HR-LLB-TU-2556-TPC-กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย : Mercy Killing การุณยฆาต

 

ที่มารูปภาพ : http://gulfnews.com/polopoly_fs/1.718528!/image/82...

 

          คนเราเมื่อเกิดมา ย่อมอยากจะมีชีวิตอยู่กันทั้งสิ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้ชีวิตอยู่นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย บางคนย่อมอยากจบชีวิตก่อนถึงเวลาอันควร บางคนเมื่อใช้ชีวิตไปแล้ว ก็มีความเป็นอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ไม่สามารถฟื้นฟูจากอาการเจ็บป่วยได้ ไม่ว่าจะด้วยความช่วยเหลือจากผู้ใดก็ตาม ผู้นั้นย่อมอยากที่จะจบชีวิตลง แต่ความต้องการที่จะจบชีวิตลงของเขานั้น บางครั้งอาจแลกมาด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นในทางกายหรือทางจิตใจ จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าการจบชีวิตลงของเขานั้น ไม่ต้องแลกมาด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัสก่อนตายของเขา?

          สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งนั้น คือสิทธิในชีวิตและร่างกาย ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 วรรคหนึ่ง1 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย หมายความว่า เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น สิ่งแรกที่จะได้เมื่อคลอดออกมา คือ สภาพบุคคล ที่เป็นมนุษย์ และย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ โดยเสมอภาคกัน และไม่สามารถยกความเป็นสภาพบุคคลให้ใครได้ เพราะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาโดยธรรมชาติ ซึ่งจะเรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นเหตุผลจากธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์นั่น มีสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองให้ปลอดภัย สิ่งนั้นเป็นผลทำให้มีกฎหมายมาคุ้มครองเพื่อความสบายใจของมนุษย์นั้น และมนุษย์ผู้มีสิทธิทุกคนก็ไม่ควรไปละเมิด หรือทำร้ายให้คนอื่นได้รับอันตรายด้วย รวมถึง การฆ่าผู้อื่นหรือการทำร้ายบุคคลอื่นถึงแก่ความตายไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ล้วนแต่เป็นความผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น อีกทั้ง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายย่อมรวมถึงสิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีชีวิตอยู่หรือจบชีวิตลง เพราะการเลือกที่จะตายหรือมีชีวิตอยู่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล2

          นอกจากนี้ แม้ว่าบุคคลจะไม่ได้ลงมือฆ่าผู้อื่นด้วยตนเองก็ตาม แต่เป็นการช่วยเหลือยุยงหรือปฏิบัติการอันทารุณโหดร้าย เพื่อบีบคั้นให้ผู้อื่นฆ่าตัวตาย ก็มีความผิดทางอาญาเช่นกัน ตามมาตรา292 และ มาตรา293 ประมวลกฎหมายอาญา มาตราสองมาตรานี้ ประสงค์คุ้มครองชีวิตมนุษย์ที่การตัดสินใจฆ่าตัวตายของเขาไม่สมบูรณ์ เช่น เด็ก คนวิกลจริต คนที่ต้องพึ่งพาบางอย่าง ถ้าบุคคลใดมีส่วนกดดันให้เขาฆ่าตัวตาย บุคคลนั้นต้องรับผิด

          แต่ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีเจตจำนงค์ในการฆ่าตัวตาย ถ้าเจตจำนงค์ของเขาเป็นอิสระ ไม่ได้ถูกบิดเบือนโดยบุคคลใด เขาย่อมมีสิทธิในการจบชีวิตของตนเอง เนื่องจากเขามีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตของเขาตามมาตรา32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่มีใครสามารถบังคับให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้าเขาไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ สิทธิในการจบชีวิตของเขายังสอดคล้องกับมประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติให้การฆ่าตัวตายมีความผิด ตามหลัก Nullum Crimen Nulla Poena Sine Lege (No Crime Nor Punishment Without Law) หรือไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย ซึ่งหลักนี้ ปรากฎในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นกัน ตามมาตรา39 วรรคหนึ่ง3 บัญญัติว่า บุคคลไมตองรับโทษอาญา เวนแตไดกระทําการอันกฎหมายที่ใชอยูในเวลาที่กระทํานั้นบัญญัติเปนความผิดและกําหนดโทษไว และโทษที่จะลงแกบุคคลนั้นจะหนักกวาโทษที่กําหนดไวในกฎหมายที่ใชอยูในเวลาที่กระทําความผิดมิได ดังนั้น เมื่อไม่มีการบัญญัติให้การฆ่าตัวตายเป็นความผิด ผู้ที่ฆ่าตัวตายก็จะไม่มีความผิดทางอาญาในการฆ่าตัวตายของเขา

          เมื่อคนเราต้องการจะจบชีวิตด้วยความต้องการของเขาเอง ไม่มีผู้ใดสามารถไปห้ามเขาได้ เช่นเดียวกับคนที่มีความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยและรู้ว่าเสียอย่างไรนั้นตนก็ไม่มีวันที่จะได้รับการรักษาเสียจนหายได้ก็อาจต้องการให้ตนนั้นตายลงอย่างสงบ และไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป การกระทำให้ผู้ป่วยที่มีความทุกข์ทรมานมาก ไม่สามารถรักษาให้หายได้จบชีวิตลง เรียกว่าการุณยฆาต หรือ Euthanasia4

          การุณยฆาต หมายถึง การกระทํา หรืองดเว้นการกระทำอยางหนึ่งอยางใด เพื่อใหบุคคลที่ตกอยู่ในสภาวะน่าเวทนา เดือดรอนแสนสาหัส เนื่องจากสภาวะทางรางกาย หรือจิตใจไมปกติ ขาดการรับรูเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ทําการรักษาใหหายไมได ดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ก็มีแต่จะสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์ การจบชีวิตลงทำขึ้นเพื่อใหพนจากความทุกขทรมาน รักษาศักดิ์ศรีความเปนมนุษย และจํากัดความสูญเปลาทางเศรษฐกิจ สรุปอยางงายคือ การทําให้ผู้ป่วยตายดวยเจตนาที่แฝงดวยเจตนาดี ทําลงไปดวยความกรุณา เพื่อใหผูป่วยพ้นจากความทุกขทรมาน

          การุณยฆาต มีอยูสองประเภท5 คือ

          1. การช่วยใหผูปวยที่สิ้นหวังตายอยางสงบ (active euthanasia) คือ การที่แพทยฉีดยา ใหยา หรือกระทําโดยวิธีอื่นๆ ใหผูปวยตายโดยตรง การยุติการใช้เครื่องชวยหายใจ ก็จัดอยูในประเภทนี้ดวย การกระทำการุณยฆาตเช่นนี้เรียกอีกแบบหนึ่งว่า Mercy Killing ตัวอย่างของประเทศที่สามารถใช้วิธินี้ได้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สิงคโปร์

          2. การปลอยใหผูปวยที่สิ้นหวังตายอยางสงบ (passive euthanasia) คือ การที่แพทย์ไมสั่งการรักษา หรือยกเลิกการรักษาที่จะยืดชีวิตผู้ปวยที่สิ้นหวัง แต่ยังคงให้การดูแลรักษาทั่วไป เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมานของผูป่วยลง จนกวาจะเสียชีวิตไปเอง

           ในประเทศไทยนั้น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ6 มาตรา12 บัญญัติไว้ว่า

          "บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติความทรมานจากการเจ็บป่วยได้

          การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการนั้นเป็นความผิดแล้วพ้นจากความผิดทั้งปวง"

          มาตรา บัญญัติว่า

          "ในพระราชบัญญัตินี้

          “บริการสาธารณสุข” หมายความว่า บริการต่างๆอันเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพการป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดสภาวะความเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพของบุคคล รอบครัวและชุมชน

          “ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข”หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล"

          หากพิจารณามาตรา 3 และมาตรา 12 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้ยอมรับการทำการุณยฆาตโดยการตัดการรักษา (Passive Euthanasia) ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยนั้นมีสิทธิที่จะเลือกว่าตนต้องการที่จะได้รับการบริการสาธารณสุขที่ยืดชีวิตของตนหรือไม่ เช่น ประสงค์จะไม่ให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น แต่ประเทศไทยไม่ยอมรับการทำการุณยฆาตโดยการเร่งให้ตาย (Active Euthanasia) ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์คนหนึ่งหมดหวังกับชีวิตและได้รับความทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคนั้น จะร้องขอให้แพทย์ผู้รักษาฉีดยาให้ตนตายและจากไปอย่างสงบไม่ได้ และถ้าแพทย์ผู้นั้นได้กระทำลงแพทย์ผู้นั้นย่อมได้รับโทษทางอาญา7

          โดยความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าคิดว่า การที่ประเทศไทยยอมรับเฉพาะการกระทำการุณยฆาตโดยการตัดการรักษาเพียงอย่างเดียวนั้น ยังเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยอยู่ เนื่องจากยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ ต้องทนอยู่ในสภาพผัก (vegetative state) หากสั่งยกเลิกการรักษาที่จะยืดชีวิตผู้ปวย แต่ยังคงให้การดูแลรักษาทั่วไปต่อไป เขายังต้องทนทุกข์ทรมานในสภาพที่เขาเป็นอยู่ในเวลาที่ยาวนานขึ้น อีกทั้ง สภาพจิตใจของเขาย่อมอ่อนแอลงทุกวัน การที่ต้องทนเห็นสภาพของตนเองที่ไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป ต้องพึ่งพายาหรือเครื่องมือทางการแพทย์อยู่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนว่าเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมนุษย์อีกต่อไปแล้ว สุขภาพจิตของเขาย่อมทุกข์ทรมานลงเหมือนกับสุขภาพกายของเขาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือด้านจิตใจ หากให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ย่อมไม่เกิดผลดีกับทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติของผู้ป่วยอย่างแน่นอน เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบและญาติจะได้สบายใจ การกระทำการุณยฆาตแบบช่วยใหผูปวยที่สิ้นหวังตายอยางสงบนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรถูกนำกลับมาถูกทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

          ข้าพเจ้าขอนำเสนอประสบการณ์ตรงของมารดาข้าพเจ้า ซึ่งเคยเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่โรคของเขาไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และในวาระสุดท้ายของชีวิต เขาต้องสิ้นลมหายใจไปกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของโรคของเขา

          ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย (เท้า) ตีบตัน แพทย์ไม่สามารถทราบได้ว่าหลอดเลือดตีบตันระดับไหน ปลายเท้าของผู้ป่วยเน่า และปวดทรมานมากเพราะเลือดไปเลี้ยงไม่ถึง แพทย์จึงตัดสินใจตัดปลายเท้าออก แต่ต่อมา ก็ยังพบว่าหลอดเลือดยังคงตีบตัน เป็นลักษณะที่ต้องทำผ่าตัดหลายครั้ง ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาพที่ทรมานจากการเจ็บป่วยทางกาย คือสูญเสียอวัยวะ และทางจิตใจ คือ ทุกครั้งหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะพบว่าขาของตนนั้นสั้นลงเรื่อยๆ เนื่องจากหลอดเลือดตีบตับเกือบทั้งขา อีกทั้งแพทย์ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยจะสามารถหายได้หรือไม่ เพราะภาวะของโรคเป็นซ้ำและหนักขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยได้กล่าวกับพยาบาลว่า ถ้าต้องเป็นแบบนี้ ยอมตายดีกว่า คือความตายเป็นทางออกที่ดีที่สุดของเขา ให้เขาพ้นความความทุกข์ทรมาน แต่ความประสงค์ของเขา แพทย์ไม่สามารถตอบสนองได้ เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ และแพทย์ก็ไม่สามารถกระทำการุณยฆาตแบบช่วยใหผูปวยที่สิ้นหวังตายอยางสงบ แม้ว่าผู้ป่วยรายนี้จะได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน เขาก็ยังต้องทนทุกข์ทรมานมาก เนื่องจากต้องให้ยาแก้ปวดซ้ำทุกๆ2-4ชั่วโมง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องน้ำ หรือเดินไปที่ใดก็ตาม สภาพจิตใจของผู้ป่วยนั้นวนเวียนอยู่กับคำว่าเป็นภาระแก่ญาติพี่น้อง และรับสภาพการสูญเสียอวัยวะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างสำคัญไม่ได้ ผู้ป่วยคนนี้ต้องการการกระทำการุณยฆาตเป็นอย่างมาก แต่แพทย์ไม่สามารถกระทำให้ได้ สุดท้าย เขาจึงต้องจบชีวิตไปพร้อมกับความเจ็บปวดแสนสาหัสของเขา โดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือเขาได้

          ในความเห็นของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าคิดว่า การกระทำการุณยฆาตแบบช่วยใหผูปวยที่สิ้นหวังตายอยางสงบนั้น ควรถูกนำมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำการุณยฆาตแบบใด ผู้ป่วยต้องเป็นผู้แสดงเจตนาเอง เจตนาของผู้ป่วยนั้นควรเกิดมาจากเจตจำนงค์อิสระของผู้ป่วย เกิดจากการตัดสินใจที่ไม่มีสิ่งใดมาครอบงำ อีกทั้งเพื่อความชัดเจนแน่นอน เนื่อ

          จากเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับชีวิตของคนคนหนึ่ง การแสดงเจตนานั้นควรทำเป็นหนังสือ เช่นการแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อผู้ป่วยได้พบเจอกับความสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป


จิดาภา รัตนนาคินทร์

20 เมษายน 2557



1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. 2550. แหล่งที่มา :http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Consti...20 เมษายน 2557.

2 ธัญวลี อุณหเสรี. 2554. สิทธิในชีวิตและร่างกาย. แหล่งที่มา : http://www.l3nr.org/posts/465925. 20 เมษายน 2557.

3 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่1

4 การุณยฆาตกับ ร่างพรบ.ปฏิรูปสุขภาพ. แหล่งที่มา : http://meded.kku.ac.th/medednew/b_a_l/08_08_50_2.p... 20 เมษายน 2557.

5 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่4

6 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ. 2550. แหล่งที่มา : http://www.moph.go.th/hot/national_health_50.pdf. 20 เมษายน 2557.

7 สิริภา ค้าขาย. 2552. แหล่งที่มา : http://www.l3nr.org/posts/257523. 20 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 566327เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2014 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท