ธาตุอาหารที่พืชทุกชนิดจำเป็นต้องใช้


ธาตุอาหารที่พืชทุกชนิดจำเป็นต้องใช้ เพื่อการเจริญเติบโต ออกดอก ออกผล มีอยู่ 16 ธาตุครับ

ในบรรดา 16 ธาตุนี้ มี 3 ธาตุที่พืชได้มาจากอากาศและน้ำ คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน

ส่วนอีก 13 ธาตุนั้น พืชต้องดูดซับดึงขึ้นมาจากดินโดยอาศัยความชื้น ในดิน ซึ่งธาตุเหล่านี้ได้มาจากการผุพังสลายตัวของส่วนที่เป็นอนินทรีย์วัตถุและ อินทรีย์วัตถุหรือฮิวมัสในดิน สามารถแบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการใช้ได้ เป็น 3 กลุ่มคือ ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ

ธาตุอาหารหลักก็ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม

ธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์

จุลธาตุได้แก่ เหล็ก แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม ทองแดง สังกะสี และคลอรีน

เมื่อคนเราทำการเพาะปลูกพืชทุกปี ๆ เราได้เก็บเกี่ยวผลผลิตรวมทั้งเศษซากพืชออกไปด้วย ธาตุอาหารต่าง ๆ จากในดินก็จึงหลุดออกไปกับผลผลิตและเศษซากพืชไปด้วย หากเกษตรกรไม่นำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนลงดินและใส่แต่ปุ๋ยเคมี N P K ก็จะมีวันหนึ่งที่ถึงจุดที่ธาตุอาหารรองและจุลธาตุหมดไปจากดินเพาะปลูก และพบว่าผลผลิตเริ่มตกต่ำ การเพาะปลูกเริ่มไม่ได้ผล ต้นพืชเป็นโรคง่าย และมีการระบาดของแมลงเพลี้ยศัตรูพืชได้ง่าย การใช้ปุ๋ยเคมีเริ่มไม่มีประสิทธิภาพ และดินเริ่มเป็นกรดที่เหมาะกับการขยายตัวของโรคทางดิน

ความจริงธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ มีอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วในเศษซากพืช หากเราไม่ขนออกไปจากแปลงเพาะปลูกหรือเผาทิ้ง แต่นำไปทำเป็นปุ๋ยหมักแล้วใส่กลับในแปลงเพาะปลูก ธาตุอาหารต่าง ๆ ก็ย่อมจะถูกหมุนเวียนให้กลับเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ .... ตอซังข้าวเองก็สามารถไถกลบให้กลับลงในนาให้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก ... เพียงแค่นี้ก็สามารถเพิ่มผลผลิต แก้ปัญหาดินเป็นกรด ลดโรคทางดิน หากใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยก็จะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพสามารถลดปริมาณ การใช้ปุ๋ยเคมีลงไปได้

ลองนึกภาพดูนะครับ หากมีวิธีการทำปุ๋ยหมักในนาได้ก็คงจะดี หากไม่ต้องพลิกกลับกองเลยก็คงจะยิ่งดี และยิ่งไม่ต้องใส่สารอะไรเลยก็ยิ่งจะเยี่ยมนะครับ .... ห้องเรียนปุ๋ยหมักฯ นี้สอนเรื่องนี้ครับ ทำกองปุ๋ยในสวนในนา เกิดเศษพืชที่ไหนก็ทำตรงนั้น ไม่ต้องพลิกกลับกอง ใส่แต่มูลสัตว์ ขอดูแลน้ำตามวิธี แค่สองเดือนก็ได้ปุ๋ยหมักคุณภาพสูงแล้ว การหมุนเวียนธาตุอาหารกลับลงแปลงเพาะปลูกก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

การทำปุ๋ยหมักวิธีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าหากเกษตรกรขึ้นกองปุ๋ยและดูแลน้ำกอง ปุ๋ยได้ตามกำหนดแล้ว ปุ๋ยหมักที่ได้จะต้องมีคุณภาพตามที่มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศกำหนดทุก ครั้ง ซึ่งความหมายก็คือ เราจะสามารถซื้อขายในชุมชนได้โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ..... กฎหมายกำหนดไว้ว่าใครทำปุ๋ยหมักไม่ผ่านมาตรฐานแล้วนำไปขายในชุมชน จะถูกจับและปรับเชียวนะครับ

ปุ๋ยหมักที่ผลิตได้ไม่สามารถนำไปปลูกพืชล้วน ๆ ในกระถาง หรือนำไปใช้เพาะปลูกในปริมาณที่มากเกินไปได้ เพราะพืชจะตายได้จากความเข้มข้นของธาตุอาหารรองและจุลธาตุในปุ๋ยหมักครับ

ในการปลูกผักในกระถางควรใช้ดิน 4 - 7 ส่วนต่อปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ถ้าเป็นแปลงปลูกผักก็ไม่ควรใส่ปุ๋ยหมักเกิน 2 กก.ต่อ ตร.เมตร ส่วนการปลูกข้าว มัน ยาง หรือพืชไร่อื่นสามารถใส่ปุ๋ยหมักได้ 300 - 3,000 กก.ต่อไรขึ้นกับว่าดินเพาะปลูกมีคุณภาพดีหรือเลวครับ รวมทั้งอีกปัจจัยที่สำคัญคือ หากทำปุ๋ยหมักใช้เองก็สามารถใส่ได้มาก เพราะต้นทุนการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง 1 ตันมีแค่ 750 บาท ในขณะที่ถ้าต้องไปซื้อของคนอื่นจะมีราคาสูงถึงตันละ 5,000 - 7,000 บาทเชียวครับ

แค่ทำปุ๋ยหมักใช้เอง ที่เหลือขาย ก็สามารถสร้างรายได้เสริมได้ไม่เลวนะครับ ดินก็ดี ลดปุ๋ยเคมี ลดโรค ฟางใบไม้จะได้ไม่ต้องเผาทิ้ง .... เผาเศษพืชทิ้งก็เหมือนเผาเงินเล่น .... สู้เอามาทำประโยชน์หมุนเวียนแร่ธาตุกลับลงดินเพาะปลูกกันดีกว่านะครับ

คำสำคัญ (Tags): #เกษตรกรรม
หมายเลขบันทึก: 567241เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท