กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน และเพื่อเป็นการประกันความมั่นคงและสันติภาพของโลกและมวลมนุษยชาติ กฎบัตรสหประชาชาติจึงมีข้อบทหรือมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนอยู่หลายข้อ รวมทั้งการจัดตั้งกลไกต่างๆ เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน โดยกลไกเหล่านี้ได้มีการพัฒนามาโดยตลอด และได้รับรองกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ อาทิ กติการะหว่างประเทศ อนุสัญญา รวมทั้ง แนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐสมาชิกมีพันธกรณีตามกฎหมาย และ/หรือทางจริยธรรมที่จะต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนากฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี กล่าวคือ เป็นสนธิสัญญาที่มีรัฐมากกว่าสองรัฐขึ้นไปเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ซึ่งกระบวนการในการทำสนธิสัญญามีหลายขั้นตอน นับตั้งแต่การเจรจา การให้ความยินยอมของรัฐเพื่อผู้พันตามสนธิสัญญาโดยการลงนาม การให้สัตยาบัน การภาคยานุวัติ และบางรัฐอาจตั้งข้อสงวน หรือตีความสนธิสัญญา และเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำสัญญาครบถ้วนแล้ว ภาคีก็มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่อไป การเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดในทางระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญาดังกล่าว พันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของไทย

ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญา ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งสหประชาชาติถือเป็น สนธิสัญญาหลัก จำนวนทั้งสิ้น 7 ฉบับได้แก่ 

  1. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC)
  2. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Woman - CEDAW)
  3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covernant on Civil and Political Rights - ICCPR)
  4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covernant on Economics, Social and Cultural Rights - ICESCR)
  5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD)
  6. อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT)
  7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

ในที่นี้ขอกล่าวถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covernant on Civil and Political Rights - ICCPR)[1]

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประกอบด้วยวรรคอารัมภบท และบทบัญญัติ 53 ข้อ ซึ่งแบ่งเป็น 6 ส่วน ดังนี้ 

ส่วนที่ 1 วรรคอารัมภบท กล่าวถึงพันธกรณีของรัฐด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตร สหประชาชาติ รวมทั้งหน้าที่ของบุคคลที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และได้รับสิทธิทั้งด้านพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วนที่ 2 กล่าวถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเอง (right of self-determination)

ส่วนที่ 3 กล่าวถึงพันธกรณีของรัฐภาคีที่รับรองจะเคารพและประกันสิทธิของบุคคล รวมถึงการห้ามการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทาง เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ถิ่นกำเนิด หรือสภาพอื่นใด โดยจะดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติภายในประเทศ ประกันว่าบุคคลที่ถูกละเมิดจะได้รับการเยียวยา ไม่ว่าบุรุษหรือสตรีจะได้รับสิทธิพลเมืองและการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน การลิดรอนสิทธิในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการห้ามการตีความกติกาในอันที่จะไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ

ส่วนที่ 4 กล่าวถึงสาระของสิทธิในส่วนที่เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในการมีชีวิตอยู่ เสรีภาพจากการถูกทรมาน การห้ามบุคคลมิให้ตกอยู่ในภาวะเยี่ยงทาส การห้ามบุคคลมิให้ถูกจับกุมโดยตามอำเภอใจ การปฏิบัติต่อผู้ถูกลิดรอนเสรีภาพอย่างมีมนุษยธรรม การห้ามบุคคลถูกจำคุกด้วยเหตุที่ไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้ เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน ความเสมอภาคของบุคคลภายใต้กฎหมาย การห้ามมิให้มีการบังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง สิทธิการได้รับรองเป็นบุคคลตามกฎหมาย การห้ามแทรกแซงความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก การห้ามการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการสงครามหรือก่อให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ สิทธิที่จะชุมนุมอย่างสันติ การรวมกันเป็นสมาคม สิทธิของชายหญิงที่อยู่ในวัยที่เหมาะสมในการมีครอบครัว การคุ้มครองสิทธิเด็ก และการที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในกิจการสาธารณะ การรับรองว่าบุคคลทั้งปวงย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมายและได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน การรับรองสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางเผ่าพันธุ์ ศาสนา และภาษาภายในรัฐ

ส่วนที่ 5 กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกติกา รวมถึงพันธกรณีในการเสนอรายงานของรัฐภาคี การยอมรับอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และขั้นตอนการพิจารณาข้อร้องเรียน

ส่วนที่ 6 ห้ามการตีความไปในทางขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งการมิให้ ตีความในการที่จะลิดรอนสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี 

ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ประเทศไทยจึงมีพันธะผูกพันที่จะต้องดำเนินการตามพันธะกิจหลักของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) 4 ประการ ได้แก่

  1. การประกันให้เกิดสิทธิต่างๆตามที่ระบุในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  2. การปฏิบัติให้เกิดสิทธิตามที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ด้วยความก้าวหน้า
  3. การเผยแพร่หลักการของสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นั้นอย่างกว้างขวาง
  4. การจัดทำรายงานความก้าวหน้า สถานการณ์และอุปสรรคภายในประเทศ เกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 12

  1. บุคคลทุกคนที่อยู่ในดินแดนของรัฐใดโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในอาณาเขตของรัฐนั้น

ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับรองเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายของบุคคลภายในอาณาเขตของรัฐนั้นได้อย่างเสรี แต่อย่างไรก็ดียังมีบุคคลบางประเภทที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย เช่นกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือที่เรียกว่า กลุ่มคนเลขศูนย์  บุคคลเหล่านี้ไม่มีเสรีภาพที่จะเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ต่างๆได้อย่างอิสระ ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง หากจะเคลื่อนที่ออกจากพื้นที่ที่กำหนดจะต้องทำการขออนุญาตจากรัฐก่อน

บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม คนชนเผ่า ทางภาคเหนือเช่นชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคใต้ก็ หรือแม้แต่เด็กเร่รอนที่ไม่รู้ว่าใคร คือ พ่อแม่ บุคคลเหล่านี้เนื่องจากตกสำรวจบ้าง หรือไม่มีหลักฐานแสดงตน เช่น ใบรับรองการเกิดที่จะพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวกับแผ่นดินไทยบ้าง สุดท้ายจึงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองจากรัฐไทย แต่เพราะเขามีชีวิตและตัวตนจริงบนแผ่นดินไทย มีพี่น้องครอบครัวอยู่ในแผ่นดินไทย รัฐจึงลงทะเบียนให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นคนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นคนไร้สัญชาติ ให้เลขที่บัตรประจำตัวบุคคลขึ้นต้นด้วยเลข 0 แทบจะไม่มีสิทธิใดๆ จากรัฐไทย ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ไม่มีสิทธิที่จะถือครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิทำใบขับขี่ ไม่มีสิทธิในการเดินทางอย่างเสรี และ ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ 

การที่รัฐจำกัดการเคลื่อนย้ายของบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนนั้น ถือเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองข้อ 12 หรือไม่?

อย่างไรก็ดีตามข้อ 12 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้กล่าวถึงบุคคลที่อยู่ในดินแดนของรัฐโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะมีสิทธิในการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี

ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า หากจะกล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นบุคคลที่อยู่ในรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะการที่รัฐออกบัตรที่ขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์ ย่อมเป็นการแสดงว่า รัฐยอมรับถึงการมีอยู่ของบุคคลเหล่านี้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น การที่รัฐกำหนดว่าการที่บุคคลเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ที่กำหนดต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งในบางกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน เช่น ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนเจ็บป่วยสาหัส และโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่นอกเขตพื้นที่ที่บุคคลเหล่านี้อาศัยอยู่ หากจะต้องทำการขออนุญาตก่อนซึ่งกินเวลาเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที จึงอาจกล่าวได้ว่าการจำกัดสิทธิในการเคลื่อนย้ายของบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนดังกล่าวถือเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

[1] ศูนย์ศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี (http://www.msu.ac.th/politics/CHRN/chrn_1.htm)

ที่มา :

1. มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่าประเทศ,, มหาชัย ศรีทองกลาง, http://law.east.spu.ac.th/law/admin/waaa_file/A29mahachai2.pdf สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2557

2. พันธกรณีระหว่างประเทศ, http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/contentpage.php?id=21&menu_id=2&groupID=2&subID=19 สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2557

3.แนวทางปฏิบัติและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/contentpage.php?id=23&menu_id=2&groupID=2&subID=21 สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2557

4.ตื่นตัว AEC ต้องใส่ใจคนเลข 0, นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000005299 สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 566457เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท