HR-LLB-TU-2556-TPC-​​ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


          ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย – สิทธิต่างๆของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย



( ที่มารูปภาพ : http://www.tobethai.org/drupal/sites/default/files/images/1(3).jpg )

          เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมต้องมีสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกับมนุษย์คนอื่นทั่วทั้งโลก ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศใด เชื้อชาติใด ศาสนาใดก็ตาม แนวคิดเช่นนี้ถูกนำไปใช้กับคนเข้าเมืองผิดกฎหมายเช่นกัน คนเข้าเมืองเป็นผิดกฎหมายก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ความเป็นมนุษย์ของเขาไม่ได้จบลงพร้อมๆกับการกระทำผิดกฎหมายนั้น ดังนั้น คนเข้าเมืองผิดกฎหมายย่อมมีสิทธิ เสรีภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับคนอื่นทั่วๆไป เราต้องแยกการกระทำที่ผิดกฎหมายออกจากสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกจากกัน เราไม่สามารถมองว่าถ้าเขากระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำให้เขาสิ้นสิทธิไปเสียหมดทุกอย่าง บทความนี้จะขอพิจารณาถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

          สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม.41 บัญญัติว่า

          “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

          สิทธิ คือ ประโยชน์หรืออำนาจของบุคคลที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ เช่น สิทธิในครอบครัว สิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในการเลือกอาชีพ ถิ่นที่อยู่ การเดินทาง สิทธิในทรัพย์สิน เป็นต้นส่วนเสรีภาพ คือ อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองของมนุษย์ที่จะเลือกดำเนินพฤติกรรมของตนเอง โดยไม่มีบุคคลอื่นใดอ้างหรือใช้อำนาจแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น และเป็นการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะกระทำหรือไม่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีและวัฒนธรรม2

          ส่วนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการยอมรับของบุคคลในสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ยอมรับว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา และปฏิบัติกับเขาอย่างมนุษย์ปฏิบัติกับมนุษย์ เช่นนี้ การรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับบุคคลย่อมเป็นการให้ค่าว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จะมีสิทธิเสรีภาพได้ ดังนั้น การรับรองสิทธิเสรีภาพย่อมเป็นการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน3

          หากพิจารณาถึงคนเข้าเมืองนั้น คนเข้าเมืองตามกฎหมายไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น3กรณีคือ คนเข้าเมืองโดยข้อเท็จจริงคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และคนสัญชาติไทยที่ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในสัญชาติไทย ถ้าคนเข้าเมืองโดยข้อเท็จจริงเข้าเมืองมาไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ก็จะกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่วนคนต่าวด้าวที่เกิดในประเทศไทย กับคนสัญชาติไทยที่ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในสัญชาติไทยก็จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เว้นแต่ว่าจะไปขออนุญาตเข้าเมืองหรือพิสูจน์สัญชาติไทยได้ แล้วแต่กรณี

          อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เราต้องการจะคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา เราควรจะรับรองสิทธิ เสรีภาพให้เขา เพื่อให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

          ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาของน้องนิก หรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำ ในเรื่องการรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อให้เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะสิทธิในการศึกษา และสิทธิในการรักษาพยาบาลของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

          น้องนิก หรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำ อายุราว 19ปี ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เขายังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย น้องนิกจึงเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง น้องนิกเข้ามาในประเทศไทยเมื่ออายุประมาณ3-4ขวบซึ่งมาอาศัยอยู่กับป้าที่จังหวัดตรัง มารดาของน้องนิกเป็นคนไทยลื้อไร้รัฐไร้สัญชาติ ในเวลาที่เดินทางเข้าประเทศไทย บิดามารดาและน้องนิกไม่มีหนังสือเดินทางหรือได้รับการตรวจลงตราใดๆทั้งสิ้น ทั้งสามคนจึงเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไม่สามารถดำเนินคดีกับน้องนิกได้ เนื่องจากน้องนิกยังไม่มีเจตนาในการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะขณะที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย น้องนิกอายุเพียง3-4 ปีเท่านั้น ได้แต่เพียงติดสอยห้อยตามพ่อแม่ ยังไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดแต่อย่างใด

          เมื่อน้องนิกอาศัยอยู่ได้สักระยะหนึ่ง คุณป้าก็ได้นำน้องนิกเข้าโรงเรียน ในขณะนั้นคุณป้ากลัวว่าโรงเรียนจะไม่รับน้องนิกเข้าศึกษา จึงได้นำเอกสารประจำตัวของลูกชายของคุณป้ามาใช้แทน สุดท้ายน้องนิกก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียน

          แต่แม้ว่าคุณป้าจะไม่ได้ใช้เอกสารของลูกชายของคุณป้าแสดงตัวเป็นน้องนิกในการเข้าศึกษา แม้ว่าน้องนิกจะไม่มีเอกสารแสดงตัวใดๆเลยก็ตาม น้องนิกผู้ซึ่งเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ยังมีสิทธิในการศึกษา อ้างอิงจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 (1)4 บัญญัติว่า

          “ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสําหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม”

          แม้ว่าเขาไม่มีรัฐ ไม่มีสัญชาติใดๆ เขาก็สามารถเข้าถึงสิทธิในการศึกษาได้ นอกจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกฎฆมายระหว่างประเทศแล้ว กฎหมายภายในประเทศก็ยังรับรองสิทธิในการศึกษาด้วยเช่นกันดังที่บัญญัติไว้ใน ม.10 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 25525

          “การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ”

          ผู้ทรงสิทธิตามพรบ.นี้เป็นบุคคล ใครก็ตามที่เป็นมนุษย์ก็ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามพรบ.นี้ ไม่ว่าจะมีรัฐมีสัญชาติหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าน้องนิกจะไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ผู้อำนวยการสถานศึกษาก็ต้องจัดให้น้องนิกได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยให้ครูจัดทำเอกสารแสดงตนให้ ถ้าผู้อำนวยการสถานศึกษาไม่ยอมรับน้องนิกเข้าศึกษา ผู้อำนวยการอาจถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ตามม.157 ประมวลกฎหมายอาญาได้

          ดังนั้น คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะมีรัฐมีสัญชาติหรือไม่ก็ตาม เขาก็จะได้รับสิทธิในการศึกษา เพื่อให้เขาพัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

          นอกจากสิทธิในการศึกษาแล้ว สิทธิที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกสิทธิหนึ่งคือ สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล หากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีได้แล้ว ชีวิตก็จะเต็มไปด้วยความเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยากลำบาก

          สำหรับตัวของน้องนิกนั้น ยังคงไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากน้องนิกยังคงไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ยังเข้าไม่ถึงสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลได้ ทั้งที่สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกกำหนดไว้ใน ข้อ25(1) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน6 ดังนี้

          “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จําเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดํารงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน”

          การดูแลรักษาทางการแพทย์หรือการรักษาพยาบาลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตมนุษย์ นอกจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังมีกฎหมายภายในที่เป็นกฎหมายแม่บทซึ่งกล่าวถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลไว้ด้วยเช่นกัน คือ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ม.5 วรรคหนึ่ง7 บัญญัติว่า

          “บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กําหนดโดยพระราชบัญญัตินี้ ”

          ผู้ทรงสิทธิตามพรบ.นี้เป็นบุคคล ใครก็ตามที่เป็นมนุษย์ก็ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามพรบ.นี้ ไม่ว่าจะมีรัฐมีสัญชาติหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าน้องนิกจะไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ก็ควรจะได้รับสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขหรือการรักษาพยาบาลนี้ เพื่อให้ตนสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

          จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การที่คนเข้าเมืองผิดกฎหมายหนึ่งจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น รัฐต้องรับรองสิทธิในเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งตัวอย่างสิทธิที่สำคัญในการดำรงชีวิตแบบมนุษย์คือสิทธิในการศึกษา และสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล สำหรับตัวน้องนิก ไม่ว่าจะมีรัฐมีสัญชาติหรือไม่ เขาก็ยังคงจะได้รับสิทธิทั้งสองสิทธินี้ เพื่อให้เขาซึ่งเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและสังคมต่อไปได้ในอนาคต



จิดาภา รัตนนาคินทร์

12 พฤษภาคม 2557



1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. 2550. แหล่งที่มา : http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Consti...12พฤษภาคม 2557.

2 สุเทพ เอี่ยมคง. สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย. แหล่งที่มา : http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย. 12พฤษภาคม 2557.

3 ความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์. แหล่งที่มา : http://www.ongkarn-leio.org/knonwlege.php. 12พฤษภาคม 2557.

4 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. แหล่งที่มา : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf. 12 พฤษภาคม 2557.

5 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. แหล่งที่มา : http://www.wbtvonline.com/pdf/9-04-201409-25-55.pdf. 12 พฤษภาคม 2557.

6 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 4

7 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545. แหล่งที่มา : http://www.moph.go.th/ops/minister_06/Office2/30%20baht%20law.pdf. 12 พฤษภาคม 2557.

หมายเลขบันทึก: 567830เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท