ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


                                ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วทุกสังคม มีทั้งปัญหาเล็กน้อย กระทั่งปัญหาใหญ่ หากจะกล่าวถึงสังคมไทย ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอยู่อย่างมาก โดยในที่นี้ จะขอกล่าวถึง ปัญหาสิทธิมนุษยชนของชาวโรงฮิงญา ที่ได้มีการหนีภัยความตายเข้ามาอาศัยพักพิงในประเทศใกล้เคียง รวมถึงประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่สื่อทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นปัญหาสำคัญ ที่เชื่อมต่อกับสังคมโลกเลยก็ได้ ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้

                                โรฮิงญา เป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่า ที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่า ปฏิเสธสถานภาพของพลเมืองชาวโรฮิงญา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมาก ต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหา ชีวิตที่ดีกว่า[1]

                การที่ชาวโรฮิงญาอพยพข้ามน้ำทะเลอันดามันไปยังประเทศต่างๆ อธิ บังกลาเทศ มาเลเซีย ปากีสถาน รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากโดนกดขี่จากรัฐบาลทหารพม่าในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การไม่ได้รับสัญชาติพม่า การถูกห้ามเข้าศึกษาเล่าเรียน การไม่มีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา ระหว่างชาวโรฮิงญา กับประชาชนชาวพม่า ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากจำต้องยอมอพยพจากดินแดนบ้านเกิดของเขาที่มีทั้งความทรงจำ และความผูกพัน เพื่อไปยังดินแดนที่เขาจะได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งในสังคมโลก

          ทำให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนกว่าหมื่นคนอพยพมายังดินแดนไทย เพื่ออยู่กินและใช้ชีวิตที่มีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน ที่ได้กำหนดไว้ในสิทธิมนุษยชน หลายปีที่ผ่านมาปัญหาชาวโรฮิงญาเปรียบเสมือนเรือกลางกระแสคลื่นช่วงไหนคลื่นลมแรงหลบเข้ามาฝั่งมีคนสนใจ ปัญหาเหล่านั้นก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อหาทางออก แต่เมื่อลมสงบการแก้ไขปัญหาก็หยุดนิ่ง เหมือนกับว่าไม่มีปัญหานั้นเกิดขึ้นอีกเลย[2]

                เหตุการณ์เหล่านี้เอง ถือเป็นการที่กลุ่มชนชาวโรฮิงญา ได้ถูกการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งยังไม่ได้รับความคุ้มครองทางด้านสิทธิมนุษยชน จากประเทศที่ให้ที่พักพิงเท่าที่ควร หากแต่ขึ้นอยู่กับสื่อจะกดดันอย่างไรเท่านั้น

                นอกจากนี้ ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ต่อสถานภาพของชาวโรฮิงญานั้น ชาวโรฮิงญา ในสายตาของประเทศไทย ก็เป็นเพียงบุคคลต่างด้าว ที่หลบหนีเข้าเมืองมาเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนในการปฏิบัติต่อบุคคลเช่นว่านี้ คือ การส่งกลับประเทศ แต่อย่างไรก็ดี หากจะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดกับกรณีดังกล่าว ก็คงจะไม่ต่างจากการฆ่าบุคคลเช่นว่านี้ ให้ตายอย่างทรมานด้วยความบริสุทธ์ เพราะ บุคคลเหล่านี้ หนีภัยความตายจากการที่รัฐบาลของประเทศตน ไม่ยอมรับถึงสถาะความเป็นพลเมือง อีกทั้งปฏิบัติต่อตนเสมือนมิใช่มนุษย์ แม้การใช้กฎหมาย เพื่อส่งตัวบุคคลเหล่านี้กลับประเทศ  จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งรัฐนั้น แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงหลัก นิติธรรม และความยุติธรรมประกอบกันด้วย มิใช้เพียงแค่ความถูกต้องตามตัวอักษรเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบบกฎหมายและเพื่อให้ประชาชนสามารถ เชื่อมั่นได้ว่ากฎหมายนั้นเป็นธรรม ดังนั้นการที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อลงโทษชาวโรฮิงญากลุ่ม นี้ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม โดยผลักดันพวกเขาสู่ความสิ้นหวังและความตายนั้นย่อมเป็นการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไม่เป็นธรรม ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมาย[3]

                ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว ตัวผู้เขียนเอง ก็ได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ละได้พบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้ โดยการแก้ไขปัญหาจึงต้องดูอย่างน้อยใน 4 มิติ หรือ 4 กรอบระดับด้วยกัน และต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป

                ระดับแรกที่ประเทศต้นทางคือ พม่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมเริ่มขยับแล้วคือ ทำการสำรวจประชากรโรฮิงญาเพื่อแยกแยะโรฮิงญาท้องถิ่น(ในพม่า)กับชาวเบงกอล หรือชาวเชื้อสายเบงกอลที่อาจสวมรอยเป็นโรฮิงญาเข้ามาจากบังคลาเทศและอินเดีย และการให้ถิ่นพำนักถาวร ออกเอกสารแสดงตน ซึ่งประชาคมโลกโดยเฉพาะหมู่สมาชิกอาเซียนร่วมกับสหประชาชาติอาจร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้สิทธิพลเมืองในโอกาสแรก ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลพม่าและรัฐบาลท้องถิ่น(รัฐยะไข่)ในการสำรวจประชากร และการพัฒนาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคต ตรึงมิให้ชาวโรฮิงญาคิดอ่านล่องเรือไปตายเอาดาบหน้า เป็นการส่งออกภาระของพม่ามาให้ประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก

                ระดับที่สองคือ การช่วยเหลือดูแลชาวโรฮิงญาที่ติดค้างอยู่ในประเทศแรกรับ หรือระหว่างทาง (Transit) เช่น ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ให้ได้มาตรฐานที่ประชาคมโลกหรือพี่น้องชาวมุสลิมพึงยอมรับได้ หมายถึงเร่งเสริมความพร้อมในการรองรับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับหน่วยงานหลักในประเทศไทยชั้นนี้คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงชีวิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมายังเป็นลักษณะตามมีตามเกิด คือมอบหมายมาจากรัฐบาลแล้วก็กระจายกันไปตามหน่วยงานสาขาทั่วประเทศ  แต่มิได้จัดหางบประมาณจากส่วนกลางให้เพียงพอเป็นค่าเลี้ยงดูต่างๆ ค่าจ้างบุคลากรให้เพียงพอ และเพื่อการจัดทำสถานที่ให้สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม ศักดิ์ศรี และความเป็นมนุษย์

                สภาพสถานที่กักขัง ณ วันนี้นั้น แออัดมากๆและสิทธิพื้นฐาน เช่นในการได้ออกมาสูดอากาศ ออกกำลังกายก็จำกัดมากๆ เพราะสถานที่ไม่อำนวย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่เพียงพอที่จะดูแลป้องกันการหลบหนี

                ปัญหาพื้นฐานอื่นๆ เช่น ล่ามไม่เพียงพอ สถานรักษาพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ พยาบาล ณ ที่กักกัน หรืออุปกรณ์เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานเพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ก็ยังขาดเหลืออีกมาก

                ขณะเดียวกัน การเปิดโอกาสให้คณะกรรมการกลางอิสลามเข้าไปร่วมดูแลอย่างจริงจังเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระฝ่ายราชการ และยังเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญาด้วย ก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ  อีกทั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็อยู่ในวิสัยที่จะช่วยพูดจากับโลกอิสลาม เพื่อร่วมให้ความช่วยเหลือได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นคณะกรรมการกลางอิสลามสามารถรับหน้าที่แทนฝ่ายราชการในการจัดหาสถานที่ เป็นศูนย์กลางหรือศูนย์รวมดูแลโรฮิงญาทั้งหมดแทนที่จะกระจายไปจังหวัดต่างๆ ที่บางจังหวัดไม่มีชุมชนมุสลิมร่วมดูแล ให้คำแนะนำ นอกเหนือจากความคับแคบดังกล่าว

                ในระดับที่สาม คือ การส่งไปยังประเทศที่สาม ซึ่งโอกาสการจะได้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศขาประจำดังอดีต เช่น ประเทศตะวันตกต่างๆ ก็คับแคบลงเพราะปัญหาเศรษฐกิจภายใน และปัญหาการต่อต้านชาวมุสลิมเรื่องแรงงานมาแย่งงาน และเรื่องความรู้สึกเกรงกลัวลัทธิสุดโต่งของการนับถือศาสนาที่นำไปสู่ความรุนแรงและเผชิญหน้า ฉะนั้นโอกาสการไปประเทศที่สามก็น่าจะเป็นภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะนับถือศาสนาเดียวกัน ที่สำคัญภูมิภาคนี้ต้องการแรงงานทุกระดับ และชาวโรฮิงญาก็พักอาศัยอยู่ในตะวันออกกลางบ้างแล้ว เช่นที่ ซาอุดิอาระเบียก็มีอยู่แล้วเป็นแสนๆคน  ฉะนั้นรัฐบาลก็น่าจะประชุมหารือกับประเทศตะวันออกกลาง โดยร่วมกับสหประชาชาติเพื่อการนี้ได้

                 ในระดับที่สี่ คงเป็นไปในกรอบอาเซียนเอง โดยเฉพาะไทยและมาเลเซีย ต่างขาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่ต้องการความรู้หรือความชำนาญการมาก  อีกทั้งไทยก็มีแรงงานพม่าอยู่มากมายถึง 3-4 ล้านคน ส่วนมาเลเซียก็มีแรงงานอินโดนีเซียหลายล้านคนเช่นกัน ทั้ง 2 ประเทศต่างยังต้องการแรงงานต่างด้าว เป็นส่วนที่จำเป็นยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นตลาดที่มีความเสรี(การกีดกัน สร้างกฎเกณฑ์ มักมีนัยของการหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเรื่องกึ่งค้ามนุษย์และการทุจริตคอรัปชั่น)  ฉะนั้น ไทยและมาเลเซียควรพิจารณาให้โรฮิงญาเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานต่างด้าวที่ต้องการ และนำเข้าสู่ระบบได้[4]

                ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ในกรณีของกลุ่มชนชาวโรฮิงญา เป็นประเด็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทย ยังไม่มีกระบวนการในการรองรับ และแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้หนีภัยความตาย อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และตรงจุด เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กลุ่มชนชาวโรงฮิงญา ถูกมองเข้ามาจากบุคคลอื่น ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และกรณีปัญหาอื่นๆที่มิได้กล่าวถึงในบทความนี้

 

 

 

 

[1] http://board.postjung.com/690425.html

[2] http://www.l3nr.org/posts/535561

[3] http://www.naksit.org/index.php/statement/32-2014-02-03-05-39-47

[4] http://www.naewna.com/politic/columnist/6795

หมายเลขบันทึก: 565734เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2014 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2014 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท