ข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์ Amazing Grace


                                                       

                                                    

ข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์ Amazing Grace

               เรื่องราวการต่อสู้อันยาวนานของวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษที่มีความพยายามในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการยกเลิกการค้าทาสผิวดำชาวแอฟริกัน ในยุคที่การค้าทาสอยู่ในช่วงที่ทำกำไรแก่พวกพ่อค้าอย่างมหาศาล การซื้อขายทาสในยุคนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ การกดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานอย่างหนักหนาสาหัส การกระทำการอันป่าเถื่อนและทารุณโหดร้าย การเหยียดสีผิว อันเป็นการกระทำที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทาสเหล่านั้น ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ให้ความคุ้มครอง อีกทั้งแรงงานทาสเหล่านี้ยังเป็นแรงงานสำคัญในการทำเกษตรกรรม เช่น น้ำตาล จึงมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในรัฐสภาว่าการยกเลิกการค้าทาสถือเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษ ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงในการขัดขวางการเลิกทาสนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นการมีส่วนได้เสียในผลประโยชน์ของการค้าทาสเป็นแน่แท้ทำให้วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ต้องต่อสู้ในการนำเสนอร่างกฎหมายเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี จนในที่สุดพระราชบัญญัติเลิกทาสก็ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่26 กรกฎาคม ค.ศ.1833

                 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้บรรลุผลสำเร็จได้ คือ การออกกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติเรือ โดยการบังคับให้เรือขนส่งสินค้าทุกลำต้องติดธงประจำเรือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอกสัญชาติเรือซึ่งเรือขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ติดธงกลางซึ่งเป็นธงของสหรัฐอเมริกามักจะเป็นเรือที่ต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี และเป็นเรือที่มีการลักลอบค้าทาสจากประเทศแอฟริกาโดยทาสเหล่านี้บางคนก็ถูกจับมาโดยไม่เต็มใจ พวกเขาจะถูกขังไว้ในกรงเหล็ก โดนบังคับให้ทำงานหนัก ผู้หญิงบางคนอาจจะโดนข่มขืน หากทาสคนใดป่วย หรือตาย หรือหากว่าเรือมีน้ำหนักมากเกินไป ทาสเหล่านั้นก็อาจจะถูกโยนทิ้งกลางทะเลต่อเมื่อมีการออกกฎหมายสัญชาติเรือ เรือทุกลำที่ติดธงชาติของประเทศอื่นจะต้องถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นในช่วงเวลาเพียงชั่วข้ามคืนเรือค้าทาสกว่า80 เปอร์เซ็นต์ ก็จะหายไปเพราะกลัวว่าจะถูกตรวจสอบ ซึ่งเป็นแผนการอันแยบยลที่ใช้เพื่อบังหน้าในการขจัดการเลิกทาสทางอ้อมก่อนที่จะมีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกการค้าทาสสำเร็จ

                  จากเหตุการณ์ความเลวร้ายในการค้าทาสดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศต่างๆในโลกมีการออกกฎหมายยกเลิกการค้าทาสตามอย่างประเทศอังกฤษและในเวลาต่อมาได้มีการออกกฎหมายซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ เรียกว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี ค.ศ.1948 ซึ่งปรากฏหลักกฎหมายบางข้อที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เช่น

ข้อ 1 มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดร

ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตเสรีภาพและความมั่นคงแห่งบุคคล

ข้อ 4 บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาสหรือสภาวะจำยอมไม่ได้ทั้งนี้ห้ามความเป็นทาสและการค้า ทาสทุกรูปแบบ

ข้อ 5 บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือ ย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้

ข้อ 7 ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใดอัน เป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้และจากการยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว

เป็นต้น

               จากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้แง่คิดเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ว่าทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติ ชนเผ่า เพศ สีผิว ภาษา หรือนับถือศาสนาใด ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยอคติ ดังเช่นที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ การที่เขาเป็นทาสหรือมีสีผิวดำ หาใช่เหตุผลที่จะทำให้เขาต้องถูกกดขี่ข่มเหง ลดทอนหรือเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ไม่ เพียงเพราะเหตุจากความต่างกันทางพันธุกรรม สังคม เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ดังตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์โลก คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยฮิตเลอร์ผู้นำเผด็จการของเยอรมันจากเหตุการณ์โหดร้ายนี้เองที่ทำให้เพื่อนมนุษย์ได้ตระหนักถึงการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ใครจะมาละเมิดหรือพรากไปมิได้

             นอกจากนี้ในความอดทนพยายามนำเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับของวิลเลียมวิลเบอร์ฟอร์ซ ที่ประสบกับความล้มเหลวหลายครั้งจนสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ก็เนื่องมาจากการออกกฎหมายสัญชาติเรือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องทางในการค้าทาสของพวกพ่อค้าถูกกีดกัน ส่งผลให้การค้าทาสลดลงเป็นจำนวนมาก ย่อมสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า เราสามารถใช้วิธีการอื่นๆที่หลากหลายในการแก้ปัญหาได้ หรือการแก้ปัญหาทีละขั้นตอน การมองในมุมต่างก็จะช่วยให้เราสามารถบรรลุถึงเป้าหมายหลักได้ในที่สุด

แหล่งอ้างอิงและค้นคว้าเพิ่มเติม

1.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights),สืบค้นเมื่อ 12 พ.ค.2557, จาก:http://www.investigation.inst.police.go.th/download/02015704.pdf

2.สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง,สัญชาติเรือ,สืบค้นเมื่อ 12 พ.ค.2557,จาก:http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/nationalityship/nationalityship.html

3.Michale,Amazing Grace สู้เพื่ออิสรภาพหัวใจทาส,สืบค้นเมื่อ 12 พ.ค.2557,จากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=181700

หมายเลขบันทึก: 567868เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท