ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


      ในปัจจุบันโลกได้เจริญก้าวหน้าอย่างมาก มีผู้ประกอบธุรกิจต่างๆอย่างแพร่หลาย โดยผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องอยู่ร่วมกับคนในสังคม มีความเกี่ยวข้องกับคนในสังคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านการโฆษณา คนในสังคมเป็นผู้บริโภค เป็นแรงงานหรือเป็นผู้ที่ได้รับผลร้ายจากการประกอบธุรกิจ ซึ่งการกระทำต่างๆของผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของคนในสังคม จึงมีประเด็นว่าการดำเนินธุรกิจต่างๆของผู้ประกอบธุรกิจนั้นต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือไม่

      ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวในห้องเรียน เช่น การสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่ไม่มีการสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านและไม่มีการสำรวจสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะสร้างเขื่อนทำให้มีการต่อต้านการสร้างเขื่อนเป็นอย่างมาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน [1] เนื่องจากเมื่อไม่มีการสำรวจสิ่งแวดล้อมและผลกระทบก่อน การสร้างเขื่อนจึงทำให้ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแถวนั้นมีสิ่งแวดล้อมไม่ดี เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญานี้ อีกทั้งกรณีของการโฆษณาของ Dunkin' Donuts ที่ให้คนทาผิวดำถือโดนัทสีดำ ในประเทศไทยอาจไม่รู้สึกว่าเป็นการเหยียดสีผิวซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมักเพราะประเทศไทยไม่มีประวัติศาสตร์กับคนผิวสี แต่ทางด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยมีทาสเป็นคนผิวสี การโฆษณาดังกล่าวมีผู้เห็นว่าเป็นการเหยียดสีผิวซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามความในข้อ 2 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวง ตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานะอื่น[2] เนื่องจาก การกระทำดังกล่าวเป็นการแบ่งแยกสีผิวคือเปรียบเทียบคนผิวสีคู่กับโดนัทสีดำ จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับปฏิญญาสากลฯและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย และอีกกรณีหนึ่งคือการโฆษณาครีมบำรุงผิวในประเทศไทยที่มีการนำคนผิวดำไปเทียบเป็นสัตว์ หรือโฆษณาด้วยวิธีการติดป้ายที่นั่งบนรถไฟฟ้าเป็นที่นั่งสำหรับคนผิวขาว เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุของสีผิว ทั้งสองกรณีก็เป็นการเหยียดสีผิวและละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

       นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเห็นว่ามียังมีเรื่องการใช้แรงงาน ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนด้วยอีกกรณีหนึ่ง คือหากผู้ประกอบธุรกิจจ้างแรงงานโดยไม่กำหนดวันหยุด หรือให้ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงทำทุกอย่างที่ผู้ประกอบธุรกิจสั่งเหมือนเช่นทาส ก็จะเป็นการขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 4 บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาส หรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ ห้ามความเป็นทาส และการค้าทาสทุกรูปแบบ คือผู้ประกอบธุรกิจจะใช้แรงงานเป็นทาสไม่ได้ และ ข้อ 24 ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการ ผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาทำงานตามสมควร และวันหยุดเป็นครั้งคราวโดยได้รับค่าจ้าง[3]หากผู้ประกอบธุรกิจใช้แรงงานเป็นทาสหรือไม่กำหนดให้มีวันหยุดก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

       จะเห็นได้ว่ามีการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่พอใจ มีกระแสต่อต้าน จนอาจปัญหาในสังคมทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ดังนั้น แม้ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องกระทำการต่างๆเพื่อให้ธุรกิจของตนดำรงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น โดยหลีกเลี่ยงไม่กระทำการที่เป็นการกระทบกับสิทธิมนุษยชน ไม่ควรยั่วยุให้เกิดปัญหาเป็นการก่อให้เกิดความขัดแย้งได้


[1] กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf.วันที่ 28 เมษายน 2557

[2] เรื่องเดียวกัน

[3] เรื่องเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 567257เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท