ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก และปัจจุบันประชาคมโลกต่างยอมรับให้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอยู่ในฐานะแม่บทของกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งมวล ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสี่สิบแปดประเทศแรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันก็ล้วนมีพื้นฐานและได้รับการพัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติฉบับนี้ทั้งสิ้น และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นก็ได้เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากฎหมายภายในของประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศของตน รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะเมื่อมีการตรากฎหมายหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะนำหลักการของปฏิญญาสากลฯ ดังกล่าว มาวางเป็นฐานคิดเสมอ[1]

Corporate Social Responsibility (CSR) หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรซึ่งคือการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดีโดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งในระดับไกลและใกล้ อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจต้องดำเนินการตามเกณฑ์ในระดับ 1 เป็นอย่างน้อย ส่วนการดำเนินการในระดับต่อไปให้ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละองค์กร โดยหลักสำคัญของการปฏิบัติตามเเนวทาง CSR ควรอยู่บนหลักพอประมาณที่ธุรกิจต้องไม่เบียดเบียนตนเอง และขณะเดียวกันก็ต้องไม่เบียดเบียนสังคม ระดับ 1 คือ Mandatory Level: ข้อกำหนดตามกฎหมาย หมายถึง การที่ธุรกิจมีหน้าที่ต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค,
กฎหมายเเรงงาน, การจ่ายภาษี เป็นต้น[2] ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นก็เป็นกฎหมาย ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจจึงควรคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของบุคลอื่นๆที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจนั้นๆด้วย

ผู้ประกอบการบางรายได้ระบุจรรยาบรรณธุรกิจไว้ด้วย เช่น บริษัทไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัดระบุว่าบริษัทฯสนับสนุนและเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากลรวมทั้งหมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของบริษัทฯเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการยอมรับหลักปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก เช่น หลักสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ[3] หรือบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน) ยึดหลักปรัชญาการบริหารเป็นเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโดยรวมเป็นสำคัญ โดยส่งเสริมให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ หลักจริยธรรมทางธุรกิจ 8 ประการ ซึ่งหนึ่งใน 8 ประการนั้น คือ การเคารพสิทธิมนุษยชนโดยดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิมนุษยชนโดยไม่แบ่งแยกสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา และสิ่งแบ่งแยกอื่นๆ[4] เป็นต้น

บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ระบุวิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัทไว้ โดยพันธกิจ คือ ดำเนินธุรกิจยางพาราและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องชั้นนำของโลก ที่เน้นประสิทธิภาพ และคุณภาพ โดยคำนึงถึงการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าเป็นหลักสำคัญ ด้วยระบบการจัดการที่มีคุณภาพสากลและคำนึงถึงสภาพแวดล้อม[5]แต่ปรากฏว่า ชาวบ้านตำบลบึงเจริญ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับผลกระทบจากปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากการประกอบกิจการของโรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่โรงงานดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมาจึงเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นในการประกอบกิจการดังกล่าวมีเงื่อนไขการอนุญาตที่โรงงานจะต้องปฏิบัติ คือ ต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันกลิ่นและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือวัตถุดิบ รวมทั้งต้องมีและใช้ระบบขจัดกลิ่นและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกรรมวิธีการผลิตที่มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่ไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ในความเป็นจริงชาวบ้านหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลบึงเจริญที่อยู่โดยรอบพื้นที่โรงงานดังกล่าว ไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปกติสุขอยู่ได้ จึงได้พยายามร้องเรียนให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ลงมาแก้ไข ดูแล และจัดการปัญหา เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน ไล่มาตั้งแต่นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบึงเจริญ อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่ก็หาได้เป็นผลไม่ความเดือดร้อนและเสียหายจากการประกอบกิจการโรงงานยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหากลิ่นเหม็น และการรั่วไหลของน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงานแพร่กระจายไปยังพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน จนไปถึงแหล่งน้ำสาธารณะ ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ในที่สุดชาวบ้านอดทนอยู่ไม่ไหวเลยต้องหาทางออกโดยพึ่งกระบวนการทางศาล โดยนำความเดือดร้อนไปฟ้อง ณ ศาลปกครองนครราชสีมา ที่มีเขตอำนาจศาลมาถึงจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 โดยการยื่นฟ้องพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น 8 ผู้ถูกฟ้องคดี คือ เทศบาลตำบลบึงเจริญ ที่ 1 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ 3 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 4 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 5 นายกเทศมนตรีตำบลบึงเจริญ ที่ 6 อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 7 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 8 โดยมีบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร้องสอด ต่อมาศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 โดยให้ผู้ร้องสอด หรือโรงงานไทยฮั้วยางพารา จำกัด ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และขจัดกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการโรงงาน มิให้ส่งกลิ่นรบกวนการดำรงชีพโดยปกติสุขและสุขภาพของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านโดยรอบโรงงานพร้อมกับสั่งให้นายกเทศมนตรีตำบลบึงเจริญ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข 2535 และให้อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรงงาน 2535 ดำเนินการออกคำสั่งหรือใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายแก่โรงงานดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และขจัดกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวโดยเคร่งครัด แต่ชาวบ้านโดยรอบโรงงานดังกล่าวก็ยังคงได้รับกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการอยู่อย่างต่อเนื่อง จนหลายคนกลายเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ หลายคนทนไม่ไหวต้องย้ายสำมะโนครัวหนีไปอยู่อาศัยในพื้นที่อื่นชั่วคราว

การต่อสู้ทางคดีของชาวบ้านจำนวน 106 คน โดยมอบอำนาจให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นธุระทางคดีให้นั้นใช้ระยะเวลาในการต่อสู้คดีดังกล่าวกว่า 2 ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาต่อกรณีพิพาทดังกล่าวแล้ว เป็นการประศาสน์ความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง โดยพิพากษาให้บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และขจัดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงานมิให้มีค่าเกินมาตรฐานของทางราชการ อันจะเป็นการส่งกลิ่นรบกวนการดำรงชีพโดยปกติสุขและสุขภาพของชาวบ้าน[6]

จากข่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าบริษัทได้ฝ่าฝืนพันธกิจของตนที่จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อม การดำเนินงานของบริษัทก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจนชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านสุขภาพมาก หลายคนกลายเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้อีกทั้งยังฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงงาน 2535 โดยมีแนวคิดสนับสนุนอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในข้อที่ 25(1)คือ ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย[7] ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยกับ CRS ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการคำนึงถึงสิทธิมนุษชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่สมควรจะได้รับความคุ้มครองและให้ความสำคัญของบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของการประกอบธุรกิจนั้นๆ ซึ่งเป็นผลดีอย่างมหาศาลมากกว่าการละเลยหรือเพิกเฉยต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งจนกระทั่งเกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาลปกครองดังกรณีของข่าวข้างต้น


[1]โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม. ความเป็นมาและสาระสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/30313panisa/3-khwam-pen-ma-laea-sara-sakhay-khxng-ptiyya-sakl-wa-dwy-si-ththi-mnu-s-chn-haeng-shprachachati. 23 เมษายน 2557

[2]Thai CSR Community. CSRคือ?. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.csrcom.com/csr.php. 23 เมษายน 2557

[3]บริษัทไทยแท้งค์เทอร์มินัลจำกัด. จรรยาบรรณธุรกิจบริษัทไทยแท้งค์เทอร์มินัลจำกัด. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.thaitank.com/data/code/13X17thai.pdf. 23 เมษายน 2557 ‎

[4]บริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน).หลักจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท

. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.mitsubishi-kye.com/EthicsTH.asp. 23 เมษายน 2557 ‎

[5] THAI HUA RUBBER PUBLIC COMPANY LIMITED.วิสัยทัศน์และพันธกิจ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.thaihua.com/v5/th/corporate/vision. 23 เมษายน 2557 ‎

[6] นายศรีสุวรรณ จรรยา.ชัยชนะ...เหนือโรงงานยางพารา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.siamrath.co.th. 23 เมษายน 2557 ‎

[7]กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 23 เมษายน 2557 ‎

หมายเลขบันทึก: 566628เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2014 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2014 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท