STEM ดินสอพอง


ดินสอะองซ่อนตำนานและความรู้วิทยาศาสตร์

       สสวท.- ในช่วงหน้าร้อนนี้เราจะทำอย่

างไร เพื่อให้หายและคลายร้อน?การ คลายร้อนจะมีวิธีการต่างๆ สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ทาแป้งเย็น เปิดพัดลม การใส่เสื้อผ้าบางๆ หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน คือ การทานข้าวแช่ ไอศครีม น้ำแข็งไส ส่วนผลไม้ที่คลายร้อนที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือแตงโม หรือตามแบบอย่างวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่
       
       ส่วนตามธรรมชาติสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ (Science: S) จากธรรมชาติตามอัตภาพแห่งตน
       ในยามร้อน ควายได้เรียนรู้จากธรรมชาติว่าตนมีต่อมเหงื่อน้อยกว่าเพื่อนในระนาบเดียวกันก็คือวัว ควายจึงเลยต้องลงไปแช่ปลักโคลน เพื่อให้คลายร้อน ให้ผิวหนังไม่ถูกแดดเผา และเป็นการรักษาอุณหภูมิในร่างกาย ยังไม่พอ เมื่อขึ้นมาแล้วดินแห้งพอกหนังป้องกันแมลงหรือริ้นไรดูดเลือดได้ แต่มนุษย์เรากลับ ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะคนไทยมักนำไปใช้กับคำพูดดูถูกที่ว่า “ควายจมปลัก” ซึ่งเป็นคำพูดในเชิงลบ
       
       ขณะที่ช้างจะใช้วิธีการดับและคลายความร้อนโดยการพ่นน้ำด้วยความดันสูง ซึ่งช้างจะแสดง ภูมิปัญญาด้านเทคโนโลยี (Technology: T) ให้เราได้ชมความน่ารัก ด้วยการฉีดน้ำเล่นให้เปียกทั้งตัวได้โดยใช้งวง ซึ่งไม่ต้องพึ่งวัสดุหรือใช้เทคโนโลยีระดับสูงอย่างท่ออัดฉีดแบบมนุษย์สร้างขึ้นมา
       
       ส่วนอีกวิธีการหนึ่งของการดับความร้อนที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามและโดดเด่น ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนไทย ที่ได้ปฏิบัติสืบกันมาอย่างช้านานเพื่อเป็นการได้คลายร้อนที่เรียกกันว่า “เทศกาลสงกรานต์” ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี คือ การใช้น้ำเป็นตัวแทน รวมทั้งแป้งหรือดินสอพองในการละเล่นด้วย
       
       วันสงกรานต์ของไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 เม.ย เป็นประจำทุกปี “สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือดวงอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 เมษายนเป็น “วันเนา” และวันที่ 15 เมษายน เป็น “วันเถลิงศก”
       
       กิจกรรมที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน รวมทั้งได้คลายความร้อนในช่วง เทศกาลสงกรานต์ คือ การสรงน้ำ รดน้ำ เล่นน้ำ รวมทั้งการเล่นประดินสอพอง ดินสอพองถือเป็นสมุนไพรรสยาเย็น ใช้แก้พิษร้อนกับร่างกาย แก้ผดผื่นและคัน ที่พิเศษคือเป็นยาห้ามเหงื่อ นอกจากไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะจาก อากาศร้อนแล้ว ยังทำให้ร่างกายเย็นสบาย อีกทั้งการใช้ดินสอพองประหน้า สามารถป้องกันแดด ด้วยมีฤทธิ์คล้ายยา กันแดดชนิดกายภาพ และนักวิจัยเพิ่งพบว่าเป็นยากันแดดได้ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นวิธีการคลายความร้อนของคนไทย
       
       นายราม ติวารี ผู้อำนวยการสาขาฟิสิกส์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้อธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการการเรียนการ สอนแบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และตำนาน “STEM l ” (S: Science + T: Technology + E: Engineering + M: Mathematic + l : legend ) ผ่านดินสอพองในเทศกาลสงกรานต์
       
       ผู้อำนวยการสาขาฟิสิกส์ เล่าว่าจากตำนาน (l : legend) ดินสองพองมีแหล่งกำเนิดและผลิตที่ใหญ่และคุณภาพดีที่สุดของไทย อยู่ที่หมู่บ้านหินสองก้อน บ้านท่ากระยาง บ้านสะพาน และแหล่งอื่นของ จ.ลพบุรี เมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของเหล่าวานร ซึ่งตามตำนานเมืองลพบุรี ที่เล่าสืบต่อกันมา เมื่อครั้งที่พระรามอวตารของพระนารายณ์ปราบทศกัณฐ์แห่งเมืองลงกา (คาดว่าประเทศศรีลังกาปัจจุบัน) ได้สำเร็จ พระองค์จึงคิดปูนบำเหน็จให้กับหนุมานทหารเอก
       
       พระนารายณ์ทรงปูนบำเหน็จโดยการแผลงศรออกไปและถ้าศร ตกลงที่ใด มณฑลที่ตกนั้นก็เป็นของหนุมาน ศรของพระรามเป็นศรศักดิ์สิทธิ์ เมื่อแผลงมาตกที่ทุ่งพรหมมาสตร์ (หมายถึงจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) ก็ทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ หนุมานจึงใช้หางกวาดเปลวไฟให้ดับ โดยดิน ในบริเวณที่ถูกไฟจึงสุกกลายเป็นสีขาว เรียกว่า “ดินสอพอง” และเถ้าดินที่ถูกหางหนุมานกวาดออกไปก็กลายเป็นภูเขาล้อมรอบจังหวัดลพบุรีนั่นเอง
       
       ด้านวิทยาศาสตร์ (S) ดินสอพอง (ดินขาวพองเมื่อโดนน้ำ) หรือเราเรียกดินมาร์ล มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต อุดมไปด้วยเนื้อปูนที่มีองค์ประกอบของแร่เคลย์และอาราโกไนต์ มาร์ลเป็นคำโบราณที่ถูกนำมาใช้เรียกวัตถุที่หลากหลายโดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุเนื้อหลวมๆ ของดินที่มีองค์ประกอบหลักของเนื้อผสมระหว่างดินเคลย์และแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดแวดล้อมที่เป็นน้ำจืด เป็นวัตถุเนื้อดินประกอบด้วยแร่เคลย์ประมาณ 65% และคาร์บอเนต 35%
       
       "คำเรียกที่ใช้ในปัจจุบันหมายถึงตะกอนที่ตกสะสมตัวในทะเลและในทะเลสาบที่แข็งตัว ซึ่งเพื่อให้ถูกต้องแล้วต้องเรียกว่า 'มาร์ลสโตน' ซึ่งเป็นหินที่แข็งตัวมีองค์ประกอบเดียวกันกับดินมาร์ลที่อาจเรียกว่าหินปูนมีการแตกแบบกึ่งก้นหอย คำว่า “มาร์ล” เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกกันอย่างกว้างขวางในทางธรณีวิทยา" ผอ.สาจาฟิสิกส์กล่าว
       
       ตามพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ได้ให้นิยามดินสอพองว่าเป็นหินปูนเนื้อมาร์ล (marly limestone) เมื่อนำมะนาวบีบใส่ น้ำมะนาวมีสภาพกรดซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนตเกิดเป็นแกสคาร์บอนไดออกไซด์เป็นฟองฟูขึ้น ดูเผินๆ ก็เห็นว่าดินนั้นพองตัว จึงเรียกกันว่า “ดินสอพอง”
       
       ในทางกระบวนการของเทคโนโลยี (T) และวิศวกรรม (E) ได้นำกระบวนการทั้งสองมาใช้ในการผลิตดินสอพองนั่นเอง ขั้นที่หนึ่ง คือ การขนดินมาร์ลใส่บ่อกาก แล้วปล่อยน้ำลงไปผสมให้ดินละลาย เมื่อดินละลายน้ำดีแล้วตักน้ำในบ่อกากเทใส่ตะแกรงลงในบ่อกรองหรือบ่อเนื้อเพื่อแยกเอาหินกรวดและเศษหญ้าทิ้ง
       ขั้นที่สอง ตักน้ำดินจากบ่อกรอง เทผ่านผ้ากรองลงในบ่อทำแผ่น ทิ้งไว้หนึ่งคืน ดินมาร์ลซึ่งมี สีขาว จะตกตะกอนนอนก้นบ่อตอนบนจะเป็นน้ำใส ค่อยๆ ช้อนหรือดูดเอาน้ำใสนี้ออกจากบ่อ จนเหลือ แต่ดินขาวข้นเหมือนดินโคลนเรียกดินสอพอง
       
       ขั้นที่สาม ตักโคลนดินสอพองหยอดใส่แม่พิมพ์ที่ทำด้วยโลหะไม่ขึ้นสนิม หรือใส่ไม้ไผ่นำมาขดเป็นวงกลม ก่อนหยอดโคลนดินสอพองลงแล้วปล่อยให้แห้ง จะต้องใช้ผ้าใบหรือผ้าชนิดอื่นๆ ปูรองพื้นแม่พิมพ์ก่อน เพื่อให้ผ้าดูดซับน้ำจากโคลนดินสอพองด้วย
       
       สุดท้ายขั้นที่สี่หลังจากหยอดโคลนดินสอพองลงในแม่พิมพ์แล้ว ทิ้งไว้กลางแจ้งสักครู่ ดินสอพองจะแห้งหมาดเกาะติดกันเป็นก้อนแข็งพอที่จะใช้มือหยิบได้ นำดินสอพองไปวางบนตะแกรงไม้ไผ่ ผึ่งแดดให้แห้งสนิท เมื่อแห้งดีแล้วจะมีสีขาวกว่าแผ่นที่ยังไม่แห้ง ก็นำไปใช้ได้
       
       นายรามยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการนำดินสอพองมาใช้เล่นสงกรานต์ โดยนำมาผสมกับสีต่างๆ อาจมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ หรือเชื้อก่อโรคอื่นๆ และหากนำมาเล่นโดยไม่ระมัดระวังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ ดินสอพองยังใช้แก้ดินเปรี้ยวได้ เนื่องจากดินเปรี้ยวมีสภาพเป็นกรด มีค่า pH4 เมื่อเติมดินสอพอง ที่มีค่า pH 9.22 – 9.63 มีความเป็นด่าง โดยใช้คณิตศาสตร์ (M) เป็นตัวช่วยในการหาปริมาณที่เหมาะสมก็จะแก้ดินเปรี้ยวได้ส่วนดินสอพองที่ใช้ในเทศกาลสงกรานต์ต้องปรับค่า pH ให้เหมาะ กับผิวหนังของเรา คือ มี pH 5.0 – 8.0 โดยใช้สารสกัดจากพืชเป็นส่วนผสม
คำสำคัญ (Tags): #stem
หมายเลขบันทึก: 566249เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2014 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2014 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท