กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


บันทึกเมื่อ วันอาทิตย์ ที่4 เดือน พฤษภาคม 2557

       ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการกำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดนั้น จะต้องรับโทษอย่างเช่นในกฎหมายอาญาสภาพบังคับก็คือโทษที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งมีอยู่ 5 สถานด้วยกัน ตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 18 โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้

(1) ประหารชีวิต

(2) จำคุก

(3) กักขัง

(4) ปรับ

(5) ริบทรัพย์สิน

        ในอดีตมีการประหารชีวิตหลากหลายรูปแบบเช่นการตัดศีรษะ, การฝังทั้งเป็น, การโยนลงไปในหลุมงูหรือ ประหารโดยใช้สัตว์ป่า แมลง, การผ่าท้อง (ฮาราคีรี), การเผาทั้งเป็น ในปัจจุบันการประหารชีวิตมีวิธีการที่ทันสมัยมากขึ้นโทษประหารชีวิตจึง เปลี่ยนมาเป็นการฉีดยาพิษ, การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า, การรมแก๊ส, การแขวนคอ, การยิงเป้า

        สำหรับประเทศไทยการประหารชีวิตมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือการใช้ดาบตัดคอ และเสียบหัวประจาน และยกเลิกการตัดคอไปในสมัยการปฏิรูปการปกครองปี 2475 ให้เหลือเพียงการเสียบหัวประจาน ในปี 2477 ได้มีปรับเปลี่ยนเป็นการยิงเป้า กระทั่ง 19 ตุลาคม 2546 การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าก็กลายเป็นอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการ ประหารชีวิตนักโทษจากการยิงเป้าไปเป็นการนำมาฉีดยา หรือสารผิดให้ตาย

        การประหารชีวิตตามความเชื่อพื้นฐานทางอาชญา วิทยาให้เหตุผลหลักๆ ของโทษประหารชีวิตไว้ 3 ประการ คือ หลักการตอบแทน เป็นบทลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อ หลักการแก้แค้นแทนผู้ถูกกระทำความผิดและญาติ และหลักการเป็นเยี่ยงอย่าง คือ เป็นตัวอย่างให้สังคมและคนในสังคมไม่กระทำความผิดในแบบเดียวกัน [1]

        แต่เมื่อพิจารณาแล้วโทษประหารชีวิตนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต [2] เนื่องจากการประหารชีวิต คือ การคร่าชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการที่จะมีชีวิต

       ในหลายๆองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน พยายามรณรงค์ยกเลิก 'โทษประหารชีวิต' ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยจากนานาประเทศ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

       แอมเน สตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งองค์กรที่รณรงค์ในเรื่องดังกล่าว ได้รวบรวม 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต พร้อมกับข้อเท็จจริงของแต่ละความเชื่อ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

ความเชื่อ โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันอาชญากรรมและทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น

ความจริง –ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า โทษประหารชีวิตจะสามารถป้องกันอาชญากรรมได้ อย่างเช่นที่ประเทศแคนาดา ปัจจุบันหลังจากที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตมากว่า 30 ปี สถิติการก่ออาชญากรรมลดลงมาก เมื่อเทียบกับปี 2519 ที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ และจากการศึกษาในระยะเวลา 35 ปี เพื่อเปรียบเทียบสถิติการฆาตกรรมระหว่างฮ่องกง ซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิตกับสิงคโปร์ที่ มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน แต่ยังมีโทษประหารชีวิต พบว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีผลกระทบที่น้อยมากต่อสถิติการก่ออาชญากรรม

ความเชื่อ – การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ความจริง – การประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งวางแผนเพื่อที่จะฆ่า หรือทำร้ายคนอื่น เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ได้ เจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการต่อต้านการก่อการร้ายได้เปิดเผยหลายครั้ง ว่า ผู้ก่อการร้ายที่ถูกประหารชีวิตนั้น เปรียบได้กับการพลีชีพเพื่อศาสนา หรืออุดมการณ์ และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธได้ออกมาเปิดเผยด้วยว่า โทษประหารชีวิตนั้นเป็นเหมือนข้ออ้างที่จะใช้ในการแก้แค้นและมันก็จะนำมา ซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น

ความเชื่อ – โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดี ตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่

ความจริง – ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย จากการสนับสนุนของคนหมู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การกระทำเหล่านั้นกลับถูกมองว่า เป็นเรื่องน่าหวาดกลัว การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มากทั้งนั้น ซึ่งมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด และรัฐบาลก็ควรมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน ถึงแม้บางครั้งมันจะขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้น จะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองและการให้ข้อมูลที่เป็นความ จริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

ความเชื่อ – คนที่ถูกประหารชีวิตทุกคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดจริงในการก่อคดีอาชญากรรม

ความจริง – มีนักโทษเป็นร้อยจากทั่วโลกที่ถูกประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการเค้นเอาคำสารภาพจากนักโทษโดยการทรมานและการปฏิเสธให้นักโทษได้ ใช้ทนายความ ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดนั้น เป็นประเทศที่มีความจริงจังอย่างมากด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น จีน อิหร่าน อิรัก และจากการที่อเมริกาละเว้นโทษประหารชีวิตให้กับนักโทษ 144 คนในปี 2516 แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายมากมายแค่ไหน กระบวนการยุติธรรมก็มีการผิดพลาดได้อยู่ดี และตราบเท่าที่คนเรามีการผิดพลาดกันได้ ความเสี่ยงในการที่จะประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

ความเชื่อ – ญาติของผู้ถูกฆาตกรรม ต้องการการลงโทษที่สาสม

ความจริง – การเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิตทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมหลายคนที่สูญเสียคนที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงและอาชญากรรมเอง แต่เพราะเหตุผลทางจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนา จึงไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตในนามของพวกเขา และในสหรัฐอเมริกา องค์กร “Murder Victims’ Families for Human Rights” ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อญาติของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกโทษประหารชีวิต เช่น รัฐนิวแฮมป์เชียร์[3]

     อย่างไรก็ตามข้าพเจ้ามองว่า แม้จะมีการคัดค้านให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่หากยังมีการทำผิด ก็ต้องมีการลงโทษกันอยู่ เพียงแต่มีเปลี่ยนรูปแบบไป ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการสร้างคุณธรรมภายในจิตใจ และการมีจิตสำนึกในความดีชั่ว

เอกสารอ้างอิง

[1]nuntarat ,วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2556,โทษประหารชีวิต ควรมีต่อไปหรือไม่ (ออนไลน์) , สืบค้นจาก :http://news.mthai.com/webmaster-talk/252462.html,[4 พฤษภาคม 2557]

[2]ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน Universal Declaration of Human Rights (ออนไลน์), สืบค้นจาก : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf , [4 พฤษภาคม 2557]

[3]ไทยรัฐออนไลน์, 27 มี.ค. 2557,เปิด 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต (ออนไลน์),สืบค้นจาก :

http://www.thairath.co.th/content/412729, [4 พฤษภาคม 2557]

คำสำคัญ (Tags): #HR-LLB-TU-2556-TPC
หมายเลขบันทึก: 567376เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 01:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท