กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

สิทธิมนุษยชน ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษาศาสนา และสถานภาพทางกายและสุขภาพรวมทั้งความเชื่อทางการเมือง หรือความเชื่ออื่นๆที่ขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้ สิทธิมนุษยชนนั้น เมื่อถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว ส่งผลให้เกิดความสำคัญ ดังนี้

  1.              มนุษย์ชนทุกคนเกิดมาแล้วย่อมมีสิทธิในตนเอง สามารถปกป้องตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่สมควรที่บุคคลอื่นจะถือสิทธิ ครอบครอง ซื้อขายใช้แรงงานกดขี่ ทรมาน หรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย
  2.              มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คือชอบอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นพวก มีอิสระ สร้างสรรค์ผลงาน พัฒนาศักยภาพของตนเอง
  3.              มนุษย์มีเกียรติภูมิที่เกิดเป็นมนุษย์ มีคุณค่าในตนเอง มีความภาคภูมิใจ ไม่ควรเหยียดหยามบุคคลอื่นด้านชื่อเสียง เกียรติยศ การประจาน ต่อสาธารณชนให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง ดังนั้น กฎหมายจึงต้องคุ้มครองป้องกันสิทธิของบุคคล เกียรติยศ ชื่อเสียง
  4.              มนุษย์ทุกคนเกิดมามีฐานะไม่เท่าเทียมกัน ศักยภาพไม่เท่าเทียมกันแม้ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ผิกาย สุข สถานภาพทางสังคม การศึกษาไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น บุคคลพึงได้รับการคุ้มครองจากรัฐในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ[1]

 

โดยสิทธิมนุษยชนที่ได้กล่าวมานั้น ถูกรับรองและได้รับการคุ้มครองจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ และรวมทั้งในภายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

                1. ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

- มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

- มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรม อันดีของประชาชน บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

2. ความเสมอภาคของบุคคล

- มาตรา 5 ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความ คุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

- มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เท่าเทียมกัน

3. สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

- มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย[2]

ที่ได้กล่าวมานั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

ประเด็นของการนำเสนอในครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็คล้องจองกับที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปในข้างต้นว่า สิทธิมนุษยชนนั้นได้มีการรองรับและคุ้มครองไว้ในกฎหมาย แต่หากเกิดประเด็นที่ว่า หากตัวบทกฎหมายของไทยเองนั้นได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ประชาชนจะมีความคิดเห็นอย่างไร และมีทางแก้ปัญหาตรงไหนอย่างไรได้บ้าง

โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างในเรื่องของการกำหนดโทษประหารชีวิต ซึ่งถือเป็นโทษสูงสุดในทางกฎหมายอาญา เพราะตามหลักแล้วมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต จะมีผู้ใดมาเข่นฆ่า หรือทำร้ายไม่ได้ แต่การที่กฎหมายได้บัญญัติโทษไว้เช่นนี้นั้นทำให้เกิดประเด็นโต้เถียงกันอย่างมากมาย ว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีความจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่จำเป็น โดยในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว 140 ประเทศ ขณะเดียวกันยังมี 58 ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ ซึ่งในประเทศเหล่านี้เพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่นำโทษประหารชีวิตมาใช้จริง ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลางและหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยอยู่ด้วย ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นดังนี้

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิตมักมองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยและสันติภาพในสังคม อีกทั้งสังคมจะได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะว่านี่เป็นการทำให้ไม่เกิดการฆาตกรรมในอนาคต เพราะว่าฆาตกรจะไม่มีชีวิตอยู่อีกแล้ว นอกจากนี้แล้วเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะว่าคนที่อาจจะเป็นฆาตกรในอนาคตต้องกลับมาคิดรอบสองว่าโทษมันหนักแค่ไหน และผู้ที่สูญเสียควรได้รับความเท่าเทียมกันสูงสุด คือฆาตกรก็สมควรสูญเสียเช่นกันสุดท้าย ถึงแม้ว่าการประหารชีวิตบางครั้งเกิดจากการตัดสินที่ผิดพลาดหรือการยัดหลักฐาน ฯลฯ แต่นี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น การสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายรวมกันแล้วอาจจะน้อยกว่าการฆาตกรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการไม่มีโทษประหารชีวิตเลย[3]

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิตให้ความเห็นว่า  การประหารชีวิตก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการฆาตกรรมคนอย่างถูกกฎหมาย ความตายก็คือความตาย ดีไม่ดีผู้ที่ถูกตัดสินอาจจะถูกประหารชีวิตอย่างไม่โปร่งใส อีกอย่างคือผู้ที่ต้องเจ็บปวดสุดท้ายก็ไม่ใช่คนที่ตาย แต่เป็นญาติ ๆ ของคนที่ต้องตายมากกว่า อีกทั้งยังเป็นการสร้างความโกรธแค้นระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจก่อให้เกิดคดีต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย อีกทั้งหลักฐานหลายหลักฐานจากประเทศที่ยกเลิกการประหารชีวิตในยุโรปบอกว่า การเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้คดีฆาตกรรมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด  และท้ายที่สุดการประหารชีวิตเป็นการสร้างทัศนคติส่งเสริมการล้างแค้น

 ซึ่งเมื่อได้พิจารณาจากความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายนั้น โดยส่วนตัวของผู้เขียนเองนั้น มีความเห็นว่าหากสามารถที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตไปนั้นก็จะเป็นการดีทีเดียว เนื่องจากจะไม่ขัดกับหลักสิทิมนุษยชน และจะไม่เป็นการจำกัดและตัดสินเกี่ยวกับสิทธิในการดำรงชีวิตของผู้ใด แต่หากมองเฉพาะในมุมของประเทศไทย ตัวผู้เขียนเห็นว่า ประเทศไทยนั้นควรยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ ไม่ใช่เวลานี้ เพราะการประหารชีวิตนับว่าเป็นการลงโทษที่ทำให้คนในสังคมยังเกรงกลัวกฎหมายอยู่ แม้จะวัดไม่ได้ในเชิงปริมาณแต่หากพิจารณาดูแล้วในเชิงคุณภาพนั้น โทษประหารชีวิตนั้นก็มีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการกระทำความผิดร้ายแรงมิใช่น้อย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ยังต้องมีโทษประหารชีวิตอยู่ นอกจากนี้คุณภาพของประชากรของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันกับประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว หากจะยกเลิกโทษประหารชีวิตจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชนก่อน อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมต้องเข้มงวดกวดขันให้มากยิ่งขึ้น และตรงไปตรงมายิ่งขึ้น ไม่ให้ผู้เสียหายรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความกังขาในกระบวนการยุติธรรมอย่างในหลายๆคดีที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงจะต้องเตรียมความพร้อมมากพอสมควร

 

 

[1] http://siwapornpearwa.blogspot.com/2008/02/blog-post_2382.html

[2] http://www.l3nr.org/posts/367187

[3] http://www.oknation.net/blog/print.php?id=29463

หมายเลขบันทึก: 566473เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2014 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท