ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


          สิทธิในสุขภาพ(Right to health)หมายถึง ประโยชน์อันพึงได้รับการรับรองและคุ้มครองในการมีสุขภาพอนามัยดี โดยรัฐมีหน้าที่ในการทำให้บุคคลเข้าถึงมาตรฐานในการดูแลสุขภาพอนามัย ในสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้า บริการ ตลอดจนเงื่อนไขที่จำเป็น สิทธิดังกล่าวรวมถึงสิทธิในการดูแลสุขอนามัย(Health Care) และสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข[1]

          สิทธิในการมีสุขภาพดีนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ซึ่งได้มีการรับรองไว้ในกฎหมายต่างๆ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

          กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนข้ามชาติที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสเพราะมีปัญหาสุขภาพจนไม่อาจดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือไร้การรับรองทั้งรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร และรัฐเจ้าของสัญชาติ[2]

          กรณีของน้องผักกาด หรือ ด.ญ.ผักกาด เกิดที่โรงพยาบาลแม่สอดเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๙ โดยไม่มีการแจ้งเกิด บุพการีเป็นคนมาจากเมียนมาร์ ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงกล่าวคือไร้ทั้งรัฐไร้ทั้งสัญชาติ ตลอดจนถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายคนเข้าเมืองของทุกรัฐบนโลก โดยน้องผักกาดพิการตั้งแต่กำเนิด พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ อาการป่วยหนักมาจากการที่ศีรษะบวมใหญ่มาก จึงถูกบุพการีทอดทิ้ง ไร้สิทธิในหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่๒๓มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ทั้งที่มีปัญหาสถานะบุคคล

         กรณีของน้องจอหนุแฮ หรือ ด.ช.จอหนุแฮ ไม่มีนามสกุล เกิดในเมียนมาร์และบุพการีเป็นคนเมียนมาร์ อาศัยอยู่ที่โรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยน้องจอหนุแฮน่าจะยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับน้องผักกาด น้องจอหนุแฮมีอาการป่วยคือปอดเสียหายหนัก หลังจากหายจากวัณโรค ไม่สามารถหายใจได้เองจึงขาดเครื่องช่วยหายใจไม่ได้ เป็นคนไข้ติดเตียง น้องจอหนุแฮนั้นยังไม่ถูกครอบครัวทอดทิ้ง แต่ไร้สิทธิในหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่๒๓มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ทั้งที่มีปัญหาสถานะบุคคลเช่นเดียวกับน้องผักกาด

         จากกรณีศึกษาทั้งกรณีของน้องผักกาดและกรณีของน้องจอหนุแฮ ทั้งสองกรณีมีปัญหาสุขภาพและปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงแต่ไร้สิทธิในหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่๒๓มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ทั้งที่มีปัญหาสถานะบุคคล ซึ่งสิทธิสุขภาพนั้นก็เป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือไม่มีสัญชาติก็ตามซึ่งได้มีการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

          

         ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[3]

ข้อ 25 (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน

          

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐[4]

           ส่วนที่ ๙ สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ

มาตรา ๕๑ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์

มาตรา ๕๒ เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว

การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น

เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๕๓ บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๕๔ บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๕๕ บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

          

        พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๐[5]

มาตรา ๕ บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

บุคคลมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๖ สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ซึ่งมีความจำเพาะ ซับซ้อนและมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิต ต้องได้รับการสร้างเสริม และคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม

สุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสมด้วย

          

         ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 25 (1) น้องผักกาดและน้องจอหนุแฮจึงเป็นผู้มีสิทธิในการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตน การดูแลรักษาทางการแพทย์ และมีสิทธิในหลักประกันยามพิการ หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน

         น้องผักกาดและน้องจอหนุแฮอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีการรับรองสิทธิในสุขภาพไว้ โดยใบมาตราต่างๆนั้นใช้คำว่าบุคคล ซึ่งหมายถึงบุคคลทุกคล ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งน้องผักกาดและน้องจอหนุแฮจึงมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติสุขภาพ


[1] สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนต่างด้าว ที่นายจ้างคนไทยควรต้องรู้. therama. [Website] 2013 Aug [cited 2014 May 4]. Available from: http://therama.info/?p=173

[2] รศ. ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร. กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนข้ามชาติที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสทางสุขภาพเพราะพิการและป่วยหนัก : เอกสารประกอบการเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ,25 เมษายน 2557

[3] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. [PDF] [cited 2014 May 4]. Available from: http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. [PDF] [cited 2014 May 4]. Available from: http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliamen...

[5] พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๐. [PDF] [cited 2014 May 4]. Available from: http://www.moph.go.th/hot/national_health_50.pdf

หมายเลขบันทึก: 567409เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท