรัฐได้

๔. สิทธิในการมีถิ่นที่อยู่อาศัย

รัฐจะจำกัดให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาเฉพาะภายในเขตใดเขตหนึ่งหรือบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยเฉพาะได้หรือไม่ ในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าในยามสงบรัฐไม่อาจจำกัดเช่นนั้นได้ เพราะจะเป็นการขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑๓(๑) ที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ” แต่อย่างไรก็ตาม รัฐอาจห้ามมิให้คนต่างด้าวทั้งที่เป็นคนเข้าเมือง และมิใช่คนเข้าเมือง เข้าไปมีถิ่นที่อยู่ภายในเขตใดเขตหนึ่งโดยเฉพาะได้ เช่นภายในเขตเมืองที่ตั้งทางทหารหรือเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นต้น ส่วนในยามสงครามแล้ว รัฐย่อมจะจำกัดบริเวณให้คนต่างด้าวมีถิ่นที่อยู่เฉพาะภายในบริเวณใดบริเวณ หนึ่งได้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคนต่างด้าวเหล่านั้น

๕. สิทธิต่างๆตามกฎหมายมหาชน

สิทธิตามกฎหมายมหาชนนั้น บางอย่างคนต่างด้าวมีเช่นเดียวกับคนไทย แต่สิทธิบางอย่างคนต่างด้าวไม่มี หรือที่จำกัดให้มีได้เฉพาะคนมีสัญชาติไทยเท่านั้น

สำหรับสิทธิตามกฎหมายมหาชนที่คนต่างด้าวมีได้เช่นเดียวกับคนสัญชาติไทย ได้แก่

๑.) สิทธิในการที่จะได้รับความคุ้มครองและความมั่นคงสำหรับตนและทรัพย์สิน

๒.) สิทธิในการศึกษาหาความรู้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ปกติคนต่างด้าวย่อมจะศึกษาหาความรู้วิชาใดๆก็ได้ เว้นแต่ วิชาบางอย่างเป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เช่น วิชาการทหาร

๓.) สิทธิในเสรีภาพส่วนบุคคลเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม ของประชาชน เช่น สิทธิในการนับถือและประกอบพิธีทางศาสนาและความเชื่อถือต่างๆ สิทธิในการพูด การเขียน การโฆษณา

    ซึ่งจากกรณีข้างต้นจะเห็นว่า แม้คนต่างด้าวจะมีความสามารถประกอบอาชีพบางประการ หรือ สามารถได้รับสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่หากกฎหมายได้บัญญัติห้าม หรือจำกัดสิทธิบางประการไว้ ก็จะทำให้คนต่างด้าวไม่สามารถประกอบอาชีพ และ ไม่ได้รับสิทธิที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ซึ่งตามความเห็นข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคิดว่า โดยหลักการจำกัดสิทธิจะกระทำโดยตามใจมิได้ เนื่องจากเสรีภาพในการประกอบอาชีพเป็นสิทธิมนุษยชน อย่างหนึ่ง คือ มนุษย์จะได้รับการรับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนชาติหรือคนต่างด้าว ก็จะมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพเหมือนกัน ซึ่งการจำกัดการประกอบอาชีพและสิทธิของคนต่างด้าวบางประการเป็นการจำกัดที่มากเกินความจำเป็น ทั้งนี้ทางภาครัฐควรยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของคนต่างด้าวจนเกินไป และ เพื่อไม่ให้นำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เขียนเมื่อ : วันที่ 13 พฤษภาคม 2557

อ้างอิง

[1] ต่างชาติ กับ ต่างด้าว แตกต่างกันอย่างไร?

http://guru.sanook.com/21278/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0...

[2] คนต่างด้าว (๑)

http://www.l3nr.org/posts/465919

หมายเลขบันทึก: 567910เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท