กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


                       สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิซึ่งมนุษย์ทุกคนมีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเนื่องจากความเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

                ในส่วนของกฎหมายระหว่างประเทศ  ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ถือกำเนิดขึ้นโดยการรับรองของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สำหรับเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ตามข้อ3 แห่งปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิต ในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ในปี 2491 จึงทำให้มีการรับรองสิทธิมนุษยชนไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ม.32 วางหลักไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

                กฎหมายภายในของประเทศไทย เมื่อพิจารณาถึงสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ในส่วนที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษอันอาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยตรง

                ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาของไทย ได้บัญญัติเกี่ยวกับโทษที่จะลงกับผู้กระทำความผิดไว้ 5 ประการ          โดย ม.18 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติว่า โทษสำหรับลงแก่ ผู้กระทำความผิด มีดังนี้
                (๑) ประหารชีวิต
                (๒) จำคุก
                (๓) กักขัง
                (๔) ปรับ
                (๕) ริบทรัพย์สิน
            โทษประหารชีวิต และ โทษจำคุกตลอดชีวิต มิให้นำมาใช้ แก่ ผู้ซึ่ง กระทำความผิด ในขณะที่มีอายุ ต่ำกว่า สิบแปดปี
             ในกรณี ผู้ซึ่ง กระทำความผิด ในขณะที่มีอายุ ต่ำกว่า สิบแปดปี ได้กระทำความผิด ที่มีระวางโทษ ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่า ระวางโทษดังกล่าว ได้เปลี่ยนเป็น ระวางโทษ จำคุก ห้าสิบปี 

                เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมมีแนวโน้มการก่อเหตุในลักษณะทวีความรุนแรงขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการก่ออาชญากรรมและวิธีการประกอบอาชญากรรมของผู้กระทำความผิด โดยปัญหานี้ได้ทำลายความสงบสุขของประชาชนและสังคมโดยรวม เพราะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกันสังคมให้สงบสุข โดยมีการตรากฎหมายกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งโทษจะหนักหรือเบาก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมก่อเหตุและสภาพความผิด โดยเชื่อว่าการลงโทษผู้กระทำความผิดจะก่อให้เกิดผลดีต่อความสงบของสังคมอันจะทำให้อาชญากรรมลดลง

                ซึ่งโทษที่รุนแรงที่สุดก็คือ โทษประหารชีวิต โดยมีแนวคิดว่า “โทษประหารชีวิตเป็นวิธีเดียวที่จะกำจัด อาชญากรที่เป็นภัยให้ออกไปจากสังคมได้โดยเด็ดขาด” คนส่วนใหญ่จึงเกรงกลัวต่อโทษประหารชีวิตมากกว่าโทษประเภทอื่น ฉะนั้นการที่ยังคงมีการใช้โทษนี้อยู่จึงทำให้คนไม่กล้ากระทำความผิดที่มีลักษณะรุนแรงอันเป็นการป้องกันอาชญากรรมได้อีกทางหนึ่ง แต่ก็ยังมีผลเสียในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและดำเนินการลงโทษประหาชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปแล้วย่อมไม่สามารถแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวได้ [1]

                อีกทั้งตามหลักแล้วโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ3 “บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย” และ ข้อ 5 “บุคคลใดจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือหยามเกียรติมิได้” [2]เพราะการลงโทษประหารชีวิตเป็นการพรากเอาไปซึ่งการดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นมนุษย์และเป็นการกระทำโดยตรงต่อร่างกาย อีกทั้งวิธีการประหารชีวิตโดยส่วนใหญ่ เป็นการทำทารุณต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคอ การลงดาบประหารชีวิต การยิงเป้า การใช้เครื่องประหารไฟฟ้า เป็นต้น

                จึงเกิดเป็นประเด็นถกเถียงถึงความจำเป็นของโทษประหารชีวิตว่าต้องมีอยู่หรือไม่จำเป็น มาอย่างยาวนาน โดยในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว 140 ประเทศ ขณะเดียวกันยังมี 58 ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ ซึ่งในประเทศเหล่านี้เพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่นำโทษประหารชีวิตมาใช้จริง ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลางและหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยอยู่ด้วย

            ในอดีตการประหารนักโทษมีอยู่หลายวิธีด้วยกันแต่ในสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนไปการประหารชีวิตโดยการยิงเป้า โดยนับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 - 2552 มีนักโทษถูกประหารชีวิตทั้งสิ้น 319 คน กระทั่งวันที่ 18 ก.ย.2546 การประหารชีวิตด้วยปืนถูกยกเลิก แต่ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 ก.ย. 2546 นักโทษชาย 4 คน ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ยุติการประหารชีวิตไป โดยระหว่างปี พ.ศ. 2546-2551 (ยังมีโทษอยู่แต่ไม่มีการนำนักโทษไปประหาร) แต่ในวันที่ 24 ส.ค. 2552 มีการฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษชาย 2 คนที่เรือนจำบางขวาง ที่ถูกจับกุมข้อหาค้ายาเสพติดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2544 และศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต ทำให้จนถึงวันนี้มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดยาให้ตายทั้งสิ้น 6 คน[3]

                ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารยังคงมีการถกเถียงเรื่องโทษประหารอยู่ตลอดเวลาในสังคม โดยฝ่ายที่เห็นว่าควรมีโทษประหารชีวิต มักมองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยและสันติภาพในสังคม แต่ในฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต มองว่าโทษประหารชีวิตมีลักษณะที่โหดร้าย ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา อีกทั้งยังมีการวิจัยในเชิงวิชาการมาแล้วหลายครั้งว่า โทษประหารชีวิตไม่สามารถลดปัญหาการเกิดอาชญากรรมได้ โดยงานวิจัยระบุว่า ปัจจัยที่จะทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงนั้นคือเรื่องของความรวดเร็วในการจับกุมและความชัดเจน แต่หากคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียหายและคนที่ถูกทำร้ายที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ ประเด็นที่ว่าการยกเลิกโทษประหารมีความจำเป็นจริงหรือไม่จึงเกิดขึ้น เพราะที่จริงแล้วผู้ที่มีโอกาสถูกลงโทษประหารชีวิตหากรับสารภาพ ศาลก็อาจลงโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตแทนอยู่แล้ว อีกทั้งโทษประหารชีวิตยังสามารถขออภัยโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตได้ ซึ่งนับเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาของโทษที่สามารถทำได้อยู่แล้ว

                ในเรื่องดังกล่าวนักศึกษามีความเห็นว่า แม้โทษประหารชีวิตจะเป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการพรากเอาสิทธิในการดำรงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งไป แต่ถ้าหากพิจารณาในเรื่องของพฤติกรรมการกระทำความผิดที่ร้ายแรงของตัวผู้กระทำความผิดเอง และประเภทของความผิดที่เขาได้กระทำลงไปนั้นก่อให้เกิดความไม่สงบสุขภายในสังคม คนในสังคมต้องหวาดกลัวถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินและร่างกาย และความเสียหายในบางเหตุการณ์ก็ไม่สามารถชดเชยให้กับผู้ที่เดือดร้อนได้ เช่น การสูญเสียบุคคลในครอบครัวไป โทษประหารชีวิตจึงยังสมควรบัญญัติไว้อยู่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดที่ร้ายแรงอันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม

                                                                                                                     จุฬาลักษณ์ หาญนาวี

                                                                                                                       11เมษายน2557

อ้างอิง

[1]ข้อดีข้อเสียของโทษประหารชีวิตกับสังคมไทย,สืบค้นทาง  http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/jrp2555_10_25.pdf(เข้าถึงข้อมูลวันที่11เมษายน2557)

[2] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน,สืบค้นทาง  http://www.lexilogos.com/declaration/thai.htm (เข้าถึงข้อมูลวันที่11เมษายน2557)

[3] โทษประหารชีวิต ความจำเป็นที่ต้องคงอยู่ หรือความรุนแรงที่ควรยกเลิก,สืบค้นทาง  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/127538/โทษประหารชีวิต+ความจำเป็นที่ต้องคงอยู่+หรือความรุนแรงที่ควรยกเลิก!%3F (เข้าถึงข้อมูลวันที่11เมษายน2557)

หมายเลขบันทึก: 565919เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2014 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท