มนุษย์ที่ข้ามชาติ


     ปัญหาความไร้สัญชาติ (Nationalityless) ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลธรรมดา ก็คือ สภาพที่บุคคลไม่มีสัญชาติของประเทศใดเลยในโลก กล่าวโดยหลักกฎหมายได้ว่า คนไร้สัญชาติมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทุกประเทศของโลก

     แต่ปัญหาไร้สัญชาติจะรุนแรงมากขึ้นหากบุคคลไม่ได้รับการยอมรับให้ “สิทธิอาศัย” โดยรัฐใดเลยในโลก โดยผลของกฎหมาย บุคคลในสถานการณ์นี้จึงตกเป็น“คนต่างด้าวผิดกฎหมาย” ในทุกประเภทของโลก บุคคลในลักษณะนี้จึงตกเป็น “คนไร้รัฐ” (Stateless) โดยสิ้นเชิง

     ในประเทศไทย ปรากฏมีทั้ง คนไร้สัญชาติที่ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยแล้ว และ คนไร้สัญชาติที่ยังมิได้รับสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทย

     ตัวอย่างของเด็กไร้สัญชาติที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งที่ผมได้ศึกษามาคือน้องดนัย ยื่อบ๊อ ซึ่งเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 ที่โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มารดาชื่อนางหมี่ยื่ม ยื่อบ๊อ เป็นชาวอาข่า แต่ได้รับสัญชาติไทยแล้วในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 และมีบิดาชื่อนายอาบู ชาวอาข่าที่อพยพมาจากประเทศเมียนมาร์ ที่เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

     ทั้งนี้การได้มาซึ่งสัญชาตินั้น บุคคลนั้นจะต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐนั้นอย่างใกล้ชิด เช่นได้ตามหลักการสืบสายโลหิต คือได้มาจากบิดามารดา หรือได้ตามหลักดินแดน คือเกิดในรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ น้องดนัยเกิดในประเทศไทย จึงน่าจะได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน แต่สูติบัตรของน้องดนัยระบุว่าไม่ได้สัญชาติไทย เนื่องจากพระราชบัญญัติสัญชาติ ม.7 ทวิ3 วางหลักว่า "ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตาม วรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย คนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

     ซึ่งในกรณีของน้องดนัยนั้น ถูกสันนิษฐานว่าเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจาก บิดามารดาไม่ได้มีสัญชาติไทยในขณะที่น้องดนัยเกิด อีกทั้งยังเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้น้องดนัยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องสัญชาติซึ่งส่งผลให้เสียสิทธิไปหลายอย่าง แต่ในปัจุบันทางราชการได้ยอมเพิ่มชื่อของน้องดนัยลงในทะเบียนแล้ว

     นอกจากน้องดนัยแล้ว ยังพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการได้สัญชาติอีกมากมายเช่น น้องหม่อง ทองดี อายุ 12 ปี ซึ่งชนะการร่อนเครื่องบินกระดาษ แต่ไม่มีสัญชาติไทยเนื่องจากบิดามารดาเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า จึงทำให้ไม่สามารถทำหนังสือเดินทางเพื่อออกนอกประเทศไปแข่งขันได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่น่าเสียดายสำหรับการทำลายความฝันและความสามารถของเด็กคนหนึ่ง และอาจถือได้ว่าประเทศไทยไม่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเด็กเลยทีเดียว

     ซึ่งในที่สุดแล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยจนได้ไปแข่งขันและได้รับชัยชนะกลับมา นอกจากนี้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิชกล่าวว่าทางกระทรวงวิทยาศาสตร์จะแต่งตั้งให้เป็นยุวทูตประจำกระทรวงตลอดจนมีแผนมอบทุนการศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาจากการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาการได้สัญชาติเนื่องจากบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวแล้วบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นคนข้ามชาติได้ก็คือ บุคคลที่เข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายไม่ว่าจะเข้ามาโดยวิธีการใดก็ตาม อาจจะเป็นการลักลอบ หรือ หลบหนีเข้ามาก็ตาม ซึ่ง ตัวอย่างที่จะพบได้ คือ ตามตะเข็บชายแดนของประเทศไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งไม่มีรั้วกั้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่แถบนั้นสามารถสัญจรไปมาได้ โดยที่เขาอาจไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย เพราะเขามองว่าการเข้าออกไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเช่นนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่คนแถบนั้นทำกัน

     ซึ่งความเขาใจผิดของคนข้ามชาติที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายคือไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทย อันจะทำให้เขาเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมายทั้ง การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาอาจไม่ได้รับรองสิทธิบางประการจากรัฐบาลไทย จึงทำให้เกิดประเด็นที่ว่ารัฐบาลไทยไปละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านี้หรือไม่ ในความคิดของผมนั้นเขาเหล่านั้นเข้าประเทศไทยมาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้รัฐบาลไทยรับรองสิทธิทุกประการของพวกเขาอย่างคนที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายได้ สิทธิที่ประเทศไทยจะสามารถรับรองให้พวกเขาได้ คงจะมีเพียงแต่สิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลเท่านั้น หากจะให้ความคุ้มครองตามหลักกฎหมายไทยแล้วคงจะเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

-http://th.wikipedia.org/wiki/หม่อง_ทองดี

-http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=278&d_id=277

หมายเลขบันทึก: 567876เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 02:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท