ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ?

ปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ในโลกมาเป็นระยะเวลานาน และยากต่อการแก้ไขแม้ปัจจุบันปัญหานี้จะลดความรุนแรงลงจากอดีตมาก แต่การเหยียดสีผิวและเชื้อชาติก็ยังคงมีอยู่ในสังคมทั่วทุกมุมโลก จะเห็นได้ว่าการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อกำหนดความเหนือกว่า หรือด้อยกว่าบนพื้นฐานของสีผิว เชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของมนุษย์นอกจากนี้แต่ละประเทศมักยึดถือประวัติศาสตร์ที่สอนต่อๆกันมา เพื่อสร้างความชอบธรรมรองรับพฤติกรรมในอดีตของตน โดยไม่คำนึงว่าแท้ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนแต่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ เดียวกัน มนุษย์ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงควรได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน การเหยียดสีผิวเพื่อแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกันจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมีอย่างหนึ่ง[1]

การเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติชาติพันธุ์ หรือแม้แต่การเหยียดเพศนั้น มีสาเหตุมาจากการสั่งสมคำสั่งสอน หรือความเชื่อสืบถอดต่อกันมา แต่นานวันเข้าความเชื่อนั้นก็เริ่มเลือนหายไป แม้จะไม่ได้หายไปจากความคิดของประชากรโลกเลยก็ตาม แต่ก็มีความรุนแรงน้อยลงกว่าแต่ก่อน ในความคิดเห็นของผู้เขียนสาเหตุหนึ่งที่ยังทำให้ความคิดเกี่ยวกับการเหยียดมนุษย์ด้วยกันเองนั้น มาจากการนำเสนอของสื่อประเภทต่างๆ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิต่างๆของมนุษยชน จึงได้กระทำการอันใดซึ่งเมื่อมองในบางมุมมองนั้นได้ทำให้เกิดการมองว่ามีการเหยียดในเรื่องต่างๆเกิดขึ้น และในที่สุดเมื่อมีการนำเสนอของสื่อเรื่อยๆจึงเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดไปในที่สุด

ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพเด่นชัดในเรื่องของการเหยียดสีผิว ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสู่การเหยียดเรื่องชาติพันธุ์ด้วย

โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับประเด็นเหยียดสีผิวในประเทศไทย คือนิตยสารหัวนอก Vogue ฉบับประเทศไทย ถูกสื่อต่างประเทศโจมตีอย่างเผ็ดร้อนบนโลกออนไลน์ เหตุเพราะรีทัชภาพนางแบบผิวสีระดับโลก นาโอมิ แคมป์เบลล์ ด้วยการปรับสีผิวให้ขาวขึ้นและปรับรูปหน้าผ่านโปรแกรมphotoshopจนเพี้ยนไปจากเค้าเดิมในแฟชั่นเซตปก เป็นเหตุให้นิตยสาร Vogue ฉบับประเทศไทย โดนติติงว่ากระทำการเหยียดสีผิวก่อให้เกิดการวิพากษ์อย่างดุเดือดโดยเฉพาะในโลกออนไลน์
ประเด็นดังกล่าวถูกปลุกกระแสโดยเว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ ในรายงานข่าวเรื่อง 'Naomi Campbell Looks Really Different On Vogue Thailand Cover... (PHOTOS)' โดยทำภาพนาโอมิในแฟชั่นปก Vogue ฉบับภาษาไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2556 เปรียบเทียบกับภาพปัจจุบันของเจ้าตัว ทั้งตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่าง ทั้งในเรื่องสีของดวงตาที่ออกโทนสีเทาอ่อน ไม่ใช่สีน้ำตาลดวงตาจริงของเธอ รูปหน้าถูกปรับแก้ผิดเพี้ยนไปจากตัวจริงและที่ถูกพูดถึงอีกเรื่องคือสีผิวถูกปรับแต่งให้ขาวขึ้น
เช่นเดียวกับทางเว็บแฟชั่นยอดนิยม เดอะกลอสส์ ก็วิจารณ์กรณีดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน ตัดตอนใจความสำคัญบางส่วนความว่า ภาพของนาโอมิผ่านโฟโต้ช็อปทั้งเปลี่ยนสีตา ปรับรูปจมูก ปรับเค้าโครงใบหน้าให้เป็นรูปหัวใจจนไม่เหมือนตัวจริง แลดูเป็นภาพของผู้หญิงดูน่ารักๆ คนหนึ่ง ที่ไม่ใช่นาโอมิ พร้อมยังจุดประเด็นเรื่องเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทางด้านผศ.ดร.กิตติ กันภัยจากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายถึงนัยยะของการปรับสีผิวในภาพแฟชั่นเซตดังกล่าวว่า
ความหมายของสีดำในสังคมไทย กับสีดำในสังคมตะวันตกมันไม่เท่ากัน ดำตะวันตกมันหมายถึงทาส แต่ในสังคมไทยความหมายของคำว่าดำมันคือสกปรกก็ได้ ชนชั้นล่างก็ได้ ต่ำกว่าก็ได้ ด้อยกว่าก็ได้ ขาวจะดีกว่า คือความหมายมันไม่เท่ากันถึงแม้ว่าจะเป็นสีดำเหมือนกัน เราต้องแยกแยะความหมายต่างๆ ที่อยู่ในบริบทวัฒนธรรมต่างๆ ด้วย ทว่ามันก็คือการเหยียดเหมือนจะไม่ว่าจะอเมริกัน ยุโรเปี้ยน ตะวันตก หรือไทยมันก็คือการเหยียดเหมือนกัน[2]
จากประเด็นดังกล่าวนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่า การกระทำของนิตยสารนั้นซึ่งถือเป็นหนึ่งในสื่อที่จะออกเผยแพร่ต่อสังคม และเป็นกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่นับว่ามีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมนั้น เป็นการกระทำที่สื่อไปนางที่เหยียดสีผิวเหยียดชาติพันธุ์ เนื่องจากมองแล้วนั้นเกิดคำถามที่ว่าเหตุใดจึงต้องเปลี่ยนสีผิวของนางแบบ หรือแม้กระทั่งรูปร่างลักษณะร่างกาย ซึ่งอาจจะสื่อว่า ความดั้งเดิมของคนเป็นคนผิวสีนั้นไม่ดี ไม่เป็นที่ยอมรับ จึงต้องเปลี่ยนแปลง โดยสรุปแล้วนั้นคือผู้เขียนมองว่าการกระทำของนิตยสารฉบับนี้เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และก่อให้เกิดการสร้างค่านิยมที่ผิดอีกด้วย


[1] http://www.l3nr.org/posts/465316

[2] http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000135690

หมายเลขบันทึก: 566558เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2014 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2014 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท