ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


          มนุษย์ทุกคนย่อมอยากมีสุขภาพดี ซึ่งการมีสุขภาพดีนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น สิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุข หมายถึง การที่บุคคลมีสิทธิในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยที่ผู้ยากไร้มีสิทธิได้ รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิไว้แล้วตามมาตรา 52 ดังนั้น รัฐจึงต้อง จัดบริการด้านการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมี สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีในระดับสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น สิทธิที่จะได้รับ บริการด้านการสุขภาพ ก็คือ สิทธิของปัจเจกบุคคลที่มีโอกาสเท่าเทียมกันในการที่จะได้ รับบริการเพื่อสุขภาพ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นมีความสามารถจะรับภาระค่าบริการ เหล่านั้นได้หรือไม่ก็ตาม[1]

           จากการที่ได้ศึกษากรณีของน้องจอหนุแฮ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสทางสุขภาพเพราะพิการและป่วยหนัก โดยน้องจอหนุแฮอายุ 12 ปี เกิดในเมียนมาร์จากบุพการีเป็นคนในเมียนมาร์ และมิได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง คือไร้รัฐ หมายถึงไร้การรับรองจากรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร และไร้สัญชาติ หมายถึงไร้รัฐเจ้าของสัญชาติ น้องจอหนุแฮยังมีปัญหาสุขภาพคือ ปอดเสียอย่างหนัก หลังจากหายจากวัณโรคจนไม่อาจหายใจได้เอง ขาดเครื่องช่วยหายใจไม่ได้ จึงเป็นคนไข้ติดเตียงโรงพยาบาล

          จากข้อเท็จจริงของน้องจอหนุแฮ เมื่อน้องจอหนุแฮปรากฏตัวในประเทศไทย รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐที่พบตัวก็ต้องออกเอกสารแสดงตนให้น้องจอหนุแฮ อาจบันทึกใน ท.ร.38 ก. ในสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งจะทำให้น้องจอหนุแฮไม่กลายเป็นคนไร้รัฐ และมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย[2] และแม้น้องจอหนุแฮเกิดในเมียนมาร์จากบุพการีที่เป็นคนเมียนมาร์ น้องจอหนุแฮจึงไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆกับรัฐไทยที่จะสามารถได้สัญชาติไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 รัฐไทยจึงไม่ต้องให้สัญชาติไทยแก่น้องจอหนุแฮ แต่ก็ต้องช่วยผลักดันให้ได้สัญชาติเมียนมาร์เพราะเป็นรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับน้องจอหนุแฮ เพื่อไม่ให้น้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 (1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง[3]

          อย่างไรก็ตามแม้น้องจอหนุแฮจะมิได้มีสัญชาติไทย แต่รัฐไทยลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและน้องจอหนุแฮก็เป็นมนุษย์ รัฐไทยต้องปฏิบัติต่อน้องจอหนุแฮโดยเคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย โดยจะอ้างว่าไม่ปฏิบัติเพราะน้องจอหนุแฮไม่มีสัญชาติไทยไม่ได้ เพราะเมื่อลงนามในปฏิญญาแล้วรัฐไทยก็ต้องปฏิบัติเช่นนี้กับคนทุกคน

           ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล และข้อ 25 (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน[4] จากข้อเท็จจริงน้องจอหนุแฮ ย่อมมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป แพทย์จะอ้างว่าไม่รักษาเพราะไม่มีสัญชาติไทยไม่ได้ และสิทธิในการได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ และการที่มีปัญหาปอดเสียหายต้องให้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลาจึงเป็นผู้ป่วย น้องจอหนุแฮมีสิทธิในหลักประกันยามเจ็บป่วยด้วย

          อีกทั้งรัฐไทยยังเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก[5] น้องจอหนุแฮอายุ 12 ปียังไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์จึงยังเป็นเด็กตามความหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กดังกล่าว แม้น้องจอหนุแฮจะมิได้มีสัญชาติไทย แต่เมื่อรัฐไทยเข้าเป็นภาคีแล้วก็ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อบุคคลทุกคน โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กคุ้มครองไปถึงสิทธิของเด็กที่จะได้รับการจดทะเบียนหลังการเกิดและได้สัญชาติ รวมถึงบริการสุขภาพ น้องจอหนุแฮจึงมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาต่อไป

          ในประเทศไทยมีการจัดตั้งหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2553 น้องจอหนุแฮเป็นคนไร้รัฐและไร้สัญชาติซึ่งก็เป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล หรือหากรัฐไทยบันทึกในท.ร.38 ก.ให้น้องจอหนุแฮเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลซึ่งก็คือมีรัฐโดยรัฐไทยรับรองแต่ไม่มีสัญชาติ น้องจอหนุแฮก็เป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลทั้ง 2 กรณี แต่น้องจอหนุแฮก็ไม่มีสิทธิในหลักประกันนี้เนื่องจากมีการตีความคำว่า บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลไม่เหมือนกันของแต่ละองค์กร ทำให้น้องจอหนุแฮต้องเสียสิทธิที่จะได้รับประกันสุขภาพ จนต่อมาภาคประชาสังคมซื้อกองทุนหลักประกันสุขภาพดังกล่าวให้แก่น้องจอหนุแฮ น้องจอหนุแฮจึงได้รับประกันสุขภาพดังกล่าว


[1] บ้านจอมยุทธ.สิทธิมนุยชนด้านสาธารณสุข.[ออนไลน์]. http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/human_rights/07.html . วันที่ 1 พฤษภาคม 2557

[2] กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์].http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf . วันที่ 1 พฤษภาคม 2557

[3] เรื่องเดียวกัน

[4] เรื่องเดียวกัน

[5]กระทรวงการต่างประเทศ.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/crct.pdf . วันที่ 1 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 567262เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท