ครอบครัวข้ามชาติ


ครอบครัวข้ามชาติ:ครอบครัวเจดีย์ทองกับปัญหาสถานะบุคคล

       ครอบครัวข้ามชาติ เป็นกรณีที่พบได้ตามพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ เช่นชายแดนไทย-ลาว ชายแดนไทย-พม่า ชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น เพราะครอบครัวข้ามชาติมักเกิดจากการที่ ชาวบ้านคนไทยตกลงแต่งงานกับชาวบ้านที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนติดกัน แล้วตัดสินใจตั้งถิ่นฐานครอบครัวภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือการที่ชาวบ้านในประเทศเพื่อนบ้านย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ประเทศไทย และรวมถึงการที่ชาวบ้านคนไทยตัดสินใจอพยพย้ายครอบครัวไปอยู่กินในประเทศเพื่อนบ้าน ครอบครัวข้ามชาติจึงมีลักษณะที่เป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างประเทศ

        จากกรณีศึกษาครอบครัวเจดีย์ทอง ซึ่งเป็นครอบครัวของนายอาทิตย์ เจดีย์ทอง(คนไทย) ได้พบรักกับ นางสาวแพทริเซีย(คนมาเลเซีย) ในช่วงที่เดินทางไปทำงานเป็นแรงงานอยู่ ณ ประเทศไต้หวัน จนในที่สุดทั้งคู่ก็ต้องการมาสร้างครอบครัวอยู่ในประเทศไทย โดยที่นางสาวแพทริเซียได้เดินทางเข้าประเทศไทย และได้รับการตรวจตราจากด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อย และสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ภายในระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ในหนังสือเดินทาง ปัญหาของกรณีนี้คือ นางสาวแพทริเซียซึ่งมีสัญชาติมาเลเซีย ดำเนินการขอรับการสำรวจในสถานะของ ‘บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร’ จากเจ้าหน้าที่ของไทย และต่อมาได้รับการบันทึกใน ‘ทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.38ก’ ซึ่งหมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะภาพทางกฎหมาย โดยจะมีคน 6 กลุ่มที่จะได้รับการบันทึก ดังนี้ 1. คนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย เกิน 10 ปี 2. เด็กไร้รัฐที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย 3. คนไร้รัฐที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร 4. คนไร้รัฐที่ทำประโยชน์แก่ประเทศไทย 5. คนไรรัฐที่ประเทศต้นทางไม่ยอมรับ 6. กรณีไม่เข้าคุณสมบัติ ข้อ 1-5[1]ทำให้เธอได้รับ‘บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ ทั้งๆที่ในบัตรนี้ระบุว่าเธอมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน13หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข0 และเมื่อไปขอสิทธิทำงาน เธอจึงได้รับสถานะในการทำงานเป็น ‘คนไร้สัญชาติ’ เกิดเป็นปัญหาเรื่องสิทธิในสถานะบุคคล ในลักษณะที่กลายเป็นคนไร้สัญชาติ ไร้รัฐ ทั้งๆที่ตามข้อเท็จจริงแล้วนางสาวแพทริเซียก็เป็นบุคคลที่มีสัญชาติมาเลเซีย แต่พอมาขอรับการสำรวจสถานะในไทย จึงทำให้กลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติตามกฎหมายไทย ซึ่งตามข้อ6 แห่งปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1948 ได้รับรองไว้ว่า ทุกๆคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด 

         นอกจากปัญหาการเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติแล้ว หนังสือเดินทางของนางสาวแพทริเซียก็ได้หมดอายุลงแล้ว เมื่อมาสร้างครอบครัวอยู่กับนายอาทิตย์(คนไทย) ซึ่งถือบัตรประจำตัวประชาชน13หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข5 หมายความว่า เป็นคนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่นๆ[2] โดยที่นางสาวแพทริเซียกับนายอาทิตย์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อบุตรทั้ง3คนเกิดมา ทุกคนได้รับการแจ้งเกิดและการอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย โดยนายอาทิตย์ซึ่งมีสัญชาติไทย แต่ทั้ง3คนไม่ได้รับการแจ้งเกิดในประเทศมาเลเซีย บุตรทั้ง3จึงมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเท่านั้น ทั้งที่ตามหลักสัญชาติสากลแล้ว การได้มาซึ่งสัญชาติของบุคคลนั้น พิจารณาจาก2หลักการ คือ 1.หลักสายโลหิต คือ บุตรจะได้มาซึ่งสัญชาติใดๆนั้น ให้ถือตามสายโลหิตของผู้ให้กำเนิด คือบิดา มารดา ในกรณีที่เป็นคนไทย ถ้ามารดาเป็นคนไทย บิดาจะเป็นคนไทยหรือสัญชาติอื่น บุตรก็ยังได้รับสัญชาติไทยตามมารดา แต่ถ้าบิดาเป็นคนไทย มารดาเป็นคนต่างด้าว บุตรจะได้สัญชาติไทยต่อเมื่อบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย หรือเมื่อบิดาจดทะเบียนรับรองบุตร โดยไม่จำเป็นที่บุตรจะต้องถือกำเนิดในประเทศไทย จะเกิดต่างแดนก็ได้ แต่ต้องมีการแจ้งเกิดกับสถานทูตในประเทศนั้นๆ 2.หลักดินแดน คือการที่บุคคลได้มาซึ่งสัญชาติโดยการเกิดในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใด หากกฏหมายสัญชาติประเทศนั้นรับรองการเกิด เด็กที่เกิดก็จะได้สัญชาติของประเทศนั้นโดยการแจ้งเกิดตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดยที่บิดามารดาไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศนั้นก็ได้[3]

          ตามหลักสัญชาติ แม้บุตรทั้ง3คนที่เกิดจากนายอาทิตย์กับนางสาวแพทริเซียซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่เมื่อเด็กเกิดในประเทศไทย และได้ทำการแจ้งเกิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงทำให้เด็กได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดน และในขณะเดียวกันเด็กทั้ง3ก็ มีสิทธิได้รับสัญชาติมาเลเซียตามหลักสายโลหิต เนื่องจากมารดาเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย แต่การจะได้รับสัญชาติมาเลเซียอาจต้องดำเนินการตามกฎหมายสัญชาติของมาเลเซียก่อน และจากข้อเท็จจริงนางสาวแพทริเซียไม่ได้เดินทางกลับประเทศมาเลเซียอีกเลย อีกทั้งก็ไม่ได้ดำเนินการติดต่อกับสถานทูตมาเลเซียในไทย จึงทำให้ในปัจจุบันบุตรทั้ง3มีเพียงสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะเด็กมีสิทธิถือสัญชาติได้2สัญชาติ อันจะนำมาซึ่งการคุ้มครองและรับรองสิทธิมนุษยชนจากทั้ง2ประเทศ

          จากกรณีศึกษาของครอบครัวเจดีย์ทอง ซึ่งมีลักษณะเป็นครอบครัวข้ามชาติ อันมีจุดเกาะเกี่ยวกับหลายประเทศคือ ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ทำให้พบว่าเกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนตามมา คือ 1.ปัญหาสิทธิในสถานะตามกฎหมาย

และ 2.ปัญหาในเรื่องสิทธิของการได้รับสัญชาติดังที่ได้กล่าวมา

                                                                                                                          จุฬาลักษณ์ หาญนาวี

                                                                                                                            28เมษายน2557

อ้างอิง


[1] ท.ร.38ก กับ ท.ร.38/1,สืบค้นทาง http://www.l3nr.org/posts/464789 เข้าถึงข้อมูลวันที่28เมษายน2557

[2] ความหมายของเลข13หลักในบัตรประจำตัวประชาชน,สืบค้นทาง http://www.thailaws.com/download/thaidownload/ID_Meaning.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่28เมษายน2557

[3] สัญชาติ,สืบค้นทาง http://www.lawanwadee.com/freezone/citizenship1.html เข้าถึงข้อมูลวันที่28เมษายน2557

หมายเลขบันทึก: 566952เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2014 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท