กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


 

          มาตรการการลงโทษทางอาญาของผู้กระทำความผิดนั้น ถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรง เนื่องจากเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลผู้กระทำความผิดโดยลักษณะของโทษที่จะบังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยมี 5 ประการ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้

            (1) ประหารชีวิต

            (2) จำคุก

            (3) กักขัง

            (4) ปรับ

            (5) ริบทรัพย์สิน

            โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

            ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี[1]

            ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามมาตรา 18 แล้ว สามารถแบ่งลักษณะของโทษที่จะบังคับแก่ผู้กระทำความผิดได้ 3 ประการ ดังนี้

            1. โทษที่บังคับต่อชีวิต ได้แก่

โทษประหารชีวิต โดยการเอาไปยิงเสียให้ตาย

           2.    โทษที่บังคับต่อเสรีภาพ ได้แก่

โทษจำคุก โดยมีกำหนดระยะเวลาและไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งการคำนวณเกี่ยวกับระยะเวลาจะคุกจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

            โทษกักขัง ให้กักขังผู้ต้องโทษไว้ในสถานที่อันมิใช่เรือนจำโดยมีระยะเวลาอยู่ภายในเงื่อนไขของกฎหมายและจะนำไปใช้เป็นการลงโทษหรือเป็นมาตรการบังคับในกรณีที่ฝ่าฝืนการลงโทษปรับ ริบทรัพย์ ตลอดจนเรียกประกันทัณฑ์บนในวิธีเพื่อความปลอดภัย

           3.    โทษที่บังคับต่อทรัพย์สิน ได้แก่

โทษปรับ ผู้นั้นต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา หาก

ขัดขืนผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือกักขังแทนค่าปรับ โทษนี้มักใช้คู่กับโทษจำคุก

            โทษริบทรัพย์ บังคับเอาแก่ทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ได้มาโดยการกระทำความผิด และได้ให้เป็นสินบนหรือได้ให้เพื่อจูงใจเป็นรางวัลในการกระทำความผิด[2]

            โทษประหารชีวิตนั้นเป็นโทษสูงสุดของผู้กระทำความผิด โดยการประหารชีวิตนั้นได้มีการแบ่งแนวความคิดออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีการสนับสนุนให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต

            แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะยังคงมีโทษประหารชีวิตแต่ในทางปฏิบัติ หากแต่ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการประหารชีวิตใน พ.ศ. 2552 หลังจากนั้นเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี จนกระทั่งถึงปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้มีการประหารชีวิตแต่ประการใด ดังนั้นหากประเทศไทยจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในอนาคต อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม และเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนชาวไทย

รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิผู้กระทำผิดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง[3]

            ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าควรที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยโทษประหารชีวิตนั้นไม่ควรมีอยู่ต่อไป เนื่องจากการลงโทษประหารชีวิตเป็นการกระทำที่โหดร้าย ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของผู้กระทำความผิดให้ออกไปจากสังคม เป็นตัวอย่างให้กับประชาชนที่คิดจะกระทำความผิดไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก ดังเช่นสุภาษิตไทยที่ว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ข้าพเจ้ามีความคิดว่าควรที่จะใช้วิธีการอื่นที่จะนำมาบังคับแก่ผู้กระทำความผิด เช่น เปลี่ยนจากโทษประหารชีวิตมาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนได้

หากเปรียบเทียบประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่คือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่เป็นอภิมหาอำนาจของโลกกับประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วคือประเทศแคนาดานั้น พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการลงโทษอย่างเฉียบขาดและมีความรุนแรง ยังคงมีจำนวนอาชญากรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากประเทศแคนาดาที่มีจำนวนอาชญากรรมลดลง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่นั้นจะมีผลเป็นการยับยั้งการกระทำความผิดได้มากน้อยเพียงใด

แนวคิดเบื้องหลังของโทษประหารชีวิต สามารถพิจารณาได้เป็น 3 ประการ ดังนี้

  1. เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของผู้ที่เสียหาย หากกฎหมายไม่มีบทกำหนดโทษประหารชีวิตให้แก่ผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้เสียหายก็จะมีความรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่ตนได้ถูกกระทำและรู้สึกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม ก็อาจทำให้ผู้เสียหายเกิดความแค้นและได้บันดาลโทสะกระทำความผิดต่อผู้ที่กระทำความผิดเสียเอง โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายเพราะกฎหมายมีความอ่อนแอ จึงทำให้เกิดการล้างแค้นขึ้นอย่างไม่รู้จบ ดังนั้นกฎหมายจึงต้องกำหนดโทษประหารชีวิตไว้ด้วย
  2. เพื่อให้เกิดการยับยั้งการกระทำความผิดอันจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสังคม เนื่องจากการกำหนดโทษประหารชีวิตนั้น เป็นการลงโทษที่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนทั่วไปที่คิดจะกระทำความผิด
  3. เพื่อที่จะไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกับการยับยั้งการกระทำความผิดในประการที่ 2 คือเพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรม โดยในส่วนของความแตกต่างนั้น การลงโทษเพื่อไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดซ้ำนั้นถือเป็นการตัดโอกาสผู้กระทำความผิด เพื่อให้ผู้นั้นออกไปจากสังคมคือทำให้หมดโอกาสในการกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก ส่วนการยับยั้งการกระทำความผิดนั้นมีจุดประสงค์ในการทำให้ประชาชนเกิดความเกรงกลัวไม่กระทำความผิดขึ้นอีก

        ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 5 “บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้”[4]โดยขัดกับสิทธิมนุษยชนตรงที่คนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งได้มีการรับรองไว้ในปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

        องค์การสหประชาชาติได้มีการเรียกร้องให้สมาชิกขององค์การสหประชาชาติยกเลิกการประหารชีวิต จากการเริ่มจัดตั้งองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2488 มีเพียง 8 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประการ ในวันนี้สมาชิกองค์การสหประชาชาติ 136 จาก 192 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารทั้งในทางกฎหมายหรือปฏิบัติแล้ว แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มภายในประชาคมระหว่างประเทศที่ส่งเสริมและเคารพในสิทธิมนุษยชนมากขึ้น[5]

        แนวทางการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ประกอบด้วย การให้การศึกษาอบรมเพื่อให้ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อต้านการยกเลิกโทษประหารชีวิต ไปสู่ทัศนคติที่เป็นกลาง และทัศนะที่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด รวมทั้งการผลักดันให้มีการนำมาตรการที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ทีละขั้นตอน เพื่อลดการต่อต้านการยกเลิกโทษประหารชีวิต และการผลักดันให้มีการการปรับปรุงระบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยความรวดเร็วและแน่นอน ดำเนินการคู่ขนานไปกับมาตรการยกเลิกโทษประหารชีวิต[6]

 

        อ้างอิง

[1] ประมวลกฎหมายอาญา http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB06/%BB06-20-9999-update.pdf (สืบค้นวันที่ 11 เมษายน 2557)

[2] โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย https://sites.google.com/site/criminallawnr/khwam-rab-phid-thang-xaya/thos-laea-withi-kar-pheux-khwam-plxdphay (สืบค้นวันที่ 10 เมษายน 2557)

[3] โทษประหารชีวิตในประเทศไทย http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F07970.pdf (สืบค้นวันที่ 11 เมษายน 2557)

[4]ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf (สืบค้นวันที่ 10 เมษายน 2557)

[5]มุมมองด้านสิทธิมนุษยชนต่อการใช้โทษประหารชีวิต  http://www.amnesty.or.th/th/our-work/end-the-death-penalty (สืบค้นวันที่ 10 เมษายน 2557)

[6] โทษประหารชีวิตในประเทศไทย http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F07970.pdf (สืบค้นวันที่ 10 เมษายน 2557)

        

หมายเลขบันทึก: 566066เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2014 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2014 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท