ข้อกฎหมายที่ต้องใช้ในการประมวลข้อเท็จจริงคดีอาญาของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (1)


          ในการประมวลข้อเท็จจริงคดีอาญามีข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 กำหนดแยกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

          1.  ข้อกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงาน

          2.  ข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ

          ข้อกฎหมายที่กล่าวต่อไปจะกล่าวเฉพาะข้อกฎหมายที่ต้องใช้ในการประมวลข้อเท็จจริงคดีอาญา

  1. ข้อกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงาน

          -  มาตรา 70 วรรคแรก

          “เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดถูกเรียกมา ส่งตัวมาเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และคดีนั้นเป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้นเพื่อทราบชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิดและอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุลและรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าวทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา 82”

          ความดังกล่าวข้างต้นมีข้อความที่ต้องทำความเข้าใจสองประเด็น คือ

          ประเด็นแรก คดีใดเป็นคดีที่ต้องรับการพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว คดีใดไม่ต้อง ซึ่งคดีที่ไม่ต้องเป็นคดีส่วนน้อย นอกเหนือจากนั้นก็เป็นคดีที่ต้องรับการพิจารณาพิพากษาในศาล คดีที่ไม่ต้องรับการพิจารณาพิพากษาในศาล ได้แก่

          1.  ผู้ต้องหามีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องรับโทษทางอาญา หมายถึง ผู้ที่มีอายุยังไม่เกิน 10 ปี

          2.  เป็นกรณีที่สามารถเปรียบเทียบได้

          3.  เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

          ประเด็นที่สอง ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในเขตอำนาจ หมายความถึง ผู้อำนวยการสถานพินิจใด ซึ่งเขตอำนาจในที่นี้มิได้หมายถึง ถิ่นที่อยู่ของเด็กหรือเยาวชนแต่หมายถึงเขตอำนาจศาล โดยพนักงานสอบสวนต้องพิจารณาว่าเรื่องนั้นจะดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดใด แล้วแจ้งต่อผู้อำนวยการสถานพินิจที่อยู่ในเขตของศาลนั้น

อ้างอิงจาก แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานคดีอาญาสำหรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน                                   โดยนางวิมัย   ศรีจันทรา   ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนและกลุ่มพัฒนาระบบงานคดี                                      สำนักพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน

หมายเลขบันทึก: 566492เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2014 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท