เพราะฉันขัน ตะวันจึงขึ้น


เมื่อขาดเรา เขาก็อยู่กันได้ ทุกอย่างยังคงเป็นไปดั่งเช่นที่เคยเป็น

          เมื่อ ๑-๒ ปีที่ผ่านมา ได้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเกิดความประทับใจในบทความเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีข้อคิดที่เตือนสติได้เป็นอย่างดี สามารถใช้สอนตัวเองได้ เป็นเรื่องของไก่ กับพฤติกรรมการขันที่เกี่ยวพันกับการขึ้นของดวงอาทิตย์ ซึ่งบางครั้งเมื่อคนเราประสบความสำเร็จหลายๆ ครั้ง ก็อาจภาคภูมิใจในความรู้ ความสามารถของตน จนหลงลืมตัวไป คิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าไม่ใช่ตัวเองงานเหล่านี้จะสำเร็จไม่ได้ ถึงได้ก็ไม่ดี

          พอนึกขึ้นได้ก็ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมใน googleพบเรื่องนี้อยู่หลายแห่ง จะขอนำเสนอในรูปแบบของกิเลน ประลองเชิง ในไทยรัฐ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๕ ที่ตนเองชื่นชอบก็แล้วกัน (https://www.thairath.co.th/column/pol/chuckthong/277451)

          ชื่อเรื่อง “ไก่ไม่ขัน ตะวันไม่ขึ้น” ในหนังสือชื่อ ชาล้นถ้วย (สำนักพิมพ์ปราณ) ท่าน ว.วชิรเมธี เขียน

          มีไก่อยู่ครอบครัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในวัดเซนประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้บริหารที่เก่งมาก กางปีกปกป้องภรรยาและลูกๆทุกตัว อยู่กันมาอย่างมีความสุข ทุกๆ เช้าเวลาตีห้า พ่อไก่ก็จะบินขึ้นไปเกาะบนกิ่งไม้ แล้วโก่งคอขัน เสียงก้องไปทั้งพงไพร พ่อไก่ขันไปเรื่อยๆ จนพระอาทิตย์ขึ้นมาฉายแสง ส่องสว่างไปทั้งสากลโลกพ่อไก่มีความสุขมาก เขาชื่นชมแสงตะวัน พอๆ กับความรู้สึกภูมิใจ เขาคิดว่า เพราะฉันขัน ตะวันจึงขึ้นตะวันขึ้นไปถึงยอดเขา พ่อไก่ก็จึงบินกลับลงมา คลุกคลีอยู่กับลูกเมีย

          พ่อไก่ทำหน้าที่มาเนิ่นนาน...นานเหลือเกิน จนวันหนึ่ง เขาเริ่มรู้สึกว่า เขาเริ่มเหนื่อย ร่างกายเขาตรากตรำกับงานหนักเกินไป แต่เมื่อถึงเวลา เป็นหน้าที่ที่พ่อไก่จะต้องบิน...เขาบินขึ้นไปจนถึงกิ่งไม้ แต่ก็หมดแรงร่วงหล่นลงมา   ลูกชายซึ่งเป็นไก่โต้งรุ่นใหม่ไฟกำลังแรง เห็นดังนั้น ก็เข้าไปประคอง “ถ้าพ่อไม่ไหว วันนี้ผมขอขันแทน”“น้ำหน้าอย่างแก” พ่อไก่ยืดอกชี้หน้าลูกชาย “ถ้าขัน ตะวันจะขึ้นหรือ หัดดูเงาตัวเองเสียบ้าง” ตวาดให้ลูกชายไฟแรงกลัวหัวหดแล้ว พ่อไก่ก็แข็งใจ บินขึ้นไปอีก คราวนี้เขาไม่เพียงเกาะกิ่งไม้ได้ เขายังขันได้เป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็หมดเรี่ยวแรงตกลงมา แสดงอาการใกล้ตาย พ่อไก่ยังเหลือเรี่ยวแรงเรียกประชุมไก่ลูก ไก่เมีย สั่งเสียให้ลูกเมียเตรียมรับสถานการณ์ เขาบอกว่านับแต่นี้ต่อไป เมื่อพ่อไก่อย่างเขาไม่ขัน ดวงตะวันก็จะไม่ขึ้น เมื่อตะวันไม่ขึ้นโลกก็จะเข้าสู่กลียุค   จึงขอให้เมียและลูกดูแลกันให้ดี เพราะต่อไปนี้จะต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก เพราะอีกไม่ช้า โลกก็จะวิบัติ สั่งเสียจบแล้ว ไก่ผู้พ่อก็ล่วงลับดับขันธ์

          นิทานเรื่องนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี เล่าเพื่อสอนว่า มีคนมากมายในโลกนี้ ที่ป่วยเป็นโรคสำคัญตนผิด มีความคิดฝังลึกว่า “ตัวฉันสำคัญที่สุด” ขาดฉันเสียคนหนึ่ง ทุกอย่างในบ้านเมือง ในองค์กรในบริษัท ก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้ ขณะที่เขาคิดว่าโลกนี้ขาดเขาไม่ได้ มองไปอีกด้าน โลกกลับไม่เคยรู้สึกว่า ขาดเขาแล้ว จะหมุนต่อไปไม่ได้ ก่อนจะมีเขา ชาวโลกก็อยู่กันมาได้ สรรพสิ่งในโลกล้วนดำเนินของมันไปตามปกติ   แม่น้ำก็ยังคงไหล ตะวันก็ยังคงฉายส่อง นกยังคงร้องเพลง และดอกไม้ก็ยังคงผลิบาน ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ดำเนินไป ไม่เคยหยุดกระแสการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

          ท่าน ว. ทิ้งท้ายไว้ว่า “คนสำคัญคนหนึ่งของโลก อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป พระจันทร์ก็ยังไม่หยุดส่องแสง พระอาทิตย์ก็ยังไม่เคยไว้ทุกข์”

          ข้อคิดนี้ใช้ได้กับทุกหมู่เหล่าอาชีพ เพียงแต่อย่าคิดหลงเข้าข้างตัวเองว่า "ขาดฉันแล้ว เขาอยู่ไม่ได้" เพราะ ที่ผ่านมา เมื่อวันใดขาดใครไปเมื่อใด วันรุ่งขึ้น ก็จะมีคนใหม่มาแทนที่ ทันที ชีวิตก็ยังดำเนินไปตามปกติ.

 

หมายเลขบันทึก: 565839เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2014 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2014 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

<p>มีธรรมชาติบนพื้นที่เล็กๆมาฝาก…</p>

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท