กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


           ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน[1] นอกจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้วยังมีกฎหมายระหว่างประเทศอีก 9 ฉบับซึ่งมีพื้นฐานมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยทั้งหมด 7 ฉบับ ดังนี้

(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)  สาระสำคัญครอบคลุมถึงสิทธิการมีชีวิต เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิเลือกตั้ง

(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR) สาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว สิทธิในการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สิทธิในการประกอบอาชีพ

(3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) สาระสำคัญเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติเพราะสาเหตุทางเพศ

(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)  สาระสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก

ห้ามเลือกปฏิบัติ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก มีสิทธิในการมีชีวิตและเสรีภาพในการแสดงความเห็น

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD) สาระสำคัญเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย ชาติพันธุ์

(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย  ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) สาระสำคัญคือคุ้มครองมิให้มีการทรมานและลงโทษที่โหดร้าย

(7)  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD) สาระสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองคนพิการ  ห้ามเลือกปฏิบัติและการมีส่วนร่วมและสิทธิต่างๆของคนพิการ

                ส่วนกฎหมายระหว่างประเทศอีก 2 ฉบับที่ประเทศไทยมิได้เป็นภาคียังไม่มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย ได้แก่

(8)  อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)  ประเทศไทยมิได้เข้าเป็นภาคี แต่ได้ลงนามไว้แล้ว

(9)  อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families MWC) ประเทศไทยยังมิได้ลงนามใดๆในอนุสัญญานี้

                อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว  มีวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าวคุ้มครองผลประโยชน์ของคนงานอพยพและครอบครัว ซึ่งเป็นบุคคลที่จะมารับจ้าง  ได้รับการจ้างหรือถูกว่าจ้างแล้วในกิจกรรมที่มีค่าตอบแทนในรัฐซึ่งเขาหรือเธอผู้นั้นมิใช่คนชาติ ส่วนมากจะเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิต่อชีวิต สิทธิที่จะต้องไม่ถูกทรมานหรือถูกกระทำการอันทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือถูกปฏิบัติหรือลงโทษโดยดูหมิ่นเหยียดหยาม สิทธิที่จะไม่ถูกกระทำเยี่ยงทาส เสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ในประเทศไทยแรงงานอพยพหรือแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้รับสิทธิ เสรีภาพบางส่วน และมีแนวคิดว่าหากให้สิทธิเสรีภาพแก่แรงงานอพยพได้เท่าเทียมกันคนไทยก็ไม่เหมาะสม เพราะจะกลายเป็นว่าแรงงานอพยพจะเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยจึงมิได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัวดังกล่าว

                แต่แม้ประเทศไทยจะมิได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว แต่ถ้าหากสิทธิต่างๆเป็นสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยซึ่งเข้าเป็นภาคีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อเข้าเป็นภาคีแล้วก็ต้องปฏิบัติกับทุกคน แรงงานอพยพก็นับเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาย่อมมีสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยก็ควรจะต้องเคารพและรับรองสิทธิมนุษยชนให้เขาด้วย

                ดังที่กล่าวมาแล้วว่าประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในตราสารเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับแต่ก็ยังเป็นประเด็นปัญหาว่าการกระทำของรัฐไทยบางอย่างจะเป็นการกระทำที่ขัดกับอนุสัญญาหรือกติการะหว่างประเทศฉบับนั้นๆหรือไม่ และจะถือว่าประเทศไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลนั้นหรือไม่ ตัวอย่างปัญหา คือ

                ผู้สมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาที่มีร่างกายพิการเป็นโปลิโอได้ไปสมัครทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาแต่คณะกรรมการตุลการศาลยุติธรรม ได้พิจารณาคุณสมบัติแล้วมีมติไม่รับ โดยอ้างว่า ผู้สมัคสอบรายนี้ มีสภาพร่างกายและจิตใจไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ  ตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชกรตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543[2] จะเป็นการขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีหรือไม่ และกรณีนี้ประเทศไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีร่างกายเป็นโปลิโอนี้หรือไม่

                อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ข้อ3 การไม่เลือกปฏิบัติ[3] คือจะเลือกปฏิบัติโดยอ้างเหตุว่าเป็นคนพิการไม่ได้ การเป็นโปลิโอก็เป็นความพิการอย่างหนึ่ง การปฏิเสธไม่รับสมัครจึงเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตามดูเหตุผลว่าเขาไม่รับสมัครเพราะอ้างว่ามีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ เทียบกับความพิการอย่างอื่น เช่น พิการทางสมอง หรือใบหน้าไม่สมประกอบ ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าความพิการนั้นมีหลายกลุ่ม โดยต้องแยกว่าเป็นความพิการที่สามารถปฏิบัติงานได้และเป็นสภาพที่เหมาะสมหรือเป็นความพิการที่ไม่อาจปฏิบัติงานได้และเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสม ถ้าบุคคลนั้นมีความพิการที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้อยู่และสภาพเหมาะสมน่าเชื่อถือ หากมีการปฏิเสธไม่รับสมัครก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ และถือเป็นการที่ประเทศไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขาด้วย แต่ถ้าหากบุคคลมีความพิการที่ไม่อาจปฏิบัติงานได้และมีสภาพไม่เหมาะสมไม่น่าเชื่อถือ แม้จะปฏิเสธไม่รับสมัครก็ไม่ขัดกับอนุสัญญาเพราะงานบางอย่างมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดคุณลักษณะเอาไว้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีปัญหาการเป็นโปลิโอเป็นความพิการที่ยังสามารถปฏิบัติงานผู้พิพากษาได้อยู่เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมองและน่าจะยังถือว่ามีสภาพร่างกายที่เหมาะสมอยู่เพราะเป็นโปลิโอเพียงแค่ช่วงล่างของร่างกายมิได้กระทบความน่าเชื่อถือของการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ดังนั้นหากปฏิเสธไม่รับสมัครเพราะการเป็นโปลิโอก็น่าจะขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งควรมีการตีความคำว่า สภาพไม่เหมาะสมว่าหมายความถึงอะไร และความหมายกว้างเพียงใดเพื่อกำหนดให้ได้ชัดเจน

 

[1] ตราสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน.[ระบบออนไลน์].http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions. วันที่ 21 เมษายน 2557

[2] คดีผู้พิการสอบผู้พิพาษา.[ระบบออนไลน์]. http://www.matichon.co.th/play_clip.php?newsid=1340856211.วันที่ 21 เมษายน 2557

[3] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ.[ระบบออนไลน์].http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/crpd%20version%20thai-eng.pdf . วันที่ 21 เมษายน 2557

 

หมายเลขบันทึก: 566481เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2014 07:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท