บทความโซเชียลมีเดีย 2


โซเชียลมีเดียกับการเมืองไทย

          คนไทยเราในอดีตมีการเรียนรู้ทางการเมืองน้อยมาก ต่างจากคนอเมริกันที่เรียนรู้ทางการเมืองผ่านครอบครัว หากใครเป็นสมาชิกพรรคใดลูกก็มักจะเป็นสมาชิกของพรรคนั้น เพราะเวลาพรรคการเมืองจัดกิจกรรม พ่อก็มักจะพาลูกไปด้วย แต่ครอบครัวไทยเราไม่ค่อยจะสนับสนุนให้ลูกหาความรู้ทางการเมือง คนไทยจึงต้องหาความรู้ทางการเมืองผ่านช่องทางอื่น โรงเรียนเองก็ไม่มีหลักสูตรการสอนด้านนี้มากนั้น ช่องทางเดียวที่มีอยู่ก็คือการรับรู้จากสื่อ แต่สื่อเองเช่นทีวีสมัยก่อนที่จะมีเคเบิลก็มักจะเป็นเรื่องบันเทิงเป็นหลัก

          สื่อใหม่ๆ หรือโซเชียลมีเดียนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่าภายหลังจากการแพร่หลายของสื่อสมัยใหม่นี้ มีผลทำให้คนเกิดความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแต่ควบคู่กันไปก็คือ การที่สังคมเริ่มมีความขัดแย้งมากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการสื่อสารในชุมชนเสมือนจริงทำให้คนมีความเป็นอิสระ และมีการติดต่อกันโดยไม่ต้องพบหน้าเปิดเผยตัวตน ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกมากกว่าการพูดคุยซึ่งหน้า ความคิดเห็นที่แสดงออกจึงมีความโน้มเอียงที่จะรุนแรงมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า โซเชียลมีเดียมีผลในการกล่อมเกลาทางการเมืองในทางลบ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมยุคใหม่มีความแตกแยกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

         การกล่อมเกลาทางการเมืองแบบเดิมก่อนยุคดิจิตอลเป็นไปอย่างธรรมชาติ เชื่องช้าค่อยเป็นค่อยไป แต่ในยุคใหม่นี้การกล่อมเกลาทางการเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็วและ “ฉับพลัน” เพราะความรวดเร็วของการติดต่อส่งข้อความนั่นเอง ผู้ซึ่งไม่เคยเรียนรู้ทางการเมืองมาก่อนเช่น ผู้สูงอายุก็เกิดอาการ “ติดสื่อ” โดยเฉพาะเคเบิลทีวี ซึ่งบางคนสามารถติดตามได้วันละหลายชั่วโมง และทัศนคติความคิดเห็นที่ได้รับมักจะเป็นด้านเดียวจากกลุ่มการเมืองที่เป็นฝ่ายให้ข่าว แม้กระนั้นคนก็ชอบเพราะมีรายการเจาะลึกเบื้องหลังที่มีมากกว่ารายการข่าวปกติ

         การมีสื่อสมัยใหม่มีผลทำให้การทำงานของนักการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไป นักการเมืองสมัยใหม่จะมีเฟซบุ๊กไว้คอยส่งข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นให้ประชาชนได้รับรู้ ทำให้นักการเมืองกับประชาชนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่การมีสื่อเช่นนี้ก็เป็นช่องทางให้เกิด “ข่าวลวง” และ “ความเห็นด้านเดียว” ได้เช่นกัน ผู้รับสื่อจึงต้องมีความระมัดระวัง และรู้จักคัดกรองข่าว แต่โดยมากแล้วคนมักจะเชื่อตามได้ง่ายโดยไม่มีการไตร่ตรองหรือคัดกรอง

         การมีโซเชียลมีเดียเป็นผลดีหรือผลเสียต่อการเมืองและการปล่อยให้ “ชุมชนเสมือนจริง” มีบทบาทในการกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นผลดีหรือผลเสียเป็นเรื่องที่ควรมีการศึกษาวิจัยในระดับลึกต่อไป ในชั้นนี้อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าสื่อสมัยใหม่ อาจทำให้คนเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น และง่ายขึ้น เพราะเป็นการให้ความเห็นด้านเดียว และไม่ต้องเปิดเผยชื่อผู้แสดงความคิดเห็น ความคิดเห็นเชิงลบจึงปรากฏได้ง่ายโดยที่ผู้แสดงความคิดเห็นไม่ต้องรับผิดชอบ



ผู้แต่ง : ชัยอนันต์ สมุทวณิช 

ที่มา : http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9570000001413

สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2557 20:33 น

หมายเลขบันทึก: 566869เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2014 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2014 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอให้ใช้ประโยชน์นะครับ ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท