ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


       สิทธิในการมีสุขภาพที่ดีคือ สิทธิที่มนุษย์จะต้องสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิลำดับแรกๆที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นว่าผู้ป่วยจะต้องถือสัญชาติไทยเท่านั้นจึงจะมีสิทธิรักษาพยาบาลได้ ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดีตามความเห็นของนักศึกษาจึงหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่เกิดมามีสภาพบุคคล 

        แต่จากการที่ได้ศึกษาเรื่องราวของเด็กและเยาวชนข้ามชาติที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสเพราะพิการและป่วยหนัก ซึ่งกรณีศึกษาส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในแถบชายแดนทางจังหวัดตาก ทำให้บริการทางสังคมของรัฐบาลยังเข้าไม่ถึงบุคคลเหล่านี้เท่าที่ควร การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลของคนในบริเวณนี้ยังไม่ครอบคลุม คือคนบางคนที่ควรจะได้รับสิทธิในรักษาพยาบาลแต่ในความเป็นจริงแล้วเขาถูกปฏิเสธสิทธินั้น เนื่องจากยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้บางคนจะรอการพิสูจน์สถานะอยู่ แต่เมื่อเกิดความพิการหรือเจ็บป่วยขึ้นกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพราะตาม พ.ร.บ.นี้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิ์ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากถูกจำกัดให้ดำเนินการเฉพาะผู้ที่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น ต่อมาจึงมีมติจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้มีการคืนสิทธิการรับบริการรักษาพยาบาลสาธารสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหา โดยให้แยกการบริหารออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็น “กองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ” [1]

         จากกรณีศึกษาจึงขอยกตัวอย่างของน้องอาป่า หรือ นายอาป่า ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2539 อายุ19ปี เกิดที่หมู่บ้านจะแล หมู่11 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย บิดามารดาเป็นอาข่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่อพยพมาจากประเทศเมียนม่าร์ แต่ต่อมาครอบครัวนี้ได้รับการสำรวจและบันทึกลงใน “ทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯฉบับที่2” ในปี พ.ศ.2542 ทำให้ได้รับการรับรองสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ได้รับการบันทึกลงใน ทร.13 ให้มีสถานะ “คนที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2543 จึงเห็นได้ว่านายอาป่า และบิดามารดา มีรัฐไทยให้สังกัดในการอยู่อาศัยภายในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว ปัญหาเรื่องคนไร้รัฐจึงหมดไป แต่ยังมีปัญหาเรื่องสัญชาติอยู่เนื่องจากพวกเขามีบัตรประจำตัวประชาชนไทย13หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข6 หมายความว่า เป็นคนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย[2] ทั้งที่จริงๆแล้วนายอาป่าเกิดในประเทศไทย จึงมีสิทธิร้องขอให้มีการรับรองสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการรกระทรวงมหาดไทยได้ แต่ปัจจุบันนายอาป่ายังไม่อาจยื่นเรื่องขอสิทธิในสัญชาติไทย เพราะการร้องขอทำหนังสือรับรองการเกิดต่ออำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ยังไม่ประสบความสำเร็จ

          ปัญหาที่ตามมาคือสิทธิในการรักษาพยาบาลของนายอาป่า เนื่องจากเขาประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันในถนน ขาหักทั้ง2ข้าง ต้องดามด้วยเหล็ก ยังเดินได้ไม่สะดวก และยังต้องทำกายภาพบำบัดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งหากไม่ทำกายภาพบำบัดก็ยังไม่แน่ว่าจะใช้ขาทั้งสองข้างทำงานได้เหมือนเดิมหรือไม่ แม้เขาจะเป็นผู้ทรงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ซึ่งตามความเห็นของนักศึกษากรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งเพราะถ้าหากนายอาป่าได้รับสัญชาติไทย จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้น โดยจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545ได้โดยตรง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐควรให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามขั้นตอนในดำเนินการเพื่อใช้สิทธิขอรับสัญชาติไทยแก่นายอาป่า

           และจากอุบัติเหตุทางรถยนต์นั้นยังทำให้นายอาป่าถูกฟ้องต่อศาลยุติธรรมในความผิดที่ขับรถโดยประมาท ล้ำเล้นการจราจรจนไปกินเลนคู่กรณี แต่นายอาป่าก็ได้ยืนยันที่จะสู้คดีต่อทั้งๆที่ตนมีโอกาสชนะคดีน้อยมาก เนื่องจากไม่มีเงินและไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ดังนั้นมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิ ศ.คนึง ฦาไชย รวมถึงโครงการบางกอกคลินิกฯคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยนายอาป่ายืนยันว่าตนไม่ผิด ซึ่งมีพยานผู้เห็นเหตุการณ์โดยยินดีเข้าร่วมให้การในชั้นศาล ตามข้อเท็จจริงนี้ทำให้ทราบถึงปัญหาประการหนึ่งของคนที่อาศัยอยู่ตามชายแดนว่าได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมน้อยมาก หรือแทบไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เลย ทั้งที่สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี2550รับรองไว้ใน หมวดที่3 ส่วนที่4 ม.40 ที่วางหลักว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้

(๑) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง

(๒) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่อง การได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอ ข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับ การพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผล ประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง..." แต่เพราะปัญหาหลักคือทุนทรัพย์และความรู้ด้านกฎหมายที่ยังเข้าไม่ถึงชาวบ้าน ทนายความสำหรับคดีเด็กที่มีความเชียวชาญก็ยังมีไม่เยอะ แต่การที่เป็นคนยากจนก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นรัฐควรเข้าไปช่วยเหลือ เช่นอาจนำความรู้ทางด้านกฎหมายเข้าไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านเข้าใจสิทธิของตนเอง และควรช่วยเหลือจัดหาทนายความอาสาเพื่อดำเนินการต่อสู้คดีในชั้นศาล และในกรณีของนายอาป่านี้ หากเขาได้รับการรับรองให้มีสัญชาติไทยก็อาจทำให้เขาเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้มากขึ้นกว่าเดิม

                                                                                                                            จุฬาลักษณ์ หาญนาวี

                                                                                                                               29เมษายน2557

อ้างอิง


[1] บุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ “สธ.-สปสช.” ใครลอยแพ ไร้สิทธิรักษา ?,สืบค้นทาง http://www.hfocus.org/content/2014/03/6679(เข้าถึงข้อมูลวันที่29เมษายน2557)

[2] ความหมายของบัตรประชาชน,สืบค้นทาง http://www.thongkasem.com/knowledge.php?kid=23(เข้าถึงข้อมูลวันที่29เมษายน2557)

หมายเลขบันทึก: 567035เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2014 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท