กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
     ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลัก ๆ มีทั้งสิ้น 9 ฉบับ แต่ไทยได้ลงนามเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจำนวน 7 ฉบับ ดังนี้[1]
1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) กล่าวถึงสาระของสิทธิในส่วนที่เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อาทิ เสรีภาพในการมีชีวิต เสรีภาพจากการถูกทรมาน การห้ามมิให้บุคคลถูกจับกุมตามอำเภอใจ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
     - ไทยมีคำแถลงตีความใน 4 ประเด็นคือ (1) การใช้สิทธิการกำหนดเจตจำนงตนเอง ซึ่งไทยมิให้ตีความว่า อนุญาตหรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยกดินแดน 2) เรื่องการห้ามการพิพากษาลงโทษประหารชีวิตบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งไทยมีกฎหมายห้ามไว้เรียบร้อยแล้ว 3) เรื่องการนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่การพิจารณาคดี โดยพลัน ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียง 48 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าได้คุ้มครองกรณีนี้แล้ว 4) เรื่องการห้ามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสงคราม นั้น ไทยถือว่าไม่รวมถึงสงครามเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่ไทยจำเป็นต้องประชา สัมพันธ์และชักชวนให้ประชาชนรักชาติในกรณีที่ต้องทำสงครามเพื่อป้องกันการ รุกรานจากประเทศอื่น ทั้งนี้ ไทยกำลังอยู่ในระหว่างการถอนถ้อยแถลงตีความข้อ (2) และ (3)
2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมInternational Covenant on Economic, Social and Cultural Rights (ICESCR) กล่าวถึงสาระของสิทธิ ได้แก่ สิทธิในการทำงาน สิทธิในด้านการศึกษา สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิในวัฒนธรรม
     - ไทยมีคำแถลงตีความในการใช้สิทธิการกำหนดเจตจำนงตนเอง ซึ่งไทยมิให้ตีความว่า อนุญาตหรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยกดินแดน
3. อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW) กล่าวถึงความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรีในด้านการเมืองและการดำรงชีวิต เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิของสตรีที่จะต้องได้รับการดูแลทางเศรษฐกิจ การป้องกันความรุนแรงต่อสตรีในสถานที่ทำงาน และการเข้าถึงบริการสุขภาพ ฯลฯ ความเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรีในด้านกฎหมาย
     - ไทยมีคำแถลงตีความว่า ข้อบทในอนุสัญญา CEDAW ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย
     - ไทยมีข้อสงวนในข้อ 16 เกี่ยวกับการสมรสและความสัมพันธ์ทางครอบครัว และข้อ 29 เกี่ยวกับการเสนอเรื่องให้ศาล ICJ พิจารณาในกรณีการพิพาทระหว่างรัฐภาคี ขณะนี้ ไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาถอนข้อสงวนข้อ 16
4. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child (CRC) สิทธิต่างๆ ที่เด็กพึงได้รับ ประกอบด้วย สิทธิและเสรีภาพของเด็กโดยทั่วไป การคุ้มครองร่างกาย ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพของเด็ก การให้สวัสดิการสังคมแก่เด็ก การคุ้มครองสิทธิทางแพ่ง การคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาความประพฤติหรือกระทำความผิดทางอาญา การคุ้มเด็กผู้ด้อยโอกาส
     - ไทยมีข้อสงวนในข้อ 22 เรื่องสถานะของเด็กผู้ลี้ภัย ซึ่งไทยยังไม่รับสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายภายในของไทยและไทยไม่ได้เป็นภาคี Convention Relating to the Status of Refugees
5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination (CERD) คำจำกัดความของคำว่าการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ว่าหมายถึง การจำแนก กีดกัน การจำกัดหรือการเอื้ออำนวยพิเศษ เพราะเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย หรือชาติกำเนิด หรือเผ่าพันธุ์ และการดำเนินมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ
     - ไทยมีคำแถลงตีความทั่วไปว่า รัฐบาลไทยจะไม่ตีความหรือใช้บทบัญญัติใดๆ ที่ปรากฏในอนุสัญญาเป็นพันธกรณีเกินกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในของไทยได้ บัญญัติไว้
- ไทยมีข้อสงวนข้อ 4 โดยตีความว่าข้อบทดังกล่าวที่ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการเชิงบวกในการขจัดการ กระตุ้นหรือการเลือกปฏิบัติตามที่ระบุในข้อ 4(ก) (ข) (ค) ก็ต่อเมื่อพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมายเท่านั้น และข้อ 22 ว่าด้วยกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคีโดยไม่สามารถเจรจาตกลงด้วยวิธีการ อื่นใด และรัฐคู่กรณีเสนอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณา
6. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT) กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายอาญา เขตอำนาจที่เป็นสากลเกี่ยวกับความผิดการทรมาน และหลักการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
     - ไทยมีคำแถลงตีความ ข้อ 1 เรื่องคำนิยามของคำว่า "การทรมาน" ข้อ 4 เรื่องการกำหนดให้การทรมานทั้งปวงเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายอาญา และข้อ 5 เรื่องให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อาจจำเป็นเพื่อให้ตนมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่อ้างถึงตามข้อที่ 4 ขออนุสัญญา โดยทั้งสามข้อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยที่ใช้บังคับอยู่ใน ปัจจุบัน
     - ไทยมีข้อสงวน ข้อที่ 30 วรรคหนึ่ง โดยประเทศไทยไม่รับผูกพันตามข้อบทดังกล่าว (ซึ่งระบุให้นำข้อพิพาทเกี่ยวกับการตีความหรือการนำอนุสัญญาฯ ไปใช้ ขึ้นสู่การวินิจฉัยชี้ขาดของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้หากคู่พิพาทฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งร้องขอ) ซึ่งการจัดทำข้อสงวนในข้อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ยอมรับอำนาจของศาล ยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นการล่วงหน้า เว้นเสียแต่ว่าจะพิจารณาเห็นสมควรเป็นกรณีๆ ไป
7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ Convention on the Rights of the Persons with Disabilities (CRPD) ความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ สตรีพิการ เด็กพิการ และการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับคนพิการในสังคม
     -ไทยมีคำแถลงตีความข้อ 18 วรรค 2 เกี่ยวกับสิทธิในการจดทะเบียนเกิด สิทธิในการมีชื่อ และสิทธิในการได้สัญชาติของเด็กพิการ โดยให้เป็นไปตามกฎหมายภายในของไทย

      ไทยได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคล ทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จะมีผลบังคับใช้กับไทยก็ต่อเมื่อประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ภายหลังจากการลงนาม ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาเกี่ยวกับการเสนอร่างกฎหมาย เพื่อรองรับพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ก่อนที่ไทยจะดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ต่อไป และอนุสัญญาที่ยังไม่ได้เป็นภาคีคือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและครอบครัว[2]

ปัญหาสิทธิคนพิการ
      ปัญหาที่จะขอหยิบยกมาก็คือเรื่องสิทธิของคนพิการ แม้ในปัจจุบันได้มีการกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน ตามพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นการคุ้มครองและรับรองสิทธิให้แก่คนพิการ สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ เคารพความแตกต่าง ความเท่าเทียมของโอกาส และกล่าวถึงสิทธิของคนพิการ เช่น การจ้างงาน สุขภาพ การศึกษา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเกิดปัญหาอยู่มากมาย เช่น การถูกปฏิเสธการเข้าสมัครสอบคัดเลือกจากหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐโดยอ้างว่าขาดความน่าเชื่อถือ การปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าทำงานหรือปฏิเสธไม่รับตั้งแต่ขั้นตอนของการสมัครเข้ารับคัดเลือกนั้นย่อมเป็นการละเมิดข้อสัญญาในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และขัดกับพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้ในความเป็นจริงคนพิการนั้นยังถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมอยู่ ปัญหานี้ยังเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ กล่าวคือ หากหน่วยงานปฏิเสธโดยไม่รับคนพิการเข้าทำงานโดยอ้างเหตุผล เช่น ความไม่น่าเชื่อถือ คำถามคือต้องเป็นอย่างไรจึงจะน่าเชื่อถือ แล้วความน่าเชื่อถือกับอาชีพนั้นควรอยู่ในระดับไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการตีความกันต่อไป ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าควรมีการตีความว่าความพิการนั้นอยู่ในระดับใดและอาชีพที่ต้องการทำนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร สาระสำคัญของอาชีพคืออะไร อาจช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมต่อคนพิการได้บ้าง

[1] ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี.  เข้าถึงได้จาก:  http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions [ออนไลน์].  สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2557

[2] ประเทศไทยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ.  เข้าถึง ได้จาก:  http://www.mfa.go.th/humanrights/news/1-latest-news/167--thailand-signs-the-international-convention-on-the-protection-of-all-persons-from-enforced-disappearance [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 566472เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท