สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว : เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

      การแสดงความคิดเห็นเกิดขึ้นตลอดเวลาในการดำเนินชีวิต คงไม่มีใครที่จะไม่มีความคิดเห็นในเรื่องใดๆเลย ความคิดเห็นของแต่ละคนแตกต่างกันไปตามความรู้ ประสบการณ์หรือปัจจัยอื่นๆ การแสดงความคิดเห็นจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมี ไม่ว่าจะเป็นใคร สัญชาติใดก็ตาม ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR)มีการบัญญัติรับรองไว้ในข้อ 19 ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้บัญญัติรับรองไว้เช่นเดียวกัน โดยอยู่ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

      อย่างไรก็ตามมีความเห็นเกี่ยวกับผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 45 ข้างต้น กล่าวคือ ความเห็นแรกมองว่าผู้ทรงสิทธิหมายเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในรัฐสังเกตได้จากรัฐธรรมนูญซึ่งใช้คำว่า "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย" ความเห็นที่สองมองว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดก็ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิได้ แม้จะอยู่ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของคนชาวไทย

      กรณีศึกษานายสาธิต เซกัล ซึ่งเป็นคนสัญชาติอินเดีย ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย แกนนำกลุ่ม กปปส.และได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวที กปปส. ถูกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศรส.) มีมติให้เนรเทศออกนอกประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ในหมวด 6การส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร โดยในมาตรา 53 ระบุว่า คนต่างด้าวซึ่งเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้วภายหลังปรากฏว่าเป็น บุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 12 (7) มาตรา 12 ระบุว่า ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราช อาณาจักร และใน (7) ระบุว่า มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

       จากกรณีศึกษาข้างต้นทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การแสดงความคิดเห็นของคนต่างด้าวในประเทศไทยจะสามารถทำได้หรือไม่ และการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเสรีภาพในการเข้าร่วมทางการเมืองหรือไม่ ในความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่าการขึ้นปราศรัยบนเวทีทางการเมืองเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง ยังไม่ถึงขั้นการเข้าร่วมทางการเมืองซึ่งคนต่างด้าวไม่สามารถทำได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยอื่นๆยังไม่มีการรับรองให้คนต่างด้าวสามารถมีสิทธิในการเข้าร่วมทางการเมืองกล่าวคือสิทธิที่เกี่ยวกับการปกครองประเทศ เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือการมีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น แต่เมื่อเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน และได้รับการรับรองจาก ICCPR ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าร่วมลงนามด้วย จึงมีผลผูกพันให้รัฐไทยต้องปฏิบัติตาม และข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความเห็นในการตีความมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชน ดังนั้นผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 45 หมายรวมถึงคนต่างด้าวด้วย ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าบุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองได้เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างหนึ่งที่มีกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศรับรองไว้ให้

อ้างอิงข้อมูล

เกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง.สิทธิในการเข้าร่วมทางการเมืองของคนต่างด้าวในประเทศไทย.เข้าถึงได้จาก: 

      http://www.senate.go.th/lawdatacenter/includes/......[ออนไลน์].(วันที่ค้นข้อมูล:10 พฤษภาคม 2557).

บรรเจิด.2557.เบื้องหลัง มท.งัดข้อ ศรส.ไม่สนคำสั่งเนรเทศ สาธิต เซกัล.เข้าถึงได้จาก: 

      http://www.oknation.net/blog/bunjerds/2014/02/12/e... พฤษภาคม 2557).

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

เขียนบันทึกวันที่ 10 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 567699เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท