ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


          สิทธิมนุษยชน(Human Rights) [1] หมายถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ในอดีตยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนภายหลังที่ได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติแล้วคำว่าสิทธิมนุษยชนจึงได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในกฎบัตรสหประชาชาติ[2] ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้หลายแห่งเช่นในอารัมภบทได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของสหประชาชาติไว้ว่า “เพื่อเป็นการยืนยันและให้การรับรองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษยชาติ"

สิทธิมนุษยชนตามที่ปฏิญญาสากลฯได้แจกแจงไว้มีดังนี้

1. สิทธิทางแพ่งและทางการมือง (Political and Civil Rights) เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มีมาแต่ดั้งเดิมและปรากฏอยู่ในบทบัญญัติข้อ 1-21 สิทธิดังกล่าวประกอบไปด้วยสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสิทธิในความเป็นส่วนตัวสิทธิในการเลือกนับถือศาสนาสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีสิทธิในการลี้ภัยและสิทธิของผู้ถูกกระทำทารุณกรรมต่างๆ

2. สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (Economic Social and CulturalRights) เป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความเป็นอยู่สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติข้อ 22 เป็นต้นไปได้แก่สิทธิในการศึกษาสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่ดีและอย่างพอพียงตลอดจนสิทธิในการหยุดพักผ่อนจากการทำงานเป็นต้น

          สิทธิทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมักจะไม่ได้รับการกล่าวขวัญและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเท่ากับสิทธิมนุษยชนด้านการเมือง เช่นสิทธิในการแสดงออกอิสระภาพ จากความรุนแรง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างแนวโน้มของนโยบายด้านเศรษฐกิจ กับผลกระทบต่อสิทธิทางด้านการเมือง ยังมองไม่เห็นได้ ชัดเจน อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์จึงมักเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่นักวางแผนและวิเคราะห์นโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ และนักสังคมวิทยา และแม้แต่นักสิ่งแวดล้อมภายในแต่ละประเทศ มากกว่าในหมู่นักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งนักสิทธิสตรี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระบุสิทธิทางด้านสังคมและ เศรษฐกิจไว้เพียง 5 ข้อ จาก 25 ข้อ ที่เป็นสาระของสิทธิ นั่นคือ สิทธิในการทำงาน สิทธิในการหยุดพักผ่อน สิทธิในการมีมาตรฐานการดำรงชีพที่พอพียง สิทธิในการศึกษา และสิทธิที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม

          [3] ในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากจะยังมีคนหนึ่งพันล้านคนในโลกที่ไม่มีงานทำ หรือทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงแล้ว กระบวนการปรับโครงสร้างการผลิต การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงการจัดองค์กรในการผลิตที่กำลังเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ยังก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านการมีงานทำ ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น มีงานไม่ต่อเนื่อง สภาพการทำงานแย่ลง ต้องทำงานหนักขึ้น ในขณะที่สวัสดิการลดลง สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในการจ้างงานทั้งในระบบและนอกระบบทุกแห่ง นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางด้านการเงินที่เอื้อให้เงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนประเทศได้อย่างเสรี ได้สร้างความกดดันให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายและ กิจกรรมที่เป็นมิตรกับนักลงทุนมากกว่าที่จะเป็นมิตรกับแรงงาน สิทธิในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานจึงถูกริดรอนลงไปมาก พร้อมกันนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต่างระดับกันระหว่างภูมิภาคจากการเททุนของนักลงทุนตามกันไป ทำให้จำนวนแรงงานอพยพข้ามประเทศเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สิทธิทางกฎหมายและทางการเมือง ของแรงงานอพยพยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน

          การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในการผสมผสานเศรษฐกิจเข้ากับตลาดโลกหรือกระบวนการโลกาภิวัตน์ คือการให้อิสระเสรีภาพกับภาคธุรกิจเอกชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรษัทขนาดใหญ่ ในขณะที่ขอบเขตอำนาจของรัฐในการควบคุมการผลิตและการตลาดถูกจำกัดลง ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ขยายของอุดมการณ์ ทางเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายในแต่ละประเทศ แต่การที่ทุนประเภทต่าง ๆ สามารถไหลข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี มีผลกระทบอย่างสำคัญ ยิ่งต่อความสามารถของแต่ละสังคมที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนภายในขอบเขตประเทศของตน ความจำเป็นที่จะต้องดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ หรือหยุดยั้ง การไหลออกของทุน ทำให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายทางการเงินและการคลังที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ถูกละเลยทอดทิ้งในกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ เพราะกระแสการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการผสมผสานเศรษฐกิจเข้ากับตลาดโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วจนรัฐบาล ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับผลพวงต่าง ๆ นานาที่จะเกิดขึ้น ในอันที่จะพิทักษ์สิทธิดังกล่าวให้กับพลเมืองของตน สภาพของการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นในตลาดโลก ที่บริษัทธุรกิจต้องเผชิญอยู่ แท้จริงแล้วคือการที่คนงานในแต่ละประเทศต้องแข่งขันกับคนงานในประเทศอื่นในสนามนานาชาติเพื่อที่จะได้งานทำจากนายจ้างคนเดียวกัน ซึ่งแน่นอนสิทธิของคนงานที่จะรวมตัวจัดตั้งและต่อรองก็ต้องตกอันดับไปเพื่อแลกกับการมีงานทำของคนงาน สหภาพแรงงานไทยที่พยายามต่อรองกับนายจ้างได้ ประสบการณ์นี้มาแล้ว เมื่อนายจ้างขู่ว่าจะย้ายโรงงานไปประเทศอื่นที่ค่าแรงถูกกว่าถ้าคนงานยังขืนเรียกร้องสวัสดิการมากกว่านี้ ทั้งนี้เพราะนายทุนสามารถ เคลื่อนย้ายทุนไปไหนก็ได้ แต่คนงานย้ายถิ่นไม่ได้

          เมื่อเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับการเหนี่ยวรั้งเงินลงทุนจากต่างชาติที่สามารถเคลื่อนย้ายอย่างเสรีให้ดำรงอยู่ภายในประเทศ หรืออย่างน้อยก็ให้นักลงทุนต่างชาติมี ความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่ามาตรฐานความเป็นอยู่และสภาพการดำรงชีวิตและการมีงานทำของประชาชนอาจจะกลายเป็นเรื่องรองในการวางนโยบาย ระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น การขึ้นภาษีที่เรียกเก็บจากธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐก็จะทำได้ยากเพราะนักลงทุนย่อมไม่พอใจแน่นอน การใช้งบประมาณสาธารณะใน ลักษณะขาดดุลเกินไป นักลงทุนก็ถือว่าไม่ใช่นโยบายมหภาคที่ดีน่าเชื่อถือ ดังนั้น วิธีการที่ใช้คือการตัดลดงบประมาณลง ซึ่งหมายความถึงการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ ของพลเมืองในอันที่จะเข้าถึงอาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และการศึกษาในระดับที่พอเพียง

          ปัจจุบันนี้ มีความตระหนักที่แพร่หลายมากขึ้นว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การนำของบรรษัทธุรกิจเอกชน กำลังริดรอนสิทธิมนุษยชน และ ริดรอนศักยภาพของรัฐที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในแต่ละประเทศ สิทธิที่ถูกริดรอนไม่ใช่เฉพาะสิทธิของปัจเจกบุคคลที่กล่าวมาแล้ว แต่รวมถึงสิทธิของสังคม ส่วนรวมด้วย เช่น สิทธิในการพัฒนา ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์องค์รวมของสิทธิทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเน้นความจำเป็นพื้นฐานและการเสริม ศักยภาพของประชาชน สิทธิของชุมชนในการมีอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติอย่างถาวร สิทธิในภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นเป็นต้น
หลักการพื้นฐานของนักสิทธิมนุษยชนในการต่อต้านการเรียกร้องสิทธิของบรรษัทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบรรษัทการเงินหรืออุตสาหกรรม คือความเป็นจริงที่ว่าบรรษัทไม่ใช่ มนุษย์ จึงไม่มีสิทธิที่เป็นสากลและแปลกแยกมิได้เหมือนมนุษย์ ดังนั้น ในเมื่อรัฐบาลมีภาระผูกพันที่จะต้องพิทักษ์สิทธิ มนุษยชน รัฐบาลย่อมต้องสามารถวางกฎเกณฑ์ใด ๆ ก็ได้ที่จะบังคับให้บรรษัทใดก็ตามที่เข้ามาดำเนินกิจการภายในประเทศตน ต้องรับผิดชอบทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้วย
          ในระดับนานาชาติ ประเด็นพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่หยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันในการวางกฎเกณฑ์ระเบียบสากลทางด้านเศรษฐกิจในเวทีสหประชาชาติ มีหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ
- ความจำเป็นที่จะต้องวางนโยบายว่าด้วยการแข่งขัน เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดโดยบรรษัทขนาดใหญ่ และพิทักษ์ผู้บริโภคจากการถูกครอบงำ และจำกัดทางเลือก ในการบริโภคโดยผู้ผลิตรายใหญ่ รวมทั้งพิทักษ์ผู้ผลิตรายย่อย
- แนวทางที่จะพิทักษ์สิทธิของคนงานที่ต้องรับผลกระทบจากการลงทุนข้ามชาติทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ซึ่งรวมทั้งคนงานที่เป็นลูกจ้างของบรรษัทข้ามชาติ และคนงาน ในบริษัทผู้รับเหมาช่วง รวมทั้งผู้ประกอบการอิสระรายย่อย ซึ่งจะเป็นผู้รับเคราะห์จากภาวะการแข่งขันกันในตลาดโลก
- การป้องกันผลกระทบทางด้านนิเวศที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน และพิทักษ์สิทธิของประชาชนที่เป็นผู้รับเคราะห์จากการอุตสาหกรรมที่มีมลภาวะสูงที่นำเข้ามาจาก ต่างชาติ ซึ่งเป็นประเด็นของความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ระยะยาวของคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น กับกำไรระยะสั้นที่นักลงทุนแสวงหา
          การคิดค้นหาวิธีใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในกระแสโลกาภิวัตน์ ยังคงดำเนินต่อไป แต่ไม่ได้ หมายความว่าจะเป็นทางเดียว หรือจะประสบผลสำเร็จได้ง่าย ๆ เพราะที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนที่ประกาศเป็นปฏิญญาตั้งแต่ปี 2490 ก็ยังคงเป็นเป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง ในแทบทุกสังคม แถมเรายังเห็นแล้วว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในกระแสโลกาภิวัตน์ยังสามารถลดทอนสิทธิที่มีอยู่ในระดับหนึ่งแล้วให้ถอยหลัง เข้าคลองได้
          ในความเห็นของดิฉัน ฉันเห็นว่า การที่จะทำให้นักลงทุนและบริษัทธุรกิจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน ในที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับระดับความตระหนักในสิทธิมนุษยชนของคนในแต่ละสังคม และศักยภาพของประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคทั้งหลายที่จะสร้างแรงกดดันทั้งต่อรัฐ และบรรษัทเอกชนอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย โดยอาจนำปัจจัยหลายๆด้านมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของคนในแต่ละประเทศ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในแต่ละสังคม เพื่อไม่ให้การโฆษณาสินค้าที่ออกไปสู่สายตาของคนทั่วไปอย่างเป็นวงกว้างนั้นไปกระทบถึงสิทธิมนุษยชนของคนอื่น เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วการแก้ไข เยียวยานั้นทำจะได้ยาก

อ้างอิง

[1]ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดมศักดิ์สินธิพงษ์,สิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548.

[2] “กฎบัตรสหประชาชาติ.” (ออนไลน์).http://www.law.cmu.ac.th/law2011/journal/e1378954256.pdf
(สืบค้นวันที่22เมษายน2557)

[3] "การผสมผสานเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์กับสิทธิมนุษยชน." (ออนไลน์). http://focusweb.org/publications/Thai/2001/global-economic-integration-and-human-rights-3-01.html (สืบค้นวันที่22เมษายน2557)

 

หมายเลขบันทึก: 566557เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2014 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2014 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท