มนุษย์ที่ข้ามชาติ


มนุษย์ที่ข้ามชาติหมายถึง บุคคลที่มีการกระทำในลักษณะที่ข้ามชาติ คือ มีถิ่นที่อยู่หรือเคยอาศัยอยู่ในประเทศหนึ่งอยู่แล้วแต่ได้มีการเคลื่อนย้ายมายังอีกประเทศหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม บุคคลเหล่านี้ได้แก่ นักท่องเที่ยว แรงงานข้ามชาติ นักลงทุนข้ามชาติ นักศึกษา และผู้หนีภัยความตาย เป็นต้น[1]

มนุษย์ที่ข้ามชาติอาจเข้ามายังประเทศไทยโดยถูกกฎหมาย คือ มีวีซ่าหรือผิดกฎหมาย คือ เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารใดๆซึ่งก็คือการลักลอบเข้าเมืองนั่นเอง บุคคลประเภทหลังที่เป็นมนุษย์ข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น อาจจะประสบปัญหาสถานะทางกฎหมายเช่นไร้รัฐหรือไร้สัญชาติซึ่งส่งผลให้สิทธิของพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่อาจเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ดังกรณีศึกษาดังต่อไปนี้

กรณีศึกษาของน้องดนัย ข้อเท็จจริงคือ น้องดนัยเป็นลูกของนายอาบู คนต่างด้าวที่ข้ามมาจากประเทศเมียนมาร์โดยไม่มีวีซ่าจึงเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและเป็นคนข้ามชาติ กับนางหมี่ยื่ม ยื่อบ๊อ ที่มีสัญชาติไทย เป็นชนชาติพันธุ์อาข่าดั้งเดิมที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ น้องดนัยเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทยจึงมีสิทธิด้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามมาตรา 7(2) พ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.2508 ซึ่งวางหลักว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด[2] แต่น้องดนัยไม่มีสิทธิได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตเนื่องจากแม่ของน้องดนัยได้รับสัญชาติไทยภายหลังน้องดนัยเกิด อีกทั้งพ่อของน้องดนัยไม่ได้มีสัญชาติไทย กรณีนี้จึงเป็นไปตามข้อยกเว้นในมาตรา 7 ทวิ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

น้องดนัยจึงถือเป็นผู้มีสิทธิได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแต่ถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายทั้งๆที่น้องมิได้มีเจตนาในการเข้าเมืองผิดกฎหมายเนื่องจากเกิดในประเทศไทยและไม่เคยออกนอกประเทศไทย ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าน้องดนัยมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย น้องดนัยจึงเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งการมีสัญชาติเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยรับรอง ในข้อที่ 15(1) ซึ่งกำหนดให้ ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง[3] และไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยจึงตกเป็นคนไร้รัฐไม่มีรัฐเจ้าของตัวบุคคลคุ้มครอง น้องดนัยจึงขอความช่วยเหลือจากคลินิกกฎหมายแม่อาย ในท้ายสุดแล้วน้องดนัยก็ได้รับสัญชาติไทยและถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร

จะเห็นได้ว่า การที่บุคคลๆหนึ่งไร้รัฐไร้สัญชาติอาจเกิดจากสาเหตุที่ว่าบุพการีเป็นคนข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งส่งผลสืบเนื่องมาทำให้บุตรไม่ได้รับสัญชาติของประเทศนั้นๆได้ดังเช่นกรณีของน้องดนัย แต่น้องดนัยมิได้เป็นคนข้ามชาติตามบิดาเพราะน้องไม่ได้มีกิริยาแสดงถึงลักษณะของการข้ามชาติ แต่ได้รับผลกระทบคือเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำให้มีอุปสรรคต่อสิทธิในการศึกษา สิทธิในการเดินทางที่คนเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกจำกัดและสิทธิในการทำงานในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับน้องดนัยซึ่งก็คือประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือ พิสูจน์สัญชาติและรับรองสถานะบุคคลในกฎหมายทะเบียนราษฎรให้แก่น้องดนัย


[1] ภัทรธนาฒย์ ศรีถาพร. "เด็กข้ามชาติ" มนุษย์ข้ามชาติที่มาจากหลากหลายสาเหตุ. (ออนไลน์).แหล่งที่มา http://www.l3nr.org/posts/535656. 24 เมษายน 2557

[2] ศูนย์ทนายความทั่วไทย. พรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538975889&Ntype=19. 24 เมษายน 2557

[3] กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 24 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 566691เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2014 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท