สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิ คือ ประโยชน์หรืออำนาจของบุคคลที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองมิให้มีการละเมิด รวมทั้งบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิในกรณีที่มีการละเมิดด้วย เช่น สิทธิในครอบครัว สิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในการเลือกอาชีพ ถิ่นที่อยู่ การเดินทาง สิทธิในทรัพย์สิน เป็นต้น

เสรีภาพ หมายถึง อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองของมนุษย์ที่จะเลือกดำเนินพฤติกรรมของตนเอง โดยไม่มีบุคคลอื่นใดอ้างหรือใช้อำนาจแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น และเป็นการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะกระทำหรือไม่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่การที่ มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแล้วแต่ละคนจะตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการสิ่งใดนอกเหนือ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ย่อมต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม[1]

คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499 หมายความว่า ผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย[2]

การขึ้นเวทีเพื่อแสดงความเห็นของบุคคลบุคคลหนึ่งก็เป็นสิทธิในการแสดงความเห็นที่ได้รับรองในรัฐธรรมนูญไทย 2550 อีกทั้งยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมพ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคมพ.ศ. 2540[3] ในข้อ19 ซึ่งกำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง [4]

กรณีของนายสาธิต เซกัล เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศอินเดียพี่น้องทั้งหมด 4 คน ทุกคนได้สัญชาติไทยทั้งหมด แต่สาธิต เซกัลนั้นยังคงถือสัญชาติอินเดียอยู่จึงเป็นบุคคลข้ามชาติและเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499 แต่เนื่องจากเขาเป็นแกนนำ กปปส.และขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อมาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทย[5]

โดยการเนรเทศนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499มาตรา 5 ซึ่งวางหลักว่าเมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควรอนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปรัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้และในวรรค 2 ซึ่งวางหลักว่า ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด จากข้อเท็จจริง นายสาธิต เซกัลเกิดที่ประเทศอินเดีย มีบุพการีเป็นคนสัญชาติอินเดีย ดังนั้นนายสาธิต เซกัลจึงเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย เข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องและมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามกฎหมาย ดังนั้นนายสาธิตจึงอาจถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยได้หากมีเหตุอันสมควรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5

อีกทั้งยังมีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อ 13 ซึ่งกำหนดให้คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐนั้นได้โดยคำวินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้น และขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ที่แต่งตั้งขึ้นเฉพาะการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจโดยได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นอย่างอื่นด้านความมั่นคงแห่งชาติ

แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำของนายสาธิต เซกัลป์มีเพียงการเป็นแกนนำของกปปส. และขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นเพียงการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นซึ่งได้รับการรับรองในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยในฐานะของรัฐภาคีจึงควรคุ้มครองสิทธิของนายสาธิต เซกัล ไม่ให้ผู้ใดมาละเมิดได้ อีกทั้งการที่ครส. จะเนรเทศนายสาธิตนั้นจะต้องมีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นายสาธิตย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้นได้ ไม่อาจอ้างกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายฐานในการอ้างอิงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากเนรเทศนายสาธิตจะเป็นการละเมิดสิทธิในการอยู่อาศัยในประเทศไทยในข้อ 13 (1) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดให้ ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ[6] และข้อ 12 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กำหนดให้ บุคคลทุกคนที่อยู่ในดินแดนของรัฐใดโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการโยกย้าย และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในดินแดนของรัฐนั้น

[1] สุเทพ เอี่ยมคง. สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php. 16 สิงหาคม 2556.

[2]ศูนย์ทนายความทั่วไทย. พรบ.การเนรเทศ พ.ศ.2499. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973744&Ntype=19. 6 พฤษภาคม 2557

[3]วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org. 16 กุมภาพันธ์ 2557.

[4] กระทรวงการต่างประเทศ. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf. 6 พฤษภาคม 2557 ‎

[5] กระปุกดอทคอม. สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/97452. 6 rAK4k8. 6 พฤษภาคม 2557

[6] กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 6 พฤษภาคม 2557

เขียนวันที่ 6 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 567599เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2014 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท