ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


บทความที่ 10 เรื่องผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี

องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ [WHO] ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับสุขภาพไว้ว่า สุขภาพดีคือการมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตและสวัสดิภาพทางสังคม อยู่ในสภาพดี

สิทธิในการมีสุขภาพดีนั้นเป็นสิทธิที่ได้มีการรับรองให้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช2550 หมวด3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในส่วนที่ ๙ ว่าด้วยสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐมาตรา 51 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และทันต่อเหตุการณ์

เป็นที่น่าพิจารณาว่าผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดีที่รัฐไทยต้องมีการให้การรับรองและคุ้มครองให้นั้นมีคำจำกัดความถึงบุคคลกลุ่มใด เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 51 นั้นมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในหมวด3 อันเป็นหมวดว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย” นั้นจะมีผลให้ผู้ทรงสิทธิจำกัดอยู่เพียงบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นหรือไม่

การให้คำจำกัดความคำว่า “บุคคล” ตามความแห่งมาตรา51 นั้นควรตีความถึงความหมายอย่างกว้างไม่ใช่เฉพาะแต่บุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นหากแต่ต้องหมายความรวมถึงบุคคลทุกคนที่แม้มีสัญชาติอื่นหรือบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ ก็ตาม เนื่องจากสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีพึงได้รับ ฐานะที่เกิดเป็นมนุษย์อันต้องมีสิทธิดังกล่าวนี้อย่างเท่าเทียมกันโดยมิต้องคำนึงถึงความแตกต่างใดๆ

ต้องตามความแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 2(1)“ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใด ๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา การคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ” ประกอบกับ ข้อ 25(1)“ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในความมั่นคงในยามว่างงาน เจ็บป่วยพิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของตน”(2)มารดาและเด็กมีสิทธิที่จะรับการดูแลรักษาและช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกันสุขภาพ เป็นสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคล

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บุคคลที่แม้ว่ามิได้เป็นผู้มีสัญชาติไทย ก็อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี ในอันที่จะได้รับการดูแล รักษาพยาบาล และการรับบริการสาธารณสุขของรัฐ



เขียนเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2557


เอกสารอ้างอิง

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน http://www.lexilogos.com/declaration/thai.htm สืบค้นเมื่อวันที่  5 พ.ค. 2557

สุขภาพ เป็นสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคลhttp://www.esanphc.net/online/people/people01.htmสืบค้นเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 567395เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท